เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า สุดยอดนโยบายเศรษฐกิจไทยที่หลายคนหลงลืม
เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า คือ ตำนานหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่เป็นช่วงที่งดงามอย่างมาก GDP ของไทยเติบโตอย่างมหาศาล และกลายเป็นการวางภาพเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ในเวลาเดียวกัน ในช่วงที่ดอกผลผลิบานแบบเต็มที่ เศรษฐกิจไทยเติบโตถึงปีละมากกว่า 10%
เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าคืออะไร
นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นการค้า ประกาศโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ณ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2531 [1] โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสนามรบของอินโดจีนให้กลายเป็นสนามการค้าที่ทำกำไร [2] นโยบายดังกล่าวนี้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศกัมพูชา สร้างเสริมโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกันกับประเทศในกลุ่มอินโดจีน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นในเวลาต่อมา [3]
ขณะนั้นการเมืองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตึงเครียดเป็นอย่างมาก
ในปีพ.ศ. 2531 ประเทศในกลุ่มอินโดจีน ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม และลาว [4] นับเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ และยังเกิดความไม่สงบภายในประเทศหลังจากช่วงสงครามเย็น โดยกัมพูชามีความขัดแย้งภายในประเทศระหว่างกลุ่มเขมร 4 ฝ่าย [3] เวียดนามใช้กำลังทหารกดดันกัมพูชาเพื่อปลดปล่อยกัมพูชาออกจากระบบพอลพต [5] ลาวและไทยมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างกันเนื่องจากไทยไม่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ [3] ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกัมพูชาและเวียดนามและท่าทีของรัฐบาลไทยต่อลาวส่งผลให้ไทยขาดโอกาสในการเจรจาธุรกิจกับอินโดจีน เมื่อระบบเศรษฐกิจของเวียดนามเริ่มพัฒนามากยิ่งขึ้น นักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทยต่างเป็นกังวลว่าประเทศไทยจะพัฒนาตามไม่ทัน และสูญเสียโอกาสที่จะได้เป็นศูนย์กลางตลาดการค้ารวมถึงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในอินโดจีน [6]
ทางที่ดีคือหยุดรบกันและหันมาค้าขายกันดีกว่า
นายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ มีความเห็นว่า หากพัฒนาประเทศในกลุ่มอินโดจีนให้ร่ำรวยได้ ประเทศไทยก็จะรุ่งเรืองด้วย [6] จากแนวคิดดังกล่าวนี้ นายกรัฐมนตรีฯ ได้ประกาศนโยบายเปลี่ยนสนามรบของอินโดจีนเป็นสนามการค้า โดยเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสนามรบภายในกัมพูชาจากการประสานงานให้เขมร 4 ฝ่ายได้เจรจากันเพื่อยุติสงคราม และจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของสีหนุ [3] จากนั้น นายกรัฐมนตรีฯ เริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามโดยการส่งผู้นำเดินทางไปเยือนประเทศระหว่างกัน [5] ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยเริ่มสานสัมพันธ์กับลาวและเริ่มลงทุนในลาวโดยส่งผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตรไปให้คำแนะนำเกษตรกรชาวลาว หาทางนำเข้าไม้ป่าจากลาว และเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์รวมถึงการก่อสร้างโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศลาว [6]
นั่นจึงนำมาซึ่งการเติบโตระดับมหาศาล
การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ความขัดแย้งภายในกัมพูชาสิ้นสุดลง เวียดนามมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยมากยิ่งขึ้น นักธุรกิจสามารถลงทุนในลาวได้มากขึ้น และเกิดการสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาวขึ้นในปีพ.ศ. 2532 ส่งผลให้เศรษฐกิจในไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก [3] แม้ว่าสถานการณ์ในกัมพูชาที่เพิ่งสงบจะส่งผลให้นักธุรกิจไทยยังเข้าไปลงทุนภายในกัมพูชาได้ไม่มากเท่าที่ควร [7] แต่หลังจากเวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาในปีพ.ศ. 2532 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและเวียดนามเพิ่มจาก 119 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2529 เป็น 3.5 พันล้านบาทในปีพ.ศ. 2534 นับว่าเพิ่มสูงถึง 30 เท่า [8] ในปีพ.ศ. 2531 และพ.ศ. 2532 เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงที่สุดในโลกโดยสูงถึง ร้อยละ 13.2 ในปีพ.ศ. 2531 และสูงถึงร้อยละ 11.2 ในปีพ.ศ. 2532 [3]
ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่งดงามแห่งเศรษฐกิจไทย
ประเทศไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ โดดเด่นในด้านการใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า การดำเนินการส่งทูตเจรจาด้วยวิธีอันนิ่มนวลกับประเทศคอมมิวนิสต์ และการพยายามช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านให้เข้มแข็งเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน นโยบายดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ นับเป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์และควรแก่การศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้ต่อไปในสถานการณ์ปัจจุบัน
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
รายการอ้างอิง
[1] ดารบุษป์ ปภาพจน์ . (26 กันยายน 2560). สะพานลงทุนสู่ CLMV. สืบค้นจาhttps://portal.settrade.com/blog/
darabusp/2017/09/26/1943
[2] Hock, D. K. W. (Ed.). (2007). Legacies of World War II in South and East Asia. Institute of Southeast Asian Studies.
[3] อดิศร หมวกพิมาย. (2559). นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า. สืบค้นจากhttp://wiki.kpi.ac.th/index.
php?title=นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า
[4] The Editors of Encyclopaedia Britannica. (n.d.d.).Indochina. Retrieved from www.britannica.com/place/
Indochina
[5] ทัตพิชา หุ่นสุวรรณ. (2555). นโยบายการต่างประเทศไทยต่อเวียดนาม สมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (ค.ศ. 1988 – 1991). ภาคนิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต, สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
[6] Yong, M. (November 27, 1988). Thailand Seeks to Turn Indochina Battlefields into Marketplaces.
Retrieved from https://apnews.com/3cd9a748b284afa8c300c665551cb935
[7] สุณัย ผาสุข. (2539). นโยบายต่างประเทศของไทย : ศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณต่อปัญหากัมพูชา (4 สิงหาคมค.ศ. 1988 ถึง 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991). วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. รัฐศาสตร์ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[8] สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์. (เมษายน 2536). ไทยและเวียดนาม : มิติแห่งความสัมพันธ์. นิตยสารผู้จัดการ. สืบค้นจาก
http://info.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=35924
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :