SGX Group บริษัทตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ธุรกิจเสือนอนกิน ยอดห่วงโซ่ของธุรกิจหลักทรัพย์
SGX Group เป็นบริษัทที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน โดยทำหน้าที่เป็นตลาดกลางที่จะให้คนมาวางสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกัน โดยรายได้การให้บริการหลัก ๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 หมวดหมู่
อันได้แก่ 1. Fixed Income, Currencies and Commodities (FCC) 2. Equities และ 3. Data, Connectivity and Indices
โดยหมวดหมู่ธุรกิจที่ทำรายได้สูงที่สุดคือฝั่ง Equities ครองสัดส่วนรายได้ 64.xx% ตามมาด้วยธุรกิจ FCC ที่ครองรายได้ 21.xx% และด้านข้อมูลและเชื่อมต่อดัชนี 14.xx%
ซึ่งเมื่อแยกย่อยแล้วตามธรรมชาติของธุรกิจตลาดหลักทรัพย์นั้นจะมีรายได้จากการเก็บค่า Trading and clearing ซึ่งได้มาจากโบรกเกอร์ที่ลิสต์กับตลาดหลักทรัพย์อีกทีหนึ่ง และโบรกเกอร์ก็จะมาเก็บค่านี้กับทางเราในฐานะนักลงทุนผ่านค่าคอมมิชชั่นรวม โดยในประเทศไทยนั้นมีการคิดค่านี้อยู่ที่ 0.001% ของมูลค่าการซื้อขาย
กล่าวคือบริษัทมีรายได้จากทุก ๆ ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมการเทรดเมื่อมีการใช้บริการในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง โดยทุกท่านสามารถดูรายได้จาก Trading and clearing ได้ ผ่านรูปด้านล่างนี้
นอกจากนี้แล้วในหมวดหมู่ Equities เองมีรายได้จากการเก็บค่ารับฝากหลักทรัพย์,ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทในการ IPO รวมถึงค่า Corporate Action เวลาบริษัทมีประกาศต่าง ๆ ตลาดเองก็ให้บริการอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทที่จดทะเบียนด้วยครับ กล่าวไม่ผิดเลย หากว่าตลาดทุนครึกครื้นฉันใด เมื่อนั้นแล้วบริษัทตลาดหลักทรัพย์ย่อมได้รายได้สูงตามฉันนั้น
โดยตัวเลขทางการเงินย้อนหลังของบริษัทมีดังนี้
ปี 2015
บริษัทมีรายได้ 784.63 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
บริษัทมีกำไรขั้นต้น 530.51 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 67.61%)
บริษัทมีกำไรสุทธิ 348.61 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 44.43%)
บริษัทมีอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) : 36.73%
ปี 2016
บริษัทมีรายได้ 828.88 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
บริษัทมีกำไรขั้นต้น 551.48 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 66.53%)
บริษัทมีกำไรสุทธิ 349.02 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 42.11%)
บริษัทมีอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) : 35.51%
ปี 2017
บริษัทมีรายได้ 806.44 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
บริษัทมีกำไรขั้นต้น 541.33 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 67.13%)
บริษัทมีกำไรสุทธิ 339.69 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 42.12%)
บริษัทมีอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) : 33.60%
ปี 2018
บริษัทมีรายได้ 855.15 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
บริษัทมีกำไรขั้นต้น 363.20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 66.94%)
บริษัทมีกำไรสุทธิ 572.43 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 42.47%)
บริษัทมีอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) : 34.12%
ปี 2019
บริษัทมีรายได้ 909.75 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
บริษัทมีกำไรขั้นต้น 799.98 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 87.93%)
บริษัทมีกำไรสุทธิ 391.10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 42.99%)
บริษัทมีอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) : 35.85%
ปี 2020
บริษัทมีรายได้ 1.05 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
บริษัทมีกำไรขั้นต้น 909.59 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 86.37%)
บริษัทมีกำไรสุทธิ 471.81 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 44.80%)
บริษัทมีอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) : 40.40%
ปี 2021
บริษัทมีรายได้ 1.06 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
บริษัทมีกำไรขั้นต้น 897.66 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 85.08%)
บริษัทมีกำไรสุทธิ 445.41 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 42.21%)
บริษัทมีอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) : 33.87%
โดยส่วนตัวแล้ว บริษัท SGX Group นับเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นที่อยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับภาคส่วนธุรกิจอื่น ๆ ที่มีให้เลือกในตลาด รวมถึงมีความสามารถในการทำไรที่ดีมากเช่นกัน โดยเห็นได้จากการที่บริษัทมี Gross Margin ในระดับมากกว่า 60% ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี รวมถึงบริษัทเองก็สามารถสร้าง Free Cash Flow ออกมาได้ทุกปีด้วย ตรงส่วนนี้เองเราอาจต้องให้เครดิตจากการที่บริษัทดำรงสถานะเทียบเท่ากับการเป็น Monopoly ด้วยครับ นั่นคือผูกขาดการซื้อขายหลักทรัพย์ของประเทศนั้น ๆ ได้ อย่าง SGX เองก็ให้บริการเทรดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์
สำหรับเรื่องการเติบโตของบริษัท ตรงส่วนนี้มองว่าจะมีการเติบโตตาม Transaction ที่มีผ่านตลาดนั่นเอง ยิ่งเศรษฐกิจคึกคักจนคนสนใจลงทุนในหลักทรัพย์ประเด็นนี้มีส่วนโดยตรงมากที่สุด รวมถึงการที่มีหลักทรัพย์ใหม่ ๆ มาจดทะเบียนในตลาดด้วย โดยบริษัทจะได้ต่ำ ๆ ก็ 2 ต่อ คือค่าธรรมเนียมจากการจดทะเบียนก้อนหนึ่งตอนที่บริษัท IPO และรายได้จากค่าธรรมเนียมการเทรดหลักทรัพย์ตลอดอายุของเขา รวมถึงปัจจัยรองอย่างการที่ผู้คนเข้าถึงความรู้ทางการเงินรู้จักการลงทุนด้วย ที่เป็นหนึ่งในกุญแจที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำให้บริษัทโตอย่างเป็นธรรมชาติ และปัจจัยอย่างนโยบายของรัฐบางข้อ อย่างการเปิดโอกาสให้ต่างชาติใช้ประเทศเข้ามาลงทุนสร้างโรงงาน จนถึงจุดหนึ่งที่บริษัทอยากต้องการเพิ่มทุนในประเทศต่อก็มาจดทะเบียนในตลาดเพิ่ม อย่างกรณีของบริษัทญี่ปุ่นในช่วงยุค Plaza Accord หันมาลงทุนในประเทศไทยเพื่อขยายการผลิตจนนำมาสู่การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
สำหรับเรื่องของความเสี่ยงเองก็พอมีบ้าง นั่นคือบริษัทที่จะมาจดทะเบียนเองก็สามารถเลือกได้เช่นกัน ว่าจะจดทะเบียนบริษัทภายในประเทศหรือนอกประเทศก็ได้ เช่น บริษัท Prada บริษัทขายกระเป๋าสุดหรูจากประเทศอิตาลีเอง ก็ได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงแทนตลาดแถบยูโรแทน รวมถึงการทำ Dual Listing ซึ่งอาจทำให้บริษัทไม่สามารถได้รับค่าธรรมเนียมได้จากการที่มีการเทรดหลักทรัพย์เดียวกันต่างตลาด หรืออย่างเทรดของ NFT ก็นับเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่อาจเห็นได้บ้าง ผ่านการมาของการ Tokenize Asset ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าของกิจการนำใบหุ้นมาแปลงสภาพเป็น Token ใน Smart Contract แล้วจดทะเบียนในตลาดไร้ตัวกลาง (Decentralize Exchange) ในที่ต่าง ๆ เป็นต้น
ธุรกิจตลาดหลักทรัพย์นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมย่อยของอุตสาหกรรมการเงินที่มีความน่าสนใจไม่น้อย จากการที่เขามี Moat ในระดับประเทศ รวมถึงมีกระแสเงินสดอิสระอย่างต่อเนื่อง การมี Capex ในสัดส่วนที่ไม่มากนัก ทั้งหลายนี้ตามมาด้วยการที่ตลาดมักให้พรีเมี่ยมต่อหุ้นกลุ่มนี้พอสมควรแต่ก็คุ้มค่ามากพอที่จะทำการศึกษาตัวบริษัท
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
https://www.tradingview.com/symbols/SGX-S68/financials-income-statement/
https://www.moneybuffalo.in.th/stock/stock-commission-fee
https://investorrelations.sgx.com/financial-information/financial-results
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :