Mental accounting บัญชีทางใจ เมื่อเราให้ค่าเงินแต่ละกองไม่เท่ากัน
พวกเราส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับเงินแต่ละกองไม่เท่ากัน แม้ว่าเงินนั้นจะมีจำนวนที่เท่า ๆ กันก็ตาม พฤติกรรมนี้ มีชื่อเรียกว่า Mental accounting หรือบัญชีทางใจ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เมื่อคุณมีเงินสองก้อนแต่ต่างที่มา เช่น เงินจำนวน 10,000 บาทที่ได้มาจากการทำงาน กับเงิน 10,000 บาทที่ได้มาจากการได้รับโบนัส
การจะนำเงินก้อนแรกจากน้ำพักน้ำแรงไปใช้จ่าย เพื่อตอบสนองความเพลิดเพลินทางใจหรือใช้อย่างฟุ่มเฟือยนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าหนักใจ แต่กลับกัน ถ้าหากให้คุณนำเงินก้อนที่สองในจำนวนที่เท่ากันไปใช้จ่าย คุณอาจจะรู้สึกอิสระและสบายใจที่จะได้ใช้จ่ายมากกว่า คล้ายกับการที่ใครสักคนถูกหวยแล้วเลี้ยงฉลองแบบไม่อั้น เพราะคิดว่าเงินนั้นได้มาจากโชคลาภหรือลาภลอยนั่นเอง จะเห็นได้ว่า จิตใจของเรา มักแบ่งมูลค่าของเงินผ่านความยากง่ายจากการได้รับมา ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วนั้น เงิน 1 บาทไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตามก็ยังคงมูลค่า 1 บาทเท่าเดิมเสมอ
Mental accounting คือหนึ่งในแนวคิดของสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (behavioral economics) ซึ่งถูกพัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อย่าง Richard H. Thaler ในปี ค.ศ. 1999 ขณะที่เขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำ University of Chicago Booth School of Business เขาได้เผยแพร่รายงานวิจัย ชื่อ “Mental Accounting Matters” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการให้คำจำกัดความของบัญชีทางใจ ว่าเป็น “ชุดความรู้ความเข้าใจที่บุคคลและครัวเรือนใช้ในการจัดระเบียบ ประเมิน และติดตามกิจกรรมทางการเงิน” นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่าการที่บุคคลให้ค่าของเงินแต่ละกองแตกต่างกัน มีผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผลในการใช้จ่ายและการลงทุนส่วนบุคคล
บัญชีทางใจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้เราสามารถจัดสรรเงินออกเป็นกองในการบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิตได้ง่ายขึ้น เพราะการมองเงินก้อนใหญ่เพียงอย่างเดียว อาจยากต่อการจัดการที่ครอบคลุม เช่น การแบ่งเงินออกเป็นส่วนสำหรับใช้จ่ายทั่วไป เงินสำหรับให้รางวัลตัวเอง และเงินสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น ในขณะที่ข้อเสียของบัญชีแบบนี้ คือการใช้จ่ายเงินแบบไม่ตั้งอยู่บนเหตุผลของความเป็นจริง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ เช่นการนำเงินของขวัญปีใหม่ไปกินเลี้ยงสังสรรค์จนหมด ทั้ง ๆ ที่เงินจำนวนนี้ หากเก็บออมหรือนำไปลงทุนอาจงอกเงยได้มากกว่าเท่าตัว ซึ่งกลายเป็นว่าต้องเสียโอกาสไปโดยปริยาย
ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงอคติจากบัญชีทางใจ เราควรยึดคติที่ว่าเงินที่เท่ากันย่อมมีมูลค่าเท่ากันและทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีการใดก็ตาม
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
https://people.bath.ac.uk/mnsrf/Teaching%202011/Thaler-99.pdf
https://corporatefinanceinstitute.com/resources/management/mental-accounting/
https://thedecisionlab.com/biases/mental-accounting
https://www.behavioraleconomics.com/resources/mini-encyclopedia-of-be/mental-accounting/
https://insidebe.com/articles/mental-accounting/
https://dictionary.apa.org/mental-accounting
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :