ธุรกิจ

การค้าฝ้ายกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

การค้าฝ้ายกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

การค้าฝ้ายกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

 

“ฝ้าย” หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญเริ่มต้นของสิ่งทอ ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ได้รับความสนใจอีกครั้งเนื่องในโอกาสวันฝ้ายโลกซึ่งตรงกับวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งสำหรับปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมาได้มีการเฉลิมฉลองให้กับวันฝ้ายโลก ณ กรุงเวียนนา ภายใต้หัวข้อ “การทำให้ฝ้ายยุติธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกคนตั้งแต่ฟาร์มไปจนถึงแฟชั่น” โดยมีพันธมิตรหลักอย่าง UNCTAD

 

“ฝ้าย” นับได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกและยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในหลายประเทศ เป็นพืชที่สามารถปลูกเพื่อค้าสดหรือค้าแบบเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอก็ได้ โดยการค้าฝ้ายคิดเป็น 0.29% และนับเป็นสินค้าลำดับที่ 51 ของการค้าโลก สำหรับการค้าฝ้ายระหว่างประเทศเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการซื้อขายรวม 61.7 พันล้านดอลลาร์ โดยระหว่างปี ค.ศ. 2020 ถึง ค.ศ.2021 การส่งออกฝ้ายเพิ่มขึ้น 31.7% จาก 46.8 พันล้านดอลลาร์เป็น 61.7 พันล้านดอลลาร์

 

ในปี ค.ศ. 2021 ประเทศที่มีมูลค่าการค้าส่งออกมากกว่าการนําเข้าฝ้าย ได้แก่ อินเดีย (9.26 พันล้านดอลลาร์) สหรัฐอเมริกา (6.11 พันล้านดอลลาร์) บราซิล (3.43 พันล้านดอลลาร์) จีน (2.32 พันล้านดอลลาร์) และอุซเบกิสถาน (1.86 พันล้านดอลลาร์) ส่วนประเทศที่มีมูลค่าการค้านําเข้ามากกว่าการส่งออกฝ้าย ได้แก่ บังคลาเทศ (8.81 พันล้านดอลลาร์) ตุรกี (1.65 พันล้านดอลลาร์) เวียดนาม (1.07 พันล้านดอลลาร์) อินโดนีเซีย (976 ล้านดอลลาร์) และเกาหลีใต้ (855 ล้านดอลลาร์)

 

ในหลายประเทศการส่งออกฝ้ายไม่เพียงแต่ถูกมองว่ามีบทบาทต่อรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่าง แต่ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อสัดส่วน GDP  ซึ่งสำหรับทวีปแอฟริกาเพียงทวีปเดียวก็มีประเทศที่พึ่งพาการส่งออกฝ้ายถึง 37 ประเทศจาก 53 ประเทศ แน่นอนว่าเมื่อฝ้ายกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลในหลายประเทศต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต่อมา คือผลกระทบทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงมีการคิดระบบการค้าฝ้ายแบบพหุภาคีที่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นทางออกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

มติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2021 เห็นชอบต่อข้อเสนอในการพัฒนาฝ้าย โดยประเทศที่เรียกว่า Cotton-4 ได้แก่ เบนิน บูร์กินาฟาโซ ชาดและมาลีซึ่งเป็น 4 ประเทศผู้ผลิตสำคัญในแอฟริกาตอนใต้ จะมีกรอบการทำงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงตลาดโลกสำหรับสินค้าประเภทฝ้ายจากประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในโลก

 

นอกจากนี้ยังสนับสนุนนโยบายการค้าที่เท่าเทียมกันและแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกําลังพัฒนาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากขึ้นจากแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตฝ้าย โดยระบบพหุภาคีเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของฝ้ายให้มีส่วนในการยกระดับผู้คนและชุมชน รวมถึงช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับ 100 ล้านครอบครัว กว่า 80 ประเทศในห้าทวีปของโลก

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
https://www.mordorintelligence.com/industry-reports/cotton-trade-analysis
https://oec.world/en/profile/hs/cotton

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน