ทัศนคติ

หงุดหงิดใจ โกรธได้ แต่อย่าเกรี้ยวกราด

หงุดหงิดใจ โกรธได้ แต่อย่าเกรี้ยวกราด

หงุดหงิดใจ โกรธได้ แต่อย่าเกรี้ยวกราด

 

ซื้อขายหุ้นในตลาดคงเคยมีบ้างบางทีที่เราก็หงุดหงิดใจกับความไม่ได้ดั่งใจของการลงทุน บางเรื่องอาจเป็นความไม่พอใจในผู้บริหารของธุรกิจที่เราเข้าซื้อ บางครั้งก็อาจมาจากเพื่อนหรือแหล่งข่าวที่เราติดตามที่อาจให้ข้อมูลที่ผิด หรือเจตนาที่แอบแฝงไว้เพิ่งมาเฉลยในตอนท้าย หรืออาจเป็นความหงุดหงิดที่เกิดกับตัวเอง หงุดหงิดได้ โกรธได้ แต่อย่าเกรี้ยวกราด

 

ความโกรธ

 

โกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานหนึ่งของสิ่งมีชีวิต เป็นสัญชาติญาณที่ทำให้เรามีพลังเพื่อสู้กับปัญหา ความโกรธมักมีสาเหตุมาจากความรู้สึกถูกลบหลู่ดูหมิ่นความสามารถ ของรักและหวงแหน หรือสิ่งที่เราชื่นชม บางครั้งก็อาจเกิดจากความรู้สึกว่าเราถูกละเมิดในหลักการบางอย่างที่เรายึดถือ กติกาหรือเกณฑ์ที่เราให้ความสำคัญ เมื่อมีคำพูด การกระทำ หรือสัญญาณใด ๆ ที่พอจะตีความให้รู้สึกแบบนั้นได้ อารมณ์โกรธก็มักจะปรากฎตัวขึ้น

 

ระดับของความโกรธ

 

ความโกรธวนเวียนอยู่ในชีวิตเรา แต่เราอาจกดมันไว้ด้วยการบอกว่า “โกรธอะไร ไม่มี ไม่ได้โกรธ” การไม่ยอมรับความโกรธอาจมาจากความรู้สึกว่าอารมณ์โกรธเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่ในความเป็นจริงมันก็เป็นเพียงสัญชาติญาณและอารมณ์หนึ่งที่ปรากฏขึ้นมา ซึ่งเราอาจจะใส่ระดับให้กับความโกรธเพื่อทำให้เรายอมรับได้ง่ายขึ้นกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น โกรธน้อยอาจจะเป็นคำว่าหงุดหงิด โมโหอาจจะเป็นความรู้สึกว่าโกรธมาก นอยอาจจะเป็นความโกรธแบบต่ำ ๆ หากเราสามารถบอกชื่ออารมณ์ได้ถูกว่ากำลังรู้สึกอย่างไร และจำกัดขนาดให้กับอารมณ์ได้ก็จะสามารถจัดการได้ และสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปตลอดของอารมณ์ เราไม่ได้โกรธนานหรือโกรธตลอดกาล เราจะโกรธก็ต่อเมื่อคิดถึงเรื่องที่ทำให้เราโกรธ

 

โกรธไม่เท่ากับเกรี้ยวกราดหรือความรุนแรง

 

ความโกรธไม่ใช่ตัวที่สร้างปัญหา แต่อาจเป็นปัจจัยที่พาให้เราพบกับปัญหา หากเราไม่สามารถจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ความโกรธที่มาก (Anger) และไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสมอาจเปลี่ยนแปลงเป็นความเกรี้ยวกราด หรือ รุนแรง (Aggression) ซึ่งเมื่อเกิดความรุนแรงแล้ว เรามักจะกลับมาเสียดายหรือเสียใจในสิ่งที่ทำลงไปว่าไม่น่าทำไปเช่นนั้น (Post-aggression) ซึ่งทำให้เรารู้สึกผิด เสียดาย หรือ เสียใจ และบางครั้งเสียทรัพย์สิน

 

ประเภทของความรุนแรง

 

ความรุนแรงอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 รูปแบบ คือ ความรุนแรงทางกายภาพ เช่น การทุบ ตี เตะ ต่อย ตบ ทำร้ายร่างกาย ความรุนแรงทางคำพูด เช่น การด่าว่า เสียดสี พูดคำหยาบคาย และความรุนแรงทางสังคม เช่น นิ่งเฉย เลิกคบเลิกคุย ความสัมพันธ์ที่เคยดีวันหนึ่งก็เฉยชากลายเป็นไม่พูดด้วย ไม่ชวนไปไหนมาไหนอีก

 

การจัดการกับความโกรธให้อยู่ในระดับที่กำลังดี

 

ความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานที่ติดตัวมา เราจึงไม่สามารถกำจัดให้อารมณ์โกรธเป็นศูนย์ได้ แต่ก็สามารถใช้เป็นเหมือนเซนเซอร์ที่คอยส่งสัญญาณว่ามีบางอย่างที่เราให้ความสำคัญอยู่ตรงหน้า และทำความเข้าใจว่าเรากำลังรู้สึกว่าถูกดูหมิ่นหรือละเมิดอะไร แล้วก็แก้ไขไปตามลำดับ การยืดเส้นยืดสายหายใจเข้าลึก ๆ ก็จะช่วยทำให้เราคลายจากอารมณ์โกรธลงไปได้ เมื่อความโกรธไม่มากจนเกินไปเราก็จะมองอะไร ๆ ทะลุมากขึ้น

 

3 ขั้นตอนคลี่คลายความโกรธ

 

ขั้นแรกคือการรับรู้และยอมรับว่าเรากำลังโกรธ โกรธก็คือโกรธไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนไม่ดี การยอมรับจะทำให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้นว่าเรากำลังรู้สึกกับอะไรและต้นเหตุมาจากใครหรืออะไรเป็นตัวกระตุ้น สอง ผ่อนคลายความตึง ดึงตัวเองกลับมา เพราะเวลาที่เราโกรธคิ้วเราจะขมวด มือจะกำ ตัวจะเกร็ง บางครั้งสายตาเราก็จ้องเขม็งและขบฟัน อาการของร่ายกายเหล่านั้น เร้าและกระตุ้นให้เรายิ่งโกรธ ถ้าเราสามารถผ่อนคลายลงได้ เราจะคิดได้โล่ง โปร่งมากขึ้น เพราะอารมณ์ไม่ได้มาบดบัง สามคือการสื่อสารความโกรธเพื่อแก้ไข หรือ จัดการความคิดเพื่อบอกได้ว่าไม่เป็นไร บางครั้งเรื่องบางเรื่องก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดที่จะต้องบอกว่าใครถูกใครผิด หรือ คนอื่นต้องคิดต้องทำเหมือนเรา บางทีความโกรธนั้นอาจจะเกิดจากกฎที่เราตั้งขึ้นเองโดยที่อีกฝ่ายไม่รับรู้ก็ได้

 

ลงทุนแบบโกรธ ๆ

 

การลงทุนเวลาที่อารมณ์ไม่สงบนิ่งอาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะเวลาที่โกรธเรามักจะมองข้ามและทำให้ตัดสินใจแบบด่วนสรุป หรือบางครั้งเมื่อโกรธเราก็อาจจะหลีกหนีจากการเผชิญหน้าความจริงของข้อมูลอะไรบางอย่าง อาจทำให้เราเผลอรับมือกับความสูญเสียด้วยการทำให้ยิ่งสูญเสีย หรือ ทำให้ความสัมพันธ์กลับเสียหาย ปัญหาเล็กอาจบานปลายได้ หงุดหงิดได้ โกรธได้ แต่อย่าเกรี้ยวกราด

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน