ทัศนคติ

ตัวคุณจะกำหนดอนาคตของคุณเอง

ตัวคุณจะกำหนดอนาคตของคุณเอง

ตัวคุณจะกำหนดอนาคตของคุณเอง

 

การที่คำพยากรณ์ต่าง ๆ สามารถทำนายอนาคตได้ตรงเป็นสิ่งที่หาเหตุผลมาได้อธิบายยาก ซึ่งหากมองในมุมกลับ คำทำนายเมื่อได้รับการบอกกล่าวก็มีผลอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจของเจ้าตัว เมื่อเราเชื่อว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น เรามักจะสนใจในสิ่งเหล่านั้นเป็นพิเศษจนกลายเป็นเราตัดสินใจและให้ความสำคัญจนกลายเป็นเราทำตามคำทำนายให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง หากเป็นเช่นนี้แล้วคำพยากรณ์ทำนายหรือกำหนดอนาคต ?

 

ปรากฎการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง หรือ Self-fulfilling prophecy ในทางจิตวิทยาสังคม คือ การที่คนคนหนึ่งมีความคาดหวังว่าบางสิ่งจะเกิดขึ้น แล้วส่งผลให้การแสดงออกหรือพฤติกรรมเกิดขึ้นไปในทิศทางที่ยืนยันความคาดหวังนั้น เช่น การที่เราคิดว่าใครสักคนหนึ่งไว้ใจได้ เป็นมิตร เราก็จะวางตัวแล้วเข้าไปพูดคุยทำความรู้จัก ผลลัพธ์ทำให้เราสนิทกับเพื่อนคนนั้น ซึ่งในทางกลับกันหากเราเชื่อว่าใครเป็นผู้ร้ายเป็นคนที่นิสัยไม่ดี เราก็จะตีตัวออกห่าง เขาทักเราก็ไม่คุยโต้ตอบด้วย สุดท้ายคนคนนี้ก็กลายเป็นคนแปลกหน้ารู้จัก เป็นการยืนยันความคิดว่าคนนี้เป็นคนไม่ดีตามความเชื่อหรือคำทำนายไป

 

การพูดย้ำซ้ำ ๆ นำไปสู่การกระทำจริง

 

การเริ่มต้นจากความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานรองรับ นำไปสู่ความจริงจากการกระทำที่ไปยืนยันความเชื่อเหล่านั้นไม่ได้แค่ส่งผลแค่กับการกระทำของเจ้าตัว แต่ยังส่งผลต่อคนอื่น ๆ เช่น การคิดว่าคนที่คบอยู่จะนอกใจ ทำให้ไปตรวจสอบ เข้มงวด หึงหวง และพูดย้ำซ้ำ ๆ จนกลายเป็นเสียงบ่นทะเลาะที่ติดหูและความน่าเบื่อหน่าย สุดท้ายการนอกใจจึงเกิดขึ้นจริง

 

การตั้งใจไว้ในทางดี

 

ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้ชี้ชัดว่าดีหรือแย่ ขึ้นอยู่กับว่าความเชื่อนั้นส่งผลต่อการกระทำเราไปในทิศทางใด การเริ่มต้นวันโดยการบอกตัวเองหน้ากระจกยามเช้าว่าวันนี้เป็นวันที่สดใส เราจะเป็นนักลงทุนที่เรียนรู้และรอบคอบ เมื่อคำทำนายหรือเสียงที่บอกตัวเอง (inner voice) ตั้งต้นไว้ว่าเป็นเช่นนั้น การมองหาและมองเห็นหลักฐานเพื่อยืนยันความคิดก็จะเกิดขึ้น ตามธรรมดาและธรรมชาติของมนุษย์ ในทางกลับกันหากความเชื่อตั้งต้นเป็นเรื่องการไม่เคารพสิทธิ์และศักดิ์ศรี แบ่งแยก หรือเหยียดเชื้อชาติ การกระทำที่เราทำออกไปย่อมไม่ให้ผลที่ดีนักในการอยู่ร่วมกัน

 

4 กระบวนการที่ทำให้คำทำนายกลายเป็นจริง

 

กลไกที่ทำให้คำทำนายกลายเป็นจริง เริ่มต้นจากความเชื่อของเรา (our belief) นำไปสู่การกระทำของเรา (our action) ที่กระเพื่อมและเหนี่ยวนำการกระทำของผู้อื่น (other action) จนวนกลับมายืนยันความเชื่อตั้งต้น (our belief) ว่าเป็นจริง

 

ความเชื่อของครูและผลการเรียนของเด็ก

 

การทดลองที่แสดงกลไกนี้ให้เห็นถูกทำโดย Robert Rosenthal และ Lenore Jacobson ด้วยการทำการทดสอบ IQ เด็กนักเรียนในโรงเรียน จากนั้นสุ่มนักเรียนออกมากลุ่มหนึ่ง จำนวน 20 คน แล้วแนะนำให้กับครูผู้สอนว่าเด็กกลุ่มนี้คือเด็กหัวกะทิ เก่ง และมีศักยภาพสูง และอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้จากการสุ่มมาเช่นกันซึ่งไม่ได้มีระดับ IQ ที่แตกต่างกัน ให้ครูทำการสอนโดยไม่ได้บอกครูว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างไร เมื่อจบภาคเรียนก็พบว่าเด็กในกลุ่มที่ครูคิดว่าเป็นเด็กหัวกะทิ ทำคะแนนได้เหนือกว่าเด็กห้องอื่น ๆ จริงตามข้อมูลที่แจ้งและความเชื่อของครู

 

การที่ครูเชื่อว่าเด็กห้องนี้เป็นเด็กเก่ง (our belief) ทำให้ครูตั้งใจสอน เอาใส่ใจตอบคำถาม กวดขัน รวมไปถึงผลักดันการเรียนรู้ (our action) การที่ครูถ่ายทอดการกระทำและความรู้สึกแบบนี้ออกไป ก็มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่จะได้รับความรู้เพิ่มขึ้น ใส่ใจมากขึ้น (other action) และสุดท้ายก็วนกลับไปยืนยันความเชื่อของครูว่า “เด็กห้องนี้เก่ง” (our belief)

 

นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าเสียงตั้งต้นที่บอกว่าเราจะทำได้หรือไม่ได้ สิ่งที่อยู่ตรงหน้ายากหรือง่าย เราจะทำมันได้หรือไม่ คำที่เป็นสิ่งทำนายต่าง ๆ เหล่านี้มีอิทธิผลและมีผลต่อเราและคนรอบตัว

 

ในเส้นทางการเป็นนักลงทุน หากวันหนึ่งมีคนมาบอกคุณว่า คุณไม่เหมาะที่จะเป็นนักลงทุน ดวงของคุณจะไม่รุ่งในสายการลงทุน คำเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้เรื่องการเงินการลงทุนของคุณไหม ? ระหว่างคำทำนายที่มาจากคนอื่น และเสียงของความเชื่อที่คุณบอกเองในใจ คุณเลือกจะยอมให้เสียงไหนดังกว่ากัน ?

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง

Rosenthal, R. (2010). Pygmalion effect. in I. Weiner & W. Craighead (Eds), The Corsini encyclopedia of psychology (4th ed., vol.3, pp.1398-1399).Hoboken

Stukas A, Snyder M. (2016) Self-Fulfilling Prophecies, Friedman HS, Encyclopedia of Mental Health (Second Edition), Academic Press,

p.92-100.

Friedrich, A., Flunger, B., Nagengast, B., Jonkmann, K., Trautwein, U. (2015). Pygmalion effects in the classroom: Teacher expectancy effects on students’ math achievement. Contemporary Educational Psychology, 41, 1–12.

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน