ธุรกิจ

สรุปข้อมูลบริษัท Yahoo! : เจ๊งได้แม้มี Business Model ขั้นเทพ

สรุปข้อมูลบริษัท Yahoo

สรุปข้อมูลบริษัท Yahoo! : เจ๊งได้แม้มี Business Model ขั้นเทพ

 

ถ้าต้องการหาบริษัทที่ดีและควรค่าแก่การลงทุน หนึ่งในปัจจัยที่คนจะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ก็คือการทำเงินของบริษัท ว่ารายได้เติบโตแค่ไหน กำไรมากน้อยแค่ไหน และมีวิธีการทำเงินที่ชัดเจนแค่ไหน

 

หากบริษัทใดก็ตามที่สามารถทำเงินได้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีฐานลูกค้าและระบบการทำเงินที่ดีพอ มันก็ยากที่ธุรกิจดังกล่าวจะไปไม่รอด คงไม่มีใครหรอกที่เจ๊งทั้งที่ยังทำเงินได้อย่างสม่ำเสมออยู่

 

แต่คำถามคือ แล้วถ้าระบบการทำเงินที่ว่ามานั้นไม่มีลูกค้าอีกต่อไปล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น เพราะสุดท้ายธุรกิจจะทำเงินได้ก็ต้องมีลูกค้า และลูกค้าจะมาก็ต่อเมื่อมีสินค้าที่ดีให้พวกเขาใช้งานเท่านั้น

 

นี่อาจเป็นความจริงง่าย ๆ ที่คนทำธุรกิจต้องเข้าใจ แต่น่าเสียดาย กลับมีบริษัทแห่งหนึ่งที่ละเลยความสำคัญของตัวสินค้าและมุ่งแต่การทำเงินมากไปหน่อย บริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าตลาดสูงถึงหลักแสนล้านเหรียญ แต่ตอนนี้กลับเหลือเพียงแค่ชื่อและอนุสรณ์แห่งความเจ็บปวดให้กับผู้ถือหุ้น

 

บริษัทที่ว่านั้นคือ Yahoo! อดีตเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

 

 

อดีตเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลระดับโลกแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 1994 โดย Jerry Yang และ David Filo สมัยที่ยังอายุ 20 ต้น ๆ เท่านั้น

 

ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว คือช่วงที่อินเทอร์เน็ตกำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนมากขึ้น เรียกได้ว่ามีบริษัทเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตมากมายผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แต่สิ่งที่ทำให้ Yahoo! มีความแตกต่างจากคู่แข่ง คือเป็นเว็บการค้นหาที่วางตัวเองเป็นเว็บ portal ด้วย (หรือที่คนไทยเรามักเรียกว่า “เว็บท่า” ไปเข้าสู่เว็บไซต์อื่น ๆ ต่อ) และที่สำคัญที่สุดคือ Yahoo! มีโมเดลการทำรายได้ที่ชัดเจน นั่นคือจากการโฆษณา บริษัทอินเทอร์เน็ตหลายแห่งอาจมีไอเดียสวยหรูอยู่ในหัว แต่ Yahoo! สามารถสร้างความสวยหรูในชีวิตจริงได้ ด้วยรายได้ที่สูงถึงเกือบ 600 ล้านเหรียญในปี 1999 พร้อมกับกำไรกว่า 50 ล้านเหรียญ

 

ทั้งที่คำว่า “กำไร” เป็นคำที่หาเจอได้ยากในรายงานประจำปีของบริษัทอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ แต่ Yahoo! สามารถทำรายได้และกำไรเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ด้วยเหตุนี้เอง ช่วงที่บริษัทเฟื่องฟูสุด ๆ Yahoo! นั้นมีมูลค่ากิจการที่สูงถึงเกือบ 120,000 ล้านเหรียญ ถ้าบริษัทยังมีชีวิตรอดและยิ่งใหญ่เหมือนในปัจจุบัน มันก็คงเป็นหุ้นที่ติดอันดับโลกในแง่ของมูลค่ากิจการไปแล้ว

 

ประเด็นก็คือ จุดสูงสุดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เพราะ Yahoo! ไม่เคยไปถึงจุดสูงสุดของธุรกิจแบบนั้นได้อีกเลย

 

 

 

ภายหลังฟองสบู่หุ้นเทคโนโลยีแตกในปี 2000 ราคาหุ้น Yahoo! ก็ร่วงกลับลงมาจนแทบจะเท่ากับตอนที่เข้าตลาดใหม่ ๆ อันที่จริงถ้าบริษัทยังสามารถรักษาศักยภาพการทำธุรกิจของตัวเองไว้ได้ต่อไป ในไม่ช้าราคาหุ้นก็อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นตามผลประกอบการที่ค่อย ๆ โตก็ได้ ทำเว็บไซต์ให้ดี ขายโฆษณาให้ได้ เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอ

 

แต่อย่าลืมว่า ธุรกิจที่ Yahoo! ทำนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต ซึ่งอินเทอร์เน็ต ไม่มีโอกาสสำหรับคนที่ไม่ปรับตัว และคนที่มาช่วงชิงโอกาสครั้งสำคัญของ Yahoo! ก็คือ Google

 

Google ก็เป็นอีกหนึ่งเว็บค้นหาข้อมูลที่หลาย ๆ บริษัทแข่งกันทำ แต่ความแตกต่างของ Google นั้นอยู่ที่ระบบการค้นหาข้อมูลที่อิงจาก “ความเป็นประโยชน์” ต่อผู้ค้นหามากที่สุด ในขณะที่คู่แข่งเกือบทุกรายใช้ระบบการค้นหาโดยอิงตาม “ข้อความ” ที่ผู้ใช้งานพิมพ์เข้ามา ความหมายง่าย ๆ ก็คือ ถ้าค้นหาในเว็บไซต์ด้วยคำว่า “ติดดอย” ระบบของเว็บไซต์อื่นก็จะแสดงผลหน้าเว็บไซต์ที่มีคำว่า “ติดดอย” มากที่สุด อาจจะเป็นคนบ่นในเว็บบอร์ดก็ได้ หรือเป็นเว็บปลอม ๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแย่งอันดับจากผลการค้นหาก็ได้ แต่ถ้าเป็นระบบของ Google มันจะแสดงผลข้อมูลทั้งความหมายของคำว่าติดดอย ติดดอยคืออะไร และวิธีแก้อาการติดดอย ราวกับมันรู้ว่าผู้ใช้งานกำลังติดดอยอยู่

 

และจุดแตกต่างสำคัญอีกประการคือ หน้าเว็บของ Google นั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากโลโก้และช่องค้นหา ส่วนเว็บของคู่แข่งในอุตสาหกรรมส่วนมากจะเต็มไปด้วยข้อมูลที่ยัดเยียดไว้ในหน้าแรก โดยเฉพาะโฆษณา เพื่อให้ผู้ใช้งานเห็นโฆษณามากที่สุด แม้มันจะใช้ได้ผลในอดีตและคนก็ดูเหมือนจะยอมรับโฆษณาได้ แต่ไม่ใช่อีกแล้ว คนเริ่มเบื่อหน้าเว็บที่เต็มไปด้วยโฆษณา และหันเหไปใช้หน้าเว็บไซต์ง่าย ๆ อย่าง Google แทน เว็บก็สวย ระบบการค้นหาก็ดีกว่า ลูกค้าของ Yahoo! กำลังเปลี่ยนหัวใจไปซบ Google อย่างรวดเร็ว

 

จนในที่สุด Yahoo! ก็สูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดเว็บไซต์การค้นหาข้อมูล เห็นได้จากรายได้ของทั้งสองบริษัทที่ใกล้เคียงกันในปี 2004 คือประมาณ 3,500 ล้านเหรียญ ทั้ง ๆ ที่ Google เป็นคู่แข่งที่ตามมาทีหลัง แต่ก็สามารถสร้างรายได้จนเทียบชั้นกับผู้นำในอุตสาหกรรมได้สำเร็จ

 

อันที่จริง Google เคยเสนอขายระบบการค้นหาของตัวเองให้กับ Yahoo! มาแล้วในปี 1998 ด้วยราคาเพียงแค่ 1 ล้านเหรียญ แต่อย่างที่บอกไป ระบบการค้นหาข้อมูลและเว็บไซต์ของ Yahoo! เน้นให้คนเข้าชมโฆษณาได้มากที่สุด ซึ่งต่างกับแนวคิดของ Google ที่อยากสร้างเว็บไซต์ที่หาข้อมูลได้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด บริษัทจึงปฏิเสธที่จะซื้อไอเดียของ Google ในตอนนั้น แต่กว่าจะรู้ตัวและยื่นขอเสนอไปซื้อกิจการอีกรอบเป็นหลักพันล้านเหรียญ มันก็ดูเหมือนจะสายไปเสียแล้ว เพราะตอนนั้น Google กำลังเติบโตไม่หยุด

 

 

 

Yahoo! พยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในธุรกิจอินเทอร์เน็ตกลับมาด้วยการซื้อกิจการมากมาย แต่โชคร้าย กิจการที่ซื้อมาส่วนใหญ่มักจะเป็นเบอร์รองในธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตแทบจะไม่มีที่วางให้คู่แข่งเบอร์รอง ๆ เลย การลงทุนของ Yahoo! จึงแทบจะไม่ประสบความสำเร็จ

 

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่บริษัทเคยเสนอซื้อกิจการของโซเชียลมีเดียเกิดใหม่แห่งหนึ่งเป็นราคาถึง 1,000 ล้านเหรียญด้วยซ้ำ ทั้งที่บริษัทดังกล่าวเพิ่งเกิดมาไม่นาน หาเงินไม่ได้ กำไรก็ไม่ต้องพูดถึง ราคานี้ดูยังไงก็มีแต่คนอยากจะขายให้ แต่ด้วยความวิสัยทัศน์ (หรือความติสท์ก็ไม่อาจรู้ได้) ของเจ้าของที่เชื่อว่าธุรกิจของตนเองจะมีมูลค่ามากกว่านี้ ดีลการซื้อขายดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้น และโซเชียลมีเดียนั้นก็เติบโตจนกลายเป็น Facebook ในปัจจุบัน

 

เพื่อให้เรื่องราวมันตลกร้ายมากขึ้นไปอีก ในปี 2008 มีคนมาเสนอซื้อกิจการของ Yahoo! ในราคาที่สูงถึงเกือบ 45,000 ล้านเหรียญเลยทีเดียว ผู้เสนอซื้อก็คือ Microsoft ที่หวังจะปั้นยักษ์ใหญ่ในอดีตรายนี้ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเพื่อท้าชนกับ Google แต่การตัดสินใจของผู้บริหารคือ ไม่ขาย

 

พอถึงปี 2016 Yahoo! กลับต้องขายกิจการให้กับบริษัทอื่นในราคาเพียง 4,830 ล้านเหรียญ เพราะบริษัทไม่สามารถช่วงชิงความเป็นผู้นำในโลกของอินเทอร์เน็ตได้อีกต่อไปแล้ว ทำให้การตัดสินใจไม่ขายกิจการให้ Microsoft ในปี 2008 กลายเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่แย่ที่สุดในโลกของธุรกิจเลยทีเดียว

 

 

 

แต่ก็อย่างว่า ในเรื่องร้ายย่อมมีเรื่องดี ๆ อยู่บ้างไม่มากก็น้อย สำหรับเรื่องดี ๆ ของ Yahoo! ก็มีอยู่สองเรื่องด้วยกันคือ 1) Yahoo! อาจพ่ายแพ้ให้กับ Google ในทุกประเทศ แต่ยกเว้นประเทศเดียวคือญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นใช้บริการเว็บค้นหาของ Yahoo! มากกว่าเพราะรู้สึกว่านี่คือบริษัทของคนญี่ปุ่นมากกว่า และ 2) ในอดีตเมื่อนานมาแล้ว Yahoo! ได้ลงทุนในบริษัทอีคอมเมอร์ซแห่งหนึ่ง บริษัทนั้นคือ Alibaba ก่อนที่จะขายออกในปีที่แล้วและได้เงินมาราว ๆ 40,000 ล้านเหรียญ อย่างน้อยในเรื่องร้ายก็พอจะมีเรื่องดีอยู่บ้าง

 

หากวิเคราะห์ความผิดพลาดของ Yahoo! ที่สำคัญที่สุด หากไม่นับเรื่องการพลาดซื้อกิจการบริษัทอื่น ๆ (เพราะคงไม่มีใครรู้ว่าธุรกิจที่ซื้อมาจะเติบโต) ก็คือเรื่องของนวัตกรรม Yahoo! อาจมีระบบการทำเงินที่ดีและดูทำเงินได้ชัดเจน แต่ถ้าปราศจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีสู่ผู้บริโภค ซึ่งในที่นี้ก็คือการทำเว็บไซต์ให้เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น มีระบบการค้นหาที่ตรงใจมากขึ้น สุดท้ายลูกค้าก็ต้องหนีไปหาบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ดีกว่า

 

มันคงยากที่เราจะได้เห็น Yahoo! กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีต นอกจากจะทิ้งความเจ็บช้ำและคราบน้ำตาไว้ให้กับผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมาอย่างจงรักภักดีตั้งแต่อดีต แต่อย่างน้อย Yahoo! ก็เป็นตัวอย่างสำคัญให้แก่ธุรกิจรุ่นหลัง นั่นคือต่อให้มีโครงสร้างการทำเงินที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าตัวสินค้าไม่ดี ก็ยากที่จะอยู่รอดในโลกที่ลูกค้าคือพระเจ้า

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

เอกสารอ้างอิง
ถอดบทเรียนความผิดพลาด : ปิดตำนาน Yahoo! : adslthailand.com
ปิดตำนานอินเทอร์เน็ต Yahoo! ขายกิจการให้กับ Verizon ด้วยมูลค่า 4.83 พันล้านดอลลาร์ : blognone.com
Yahoo! AMERICAN COMPANY : britannica.com
This chart of Yahoo’s market cap is just the most outrageous thing : businessinsider.com
Yahoo! Annual Report 1999 : slideshare.net
Google Revenue Up 93% In 2005 : informationweek.com

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน