การเงิน

10 คาถารักษาเงินในกระเป๋า

คาถารักษาเงินในกระเป๋า

10 คาถารักษาเงินในกระเป๋า คือ 10 วิธีประหยัดเงินที่ง่ายกว่าที่คิด ลองทำดู ไม่ยากจนเกินไป ทำเท่าที่สนใจหรือมีความพร้อมก็ได้ มีประโยชน์ต่อเงินในกระเป๋าแน่นอน

 

1 เข้าครัวไม่กลัวแพง

 

รู้ไหมว่าค่าอาหารนั้นประกอบด้วยต้นทุนประมาณ 50% เท่านั้น ที่เหลือมักเป็นค่าบริหารจัดการประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงกำไรของคนขาย ดังนั้น ถ้าเราทำอาหารกินเองก็ตีง่ายๆ เลยว่าเราจะประหยัดไปได้ประมาณ 50% หรือจะใช้เทคนิคทำอาหารกินเองแล้วมาแชร์กันที่ที่ทำงานก็ได้ แบบนี้ก็ประหยัดเหมือนกัน ยิ่งถ้าทำกินเองเช้ากลางวันเย็นด้วยแล้ว เงินเหลือเพิ่มแน่นอน

 

2 เดินทางผิดชีวิตเปลี่ยน

 

ค่าเดินทางก็เป็นค่าใช้จ่ายแฝงอีกอย่างที่คนชอบมองข้ามหากบริหารจัดการดีดี เราอาจประหยัดกว่าที่คิด เช่น ตื่นเช้าขึ้น 30 นาที เพื่อประหยัดค่าวินมอเตอร์ไซค์แว๊นไปให้ทันแสกนนิ้ว หรือเปลี่ยนจากนั่งรถเมล์แทนรถแท็กซี่ที่จำเป็นต้องขึ้นเพราะตื่นสาย ส่วนต่างเมื่อสะสมกันแล้วก็มากพอสมควรเลย ถ้าเราพร้อมจะสละความสบายลงไปบ้าง เงินในกระเป๋าก็จะมากขึ้นแน่นอน

 

3 ปาร์ตี้ได้แต่ไม่บ่อยนัก

 

ปาร์ตี้นี่ตัวเปลืองเลย กินเหล้าเข้าผับจับโนะ เอ๊ย จับอะไรไม่มี กินเหล้าเข้าผับเฉยๆ 555555 ค่าใช้จ่ายอันนี้แพงมากเลยนะ เริ่มต้นก็ไม่ต่ำกว่า 500 ยิ่งถ้าเล่นของสูงขึ้นเรื่อยๆ คืนละหมื่นก็มี ดังนั้น ไปได้ แต่ตั้งโควตาเลยว่าจะจ่ายเงินให้การปาร์ตี้เดือนละกี่บาทก็ว่าไป ส่วนตัวมองว่าเดือนละครั้งกำลังดี ช่วงหลังเงินเดือนออก อาจปลดปล่อยหน่อย แต่ถ้าไม่ชอบก็ดีเลย ไม่ต้องไป แฮงค์แล้วปวดหัว เอาเวลาไปนอนแทน

 

4 กินหรูดูงบด้วย

 

กินหรูกินแพงตะลุยกินบุฟเฟ่นี่เหมือนปาร์ตี้เลย คือมันกระตุ้นความสุขได้แรงได้เร็ว แต่แพงนะ ครั้งหนึ่งหลายร้อย ถ้าเราอยากประหยัด แนะนำเหมือนกันให้ตั้งโควตาเลยว่าจะแบ่งเงินไว้กินหรูเดือนละเท่าไหร่ เช่น เดือนละ 1,500 นะ วางแผนดีดีว่าจะกินอะไร กินอาทิตย์ละกี่ครั้ง แบบนี้จะคุมงบง่าย เงินไม่รั่วไหลจนมากเกินไป

 

5 ช้อปปิ้งได้แต่ไม่เกินลิมิต

 

เหมือนกับกินหรูกับปาร์ตี้เลย (ทำไมมุขมันซ้ำๆ ฮา) คือตั้งงบไปเลยว่าเดือนหนึ่งจะซื้อของไม่จำเป็นได้เดือนละเท่าไหร่ และตั้งเป้าหมายตั้งแต่ต้นเดือนเลยว่าจะซื้ออะไรบ้าง ส่วนใหญ่ที่เราซื้อของเกินตัวหรือช้อปปิ้งจนมันมือเพราะเราไม่มีเวลาคิดที่เพียงพอ ดังนั้น วางแผนก่อนซื้อเสมอ ถ้าโควตาเดือนนี้เต็มก็ทบไปซื้อเดือนหน้า รอนานๆ เดี๋ยวก็เบื่อไปเอง

 

6 แยกบัญชีไว้ใช้สำหรับเที่ยว

 

สำหรับขาเที่ยว วันๆ ไม่ทำอะไร อยากเที่ยวอย่างเดียว แบบนี้แนะนำเหมือนกันคือให้ออมแยกบัญชีไว้เลย ว่าบัญชีสำหรับเที่ยวนี้ให้อยู่ที่เดือนละเท่าไหร่ อย่างผมเองแบ่งงบเที่ยวไว้ที่ 5 – 10% ของเงินเดือน ดังนั้น ผมจะเก็บเงินไปเรื่อยๆ พอครบก็วางแผนเที่ยวเลย โดยไม่ยอมให้งบเที่ยวมากินเงินส่วนอื่นที่จำเป็นต้องใช้หรือต้องออม เดือนไหนอย่างเที่ยวมากแต่งบไม่เยอะ ก็เน้นเที่ยวประหยัดๆ ในประเทศไปก่อน หรือก็หาตั๋วโปรแล้วเที่ยวแบบโลวคอสเอา เชื่อสิ มันทำได้ ผมก็ทำ

 

7 ตัดบัญชีออมอัตโนมัติ

 

มาถึงขั้นนี้เริ่มสร้างวินัยไปตามลำดับ สำหรับคนที่อยากออม แต่สุดท้ายเงินออมไม่เหลือ อยู่ในบัญชีก็หาเรื่องใช้ได้ตลอด วิธีที่ดีคือตัดแยกบัญชีไปเลย เงินเดือนออกปุ๊บตัดไปออมก่อนเลย ยิ่งถ้าเป็นบัญชีปลอดภาษีตามธนาคารก็ดี ดอกเบี้ยจะสูงและไม่ต้องเสียภาษีด้วย ดีทั้งฝึกวินัยการออม แถมดอกเบี้ยก็ดีด้วย

 

8 ค้นหาความสุขราคาประหยัด

 

ข้อนี้เริ่มสนุกขึ้นมาเป็นลำดับ การค้นหาความสุขราคาประหยัดนั้นทำให้เราสามารถประหยัดได้ในระยะยาวมากๆๆๆ คือเราต้องพยายามเราชอบอะไรและเราจะเข้าถึงต้นทุนความสุขนั้นได้โดยราคาถูกได้อย่างไร พูดให้เห็นภาพ เช่น ถ้าเราชอบดูหนังมากแต่จ่ายค่าตั๋วหนังบ่อยๆ ไม่ไหว อาจสมัครดูหนังออนไลน์แบบรายเดือน ถ้าเราชอบกินบุฟเฟ่มากแต่จ่ายค่าบุฟเฟ่ไม่ไหว อาจทำหัดทำอาหารกินเอง ถ้าเราชอบอ่านหนังสือมากแต่ซื้อบ่อยไม่ไหว อาจสมัครสมาชิกห้องสมุด เป็นต้น แบบนี้ในระยะยาว เราจะทำได้อย่างไม่ลำบากใจ เพราะเรามีความสุขและความสุขราคาไม่แพงจนเกินไป

 

9 อย่าเคยชินกับการเป็นหนี้

 

ข้อนี้สำคัญมากและเป็นเหมือนกับดักในชีวิตของหลายคน คือหลายคนเคยชินกับการเป็นหนี้ เคยชินกับการมีคนมาช่วยบริหารเงินก่อน (เหมือนเอาของไปแล้วทยอยจ่ายเงินมา) หลายคนชินและไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา เช่น ผ่อนรถคันนี้หมดก็ซื้อรถคันอื่นใหม่ ผ่อนมือถือเครื่องนี้หมดก็ผ่อนมือถือเครื่องอื่นต่อ แบบนี้ในระยะยาวเงินจะหายไปกับดอกเบี้ยเยอะมาก สำคัญคือเป็นหนี้เท่าที่จำเป็น พยายามไม่ใช้จ่ายเกินตัว หรือถ้าเป็นไปได้ ใช้เงินสดดีที่สุด เพราะเงินที่จ่ายไปเท่ากับที่เสียไปจริง เราจะเข้าใจและเห็นภาพมูลค่ามันมากกว่าการทยอยจ่าย ถึงแม้ว่าจะเป็นตัวเลขเดียวกัน แต่การทยอยจ่ายก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนจ่ายน้อยกว่าเสมอ

 

10 เรียนรู้การลงทุน

 

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด “ลองเรียนรู้การลงทุน” ดูนะ มันเป็นขั้นสุดของการออมเลย เมื่อจุดหนึ่งเราเข้าใจอย่างแท้จริงว่าเงินมันงอกได้ มันสร้างผลตอบแทนได้ เงินมันทำงานได้และทบต้นได้ ทุกครั้งที่เราใช้จ่าย เราจะคิดถึงการเสียโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนเสมอ ดังนั้น คนที่ลงทุนอย่างเข้าใจมักจะใช้เงินน้อยลงโดยธรรมชาติ อย่างผมเอง ชีวิตเปลี่ยนไปตั้งแต่เริ่มต้นลงทุน เพราะส่วนหนึ่ง ผมเข้าใจว่าเงินมันโตได้ ผมจะใช้จ่ายแค่พอประมาณ เพราะผมอยากนำเงินไปลงทุนต่อ ผมอยากเห็นเงินเติบโต

 

ลองไปปรับใช้กันดูนะ

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน