ธุรกิจ

COM7 ส่ง BANANA บุกแฟรนไชส์

com7

รู้กันหรือไม่ว่า BANANA IT ตอนนี้เปิดขายแฟรนไชส์แล้ว BANABA IT ร้านค้าปลีกอุปกรณ์ไอทีชื่อดังตอนนี้ได้ยกทัพออกต่างจังหวัดแล้ว หลังจากได้รับไฟเขียวจาก COM7 หรือบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) ให้เปิดรับแฟรนไชส์ซีมาซื้อแบรนด์ไปเปิดร้านค้าบานาน่าของตัวเองได้ โดยตอนนี้เน้นที่ต่างจังหวัดเป็นหลักก่อน

 

COM7 ได้อะไรจากการขายแฟรนไชส์

 

ถึงแม้ว่าคอมเซเว่นจะเป็นผู้ขายสินค้าไอทีระดับต้นๆ ของประเทศ แต่ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทนั้นก็ไม่ได้มากมายเท่าไหร่นัก โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณเปอร์เซ็นต์เลขหลักเดียวเท่านั้น เหตุผลหลักมาจากตลาดสินค้าไอทีนั้นมีขนาดใหญ่มาก และผู้เล่นในตลาดนี้ก็มีจำนวนมาก ผู้เล่นที่กินสัดส่วนตลาดไปมากที่สุดคือ ร้านค้าปลีกสินค้าไอทีแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นร้านขายคอมพิวเตอร์ตามห้องแถวที่เจ้าของเปิดเองขายเอง ไปจนถึงร้านขายมือถือที่เราจะคุ้นเคยในชื่อร้านตู้ เพราะร้านจะโชว์สินค้าผ่านตู้กระจกขนาดไม่ใหญ่นัก เน้นจับกลุ่มตลาดกลางล่าง รวมถึงรับบริการเสริมด้านต่างๆ อย่างที่เราคุ้นเคย เช่น ติดฟิล์มกันรอย เปลี่ยนเคส หรือโอนถ่ายข้อมูล

 

คอมเซเว่นเลือกที่จะไม่แข่งแต่เลือกการสร้างพันธมิตร

 

การแข่งขันทางตรงที่ง่ายที่สุดคือเอาร้านบานาน่าไปเปิดกระจายให้ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเงินลงทุนจำนวนมากที่จะถมไปกับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงว่ากำลังซื้ออาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนมากนัก บริษัทจึงเลือกขยับตัวเองออกมาเป็น “ค้าส่ง” แทน “ค้าปลีก” โดยเลือกทำแฟรนไชส์กับพันธมิตรและส่งสินค้าให้แฟรนไชส์ซีไปขาย แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คอมเซเว่นจะเปลี่ยนไปเป็นผู้ค้าส่งให้กับร้านค้ารายย่อยแทนจะเป็นการค้าปลีกสู่มือผู้บริโภคโดยตรงแบบโครงสร้างธุรกิจเก่าที่ตนคุ้นเคย

 

จากการพูดคุยกับทีมบริหารแฟรนไชส์ของบานาน่าที่งานมหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ 2561 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 – 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทจะได้รับส่วนแบ่งรายได้มาจากแฟรนไชส์ซีโดยคำนวณจากต้นทุนขายส่วนหนึ่ง และราคาขายอีกส่วนหนึ่ง ประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับสูงสุดจากการขายแฟรนไชส์คือการสร้าง “การเติบโต” โดยใช้เงินลงทุนที่น้อย เน้นการสร้างพันธมิตรและแบ่งกำไรซึ่งกันและกันไป ปริมาณการขายสินค้าที่มากขึ้นผ่านแฟรนไชส์ยังจะช่วยสร้างอำนาจต่อรองของบริษัทกับซัพพลายเออร์ได้อีก และที่สำคัญบริษัทจะมีหน้าร้านกระจายสินค้าอยู่ทั่วประเทศที่อาจจะรองรับ “การเติบโต” ก้าวต่อไปของบริษัทก็เป็นได้

 

แน่นอนว่ามีข้อดีย่อมมีข้อเสีย

 

ระบบแฟรนไชส์ของบานาน่าจะไม่ให้แฟรนไชส์ซีจำเป็นต้องมีสินค้าคงคลังของตนเอง นั่นคือ คนซื้อแฟรนไชส์ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินซื้อสินค้าไอทีมากๆ มาตุนไว้และเสี่ยงที่จะเกิดการล้าสมัยในอนาคต คอมเซเว่นจะแบกสต็อคตรงนี้ไว้และทำธุรกิจเหมือนการฝากขาย แน่นอนว่าสต็อคสินค้าของคอมเซเว่นจะต้องบวมขึ้นตามหน้าร้านจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ และนี่ถือเป็นความท้าทายมากอย่างหนึ่งเพราะสต็อคสินค้าไอทีถือเป็นสินค้าที่มีโอกาสล้าสมัยสูง บริษัทก็ต้องพิสูจน์ตัวเองโดยการบริษัทสินค้าคงคลังให้ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด

 

เบื้องต้นบริษัทตั้งเป้า 1 สาขาต่อ 1 ตำบล โดยตั้งเป้าว่าสิ้นปี 2561 นี้จะมีร้านค้าแฟรนไชส์ทั้งหมด 200 ร้านค้าทั่วประเทศ

 

ต้องมารอติดตามชมว่าการแตกหน่อออกผลของร้านไอทีที่มีชื่อว่ากล้วยนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ บริษัทจะบริหารสินค้าคงคลังอย่างไร และจะเจอแฟรนไชส์ซีแตกแถวออกนอกลู่นอกทางบ้างหรือเปล่า

 

ไม่แน่นะ ไม่กี่เดือนผ่านไป เราอาจจะเจอร้านบานาน่ามาตั้งอยู่หน้าบ้านเราก็เป็นได้

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน