ไรเดอร์ส่งอาหารแต่ละค่ายได้เงินเท่าไหร่ในปี พ.ศ. 2565
ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา บริการเดลิเวอรี่ของแอปพลิเคชันแต่ละเจ้าต่างก็ได้รับความนิยมท่วมท้น ผู้คนไม่ต้องออกไปต่อคิวซื้อร้านอาหารเจ้าดังด้วยตนเอง ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และได้เห็นทางเลือกหลากหลายในการทานอาหารที่อยู่ในรัศมีละแวกบ้าน บริการส่งอาหารมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ในทางกลับกัน รายได้ของไรเดอร์ยังคงเป็นประเด็นที่มีการเรียกร้องกันเรื่อยมา ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาทุกท่านไปสำรวจรายได้ของไรเดอร์ส่งอาหารแต่ละค่าย โดยในที่นี้ ขอกล่าวถึง ไลน์แมน [1] แกร็บฟู้ด [2] และโรบินฮู้ด [3] ดังนี้
สำหรับไลน์แมน รายได้ในการส่งอาหารต่อเที่ยวแบ่งคำนวณตามพื้นที่ จากประกาศของทางบริษัท ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป การคำนวณค่าตอบแทนในแต่ละรอบอ้างอิงจากพื้นที่ของร้านอาหาร แบ่งเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) เขตพื้นที่ธุรกิจสีแดง ได้แก่ บางรัก ห้วยขวาง คลองเตย ปทุมวัน สัมพันธวงศ์ วัฒนา ได้ค่ารอบเริ่มต้น 43 บาท 2) พื้นที่รอบนอก (สีเหลือง) หมายถึงพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯ ที่ไม่ใช่เขตธุรกิจสีแดง ค่ารอบเริ่มต้น 38 บาท 3) พื้นที่ปริมณฑล (สีเขียว) เริ่มต้น 37 บาท และ 4) พื้นที่เขตสมุทรสาคร (สีเทา) เริ่มต้น 35 บาท ส่วนงานพ่วงในทุกพื้นที่ให้ค่าตอบแทน 17 บาทเท่าเดิม
สำหรับแกร็บฟู้ด ทางบริษัทเรียกไรเดอร์ว่า “พาร์ตเนอร์” พาร์ทเนอร์ของแกร็บฟู้ดได้รับค่าตอบแทนตามที่มีการปรับโครงสร้างใหม่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยแบ่งเขตพื้นที่การส่งอาหารเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) โซนสีแดง พื้นที่ธุรกิจพิเศษ ได้แก่ คลองเตย ปทุมวัน บางรัก ราชเทวี และวัฒนา 2) โซนสีส้ม พื้นที่ธุรกิจ นอกเหนือจากเขตพื้นที่ธุรกิจพิเศษ และ 3) โซนสีเหลือง ได้แก่ พื้นที่อื่น ๆ ในเขตกรุงเทพและพื้นที่ในแถบปริมณฑล
เขตพื้นที่การส่งอาหารจะมีผลในด้านความแตกต่างของโบนัสทุกงาน และโบนัสพิเศษในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งนี้ ค่ารอบจากเดิมที่พาร์ตเนอร์ได้รอบละ 40 บาทถูกปรับเปลี่ยนใหม่เหลือ 28 บาท โดยพาร์ทเนอร์อาจได้รายได้เพิ่มเติมในกรณีที่รออาหาร 1 นาที หรือรออาหาร 10 นาที และทางบริษัทได้ยกเลิกการหักค่าคอมมิชชันออกไป โดยเฉลี่ยแล้ว พาร์ตเนอร์อาจมีรายได้ต่อรอบต่ำสุด 30 บาท และสูงสุด 50 บาทต่อเที่ยว
ผู้ส่งอาหารของโรบินฮู้ดมีชื่อเรียกเช่นเดียวกับไรเดอร์ของไลน์แมน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลรายได้ของไรเดอร์ตามที่ปรากฏอยู่หน้าเว็บไซต์ของโรบินฮู้ด จะเห็นได้ว่ารายได้ของไรเดอร์อยู่ที่ประมาณ 25,000-35,000 บาทต่อเดือน โดยมีการตัดรอบทุก 6 โมงเย็น และไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์รายได้
จากรายละเอียดต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า แต่ละบริษัทมีค่าตอบแทนให้แก่ไรเดอร์/พาร์ตเนอร์แตกต่างกัน รวมถึงมีการแบ่งพื้นที่ธุรกิจที่แตกต่างกัน ไม่ว่าความแตกต่างของแต่ละบริษัทจะมีมากน้อยอย่างไร ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหล่าคนขับรถส่งอาหารทั้งหลายจะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพราะหากไม่มีคนขับส่งอาหาร ทั้งลูกค้า ร้านอาหาร และบริษัทของเหล่าไรเดอร์/พาร์ตเนอร์เองก็ย่อมได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้าเช่นเดียวกัน
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Lineman Rider. (15 กุมภาพันธ์ 2566). การคำนวณอัตราการรับค่าตอบแทน. สืบค้นจาก https://www.linemanrider.com/news/wageadjustment
[2] Grab driver Thailand. (16 มีนาคม 2566). [กรุงเทพฯ] GrabFood / GrabMart ปรับโครงสร้างค่ารอบใหม่. สืบค้นจาก https://www.grabdriverth.com/ebp/bangkok
[3] โรบินฮู้ด. (2566). รวมเหตุผล โดนๆ เมื่อเป็น โรบินฮู้ด ไรเดอร์. สืบค้นจาก https://www.robinhood.in.th/rider/#
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :