ถ้าประเทศรวยขึ้น ประชาชนจะมีความสุขเพิ่มขึ้นไหม
เศรษฐกิจกำลังถดถอย ชีวิตต่อไปจะเอายังไงดี คงเป็นเสียงในหัวของใครหลายคนในเวลานี้ เนื่องจากการค้าขาย ธุรกิจบางอย่างต้องหยุดชั่วคราว สภาพคล่องและเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลงอย่างเห็นได้ชัด กระทบทั้งระดับบุคคล ระดับครัวเรือน และระดับประเทศ จนหลาย ๆ คนเริ่มท้อแท้ ท้อถอย และหมดความหวัง จินตนาการไม่ออกว่าอนาคตต่อไปหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ถ้าประเทศจนลงแบบนี้ เราจะยังมีความสุขได้ไหม
ความสนใจในการศึกษาเรื่องความสุขและความพอใจในชีวิตของประชาชนนับเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการเศรษฐศาสตร์ โดยในปี 1974 ได้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความสุขและรายได้ โดยค้นพบว่า “คนที่รวยกว่าดูเหมือนจะมีค่าเฉลี่ยของความสุขมากกว่า แต่เมื่อมั่งคั่งมากขึ้นจนผ่านจุดหนึ่งไปแล้วการมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้น และในหากมองภาพรวมในระดับประเทศแล้ว การที่ประเทศรวยขึ้นหรือจนลงไม่ได้ส่งผลให้ความสุขของคนในประเทศเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่” เรียกว่า “ปฏิทรรศน์แห่งความสุข” หรือ Paradox of Happiness
อีสเตอร์ลีน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันศึกษาข้อมูลความมั่งคั่งและรายได้ของประชาชนภายในประเทศเพื่อดูความสัมพันธ์กับระดับความสุขที่วัดจากความพอใจในชีวิตที่เจ้าตัวเป็นคนประเมิน พบว่าระดับรายได้ที่สูงขึ้นไม่ได้ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นเสมอไปและหากดูตัวชี้วัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจแม้ประเทศจะมั่งคั่งมากขึ้นหรือมีการเติบโตและลงทุนทางเศรษฐกิจ มี GDP ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ความสุขของคนในประเทศค่อนข้างรักษาระดับคงที่ เช่น ในประเทศญี่ปุ่นในช่วงที่เจอกับวิกฤตเศรษฐกิจช่วงหลังสงครามและในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นฟูเติบโตความพอใจในชีวิตมีค่าใกล้เคียง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของประเทศอเมริกา อังกฤษ จีน เกาหลี และประเทศในยุโรป
(ภาพจาก Does More Money Buy You More Happiness? Baucells M, 2018)
ทำไมการร่ำรวยมากขึ้นถึงไม่ได้ให้ความสุขเพิ่มขึ้น ?
ปรากฎการณ์นี้ถูกอธิบายด้วยหลักพฤติกรรม 3 ข้อ ได้แก่ พฤติกรรมการเปรียบเทียบ พฤติกรรมการคาดหวัง และพฤติกรรมการปรับตัว
1.พฤติกรรมการเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบเป็นสัญชาติญาณอัตโนมัติที่มนุษย์มีไว้เพื่อทำให้ตัวเองสามารถรับรู้ข้อมูลหรือเข้าใจในสถานะของตนเองในเรื่องที่ไม่มีหลักเกณฑ์หรือมาตรวัดที่ชัดเจน เป็นกลไกของการเอาตัวรอดเพื่อประเมินว่าเราไม่ได้แย่จนเกินไป ดังนั้นสิ่งที่ใช้พิจารณาความสุขจึงไม่ใช่รายได้ว่าเท่าไหร่ แต่คือ “รายได้เปรียบเทียบ” (Relative Income) ว่า มากกว่าหรือน้อยกว่า
โดยการเปรียบเทียบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อรายได้เกินจุดหนึ่งไปแล้ว อาจเป็นจุดที่สามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน มีความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตได้แล้ว ซึ่งการเปรียบเทียบทั้งกลุ่มอ้างอิงว่าเทียบกับใครหรือสังคมกลุ่มไหน (เปรียบเทียบภายนอก) และ เปรียบเทียบกับตนเองในอดีต (เปรียบเทียบภายใน) โดยจะมีความสุขก็ต่อเมื่อมีรายได้มากกว่าคนอื่นหรือรายได้สูงกว่าตนเองในอดีต ดังนั้นแล้วหากตนเองมีรายได้สูงขึ้น แต่ทุกคนในสังคมก็รายได้สูงขึ้นเช่นกัน จึงทำให้ความสุขไม่ได้สูงขึ้นมากนัก
อีกคำอธิบายหนึ่งก็คือเราต้องการขยับลำดับ (Rank) ให้สูงขึ้น ไม่ใช่ขยับมูลค่า ดังนั้นแม้รายได้เราเพิ่มขึ้น แต่คนอื่นก็เพิ่มด้วยทำให้ลำดับเรายังอยู่เท่าเดิม ผลคือไม่ได้เปลี่ยนแปลงลำดับ เพราะเมื่อมีหนึ่งคนขยับลำดับขึ้น ก็มีคนที่ลำดับหล่นลงมาทำให้เมื่อพิจารณาความสุขของผู้คนทั้งประเทศในภาพรวมระดับความสุขจึงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะมีคนที่มีความสุขเพิ่มขึ้น และ ก็มีคนที่มีความสุขลดลง เพราะการแข่งขันกันทางลำดับนั้นเป็น Zero sum game คือ เมื่อมีชนะ ก็ต้องมีคนแพ้ หักลบกลับกันจึงเป็นศูนย์
- พฤติกรรมการคาดหวัง
มนุษย์มีแนวโน้มที่จะตั้งความคาดหวังสูงขึ้น ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น หมายความว่าเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นเราก็จะปรับความคาดหวังต่อสินค้าและบริการที่จะซื้อมาบริโภคมากขึ้นไป และเมื่อเราปรับตัวกับวิถีชีวิตแบบใหม่เราก็จะคาดหวังรายได้ที่มากขึ้นไปอีก หากความสุขคือการหักลบกันระหว่างรายได้จริงกับรายได้ที่คาดหวัง มันจึงเปรียบเสมือนเรากำลังเดินอยู่บนลู่วิ่งไฟฟ้าของความสุข (Hedonic treadmill) ที่เส้นทางมันทอดยาวออกไปเรื่อย ๆ แม้จะทำทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการ แต่ก็ไม่เจอจุดสิ้นสุด รู้สึกมีไม่พออยู่ดี
- พฤติกรรมการปรับตัว
มนุษย์มีแนวโน้มที่จะสามารถปรับตัวให้เคยชินกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและปรับตัวให้เคยชินกับสิ่งที่เป็นความสุข (hedonic adaptation) เช่น ในวันแรกที่ได้ครอบครองรถยนต์หรูที่เราอยากได้มานานเราก็จะรู้สึกมีความสุข แต่พอผ่านไปวันที่สองวันที่สามหรือผ่านไปหลายเดือนเราก็เริ่มที่จะปรับตัวให้เคยชินกับวิถีชีวิตและความสุขนั้นจนรถยนต์นั้นไม่ได้ให้ความสุขกับเราอีกต่อไป ระดับความสุขก็กลับมาอยู่ในระดับเดิม หรือหากมองในมุมรายได้ก็คือเราก็จะปรับตัวเข้ากับการบริโภคในระดับที่สูงขึ้นกับวิถีชีวิตแบบใหม่ เมื่อเวลาผ่านไประดับความสุขก็กลับมาอยู่ในระดับเดิมใกล้เคียงเท่ากับที่เคยมีตอนมีรายได้ที่น้อยกว่าที่ได้รับในปัจจุบัน
ดังนั้นหากถามว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญในปัจจุบันและที่คาดการณ์กันว่าจะถาโถมเข้ามาสู่ประเทศไทยในอนาคต หากประเทศจนลงแล้วเราจะยังมีความสุขได้อยู่ไหม คำตอบอาจจะเป็นไปในทิศทางว่า ลำดับของตัวเราในสิ่งที่เราเปรียบเทียบมันตกอันดับลงไปบ้างหรือเปล่า เรากำลังเลือกเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เราสามารถจะผ่อนความคาดหวังต่อรายได้ให้ลดลงมาได้บ้างไหมผ่านการปรับ ลด ตัด ให้วิธีชีวิตเข้ากันได้กับสถานการณ์และบริบทใหม่ และสุดท้ายคือเราเชื่อไหมว่าเรามีความสามารถที่จะปรับตัว เมื่อเราต้องอยู่กับวิถีชีวิตที่ต่างไป สิ่งรอบตัวแบบใหม่ เรายอมรับได้ไหมว่าความสุขมันอาจจะลดลงไปในช่วงแรกแต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะปรับตัวเข้ากับมันได้ ถ้าเราบริหารพฤติกรรม 3 สิ่งนี้ได้ คำตอบก็น่าจะเป็นว่า “ใช่ เราจะยังมีความสุขได้อยู่ และ จะมีความสุขต่อไปในอนาคต”
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :