ธุรกิจ

ญี่ปุ่น ขาดทุนธุรกิจดิจิทัล

ญี่ปุ่น ขาดทุนธุรกิจดิจิทัล

ญี่ปุ่น ขาดทุนธุรกิจดิจิทัล

 

ญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศที่ดูจะมาแรงในเรื่องของการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัล แต่เมื่อวันเวลาผ่านเลยไป ปัญหาการไม่ปรับตัวของประเทศญี่ปุ่นต่อปัจจัยใหม่ ๆ ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มล้าหลัง เดินถอยออกจากคำว่ากำไร ไปเป็นคำว่าขาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ บทความชิ้นนี้จะชวนทำความเข้าใจปัจจัยโดยรวมว่าทำไมธุรกิจดิจิทัลญี่ปุ่นถึงมีปัญหา และยกกรณีตัวอย่างเรื่องความเชื่องช้าในการย้ายฐานข้อมูลมาทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย

 

ก่อนจะไปดูปัจจัย มาดูสถานการณ์ที่เกิดกันก่อน

นิเคอิเอเชียรายงานว่า กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นได้เปิดเผยข้อมูลบัญชีเดินสะพัดประจำปีที่แล้วโดยมียอดเกินดุลที่ 11.4 ล้านล้านเยน ลดลงจากยอดเกินดุลในปี ค.ศ. 2021 ถึง 47% เป็นยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี

 

การขาดดุลการค้าของญี่ปุ่น ชัดเจนในกลุ่มอุตสาหกรรม “เทคโนโลยี” เนื่องจากผู้ประกอบการและคนญี่ปุ่นต้องจ่ายเงินผู้ให้บริการดิจิทัลในต่างประเทศ สูงกว่ารายรับจากการส่งออกสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นถึง 4.7 ล้านล้านเยนในปี ค.ศ. 2022 นับเป็น “การขาดดุลสินค้าและบริการดิจิทัล” ของญี่ปุ่นที่พุ่งสูงขึ้นถึง 90% จากเมื่อ 5 ปีก่อน

 

นัยสำคัญในการร่วงต่อเนื่องของญี่ปุ่น คือการตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก อันได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ซึ่งปีนี้อยู่ในอันดับที่ 8, 11 และ 17 ตามลำดับ นอกจากนี้ อันดับที่ 29 ในปีนี้ของญี่ปุ่นยังร่วงลงไปอยู่เกือบครึ่งล่างของจำนวนประเทศที่ติดอันดับทั้ง 63 ประเทศอีกด้วย

 

ความล้าหลังทางดิจิทัลของญี่ปุ่นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการยังยึดติดกับเทคโนโลยีรุ่นเก่า ไม่ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลง การยังใช้ระบบอาวุโสในการบริหารบริษัท และการที่บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีแผนกดิจิทัลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่กลับให้บริษัทภายนอกมาจัดการดูแลแทน

 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นสังคมผู้สูงอายุ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลน้อยมาก แถมผู้เชี่ยวชาญยังอยู่ในภาวะขาดแคลน ทั้งที่เป็นประเทศใหญ่และเคยมีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีมาก่อน

 

ญี่ปุ่นประสบกับสิ่งที่เรียกว่าความพ่ายแพ้ทางดิจิทัลอันเนื่องมาจากการตอบสนองแบบอนาล็อกอย่างเด็ดขาดต่อการระบาดใหญ่ของโควิด 19 เจ้าหน้าที่ยังคงใช้เครื่องแฟกซ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของโควิด 19และระบบของรัฐบาลล้มเหลวในการทำงานร่วมกันในลักษณะที่ยอมรับได้

 

อีกหนึ่งแรงโหมที่พาเอาธุรกิจดิจิทัลญี่ปุ่นน่าเป็นห่วงมากลงไปอีกคือ การที่หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนมากมายในญี่ปุ่นต้องกระทบกระเทือนจากปัญหาติดขัด หลังไม่ได้ใส่ใจเรื่องการปิดตัวของBrowser เมื่อ ปี ค.ศ. 2021 Microsoft ก็ประกาศว่ามิถุนายนปีถัดไปจะยุติให้บริการ Internet Explorer แม้เป็นข่าวแต่ภาครัฐและเอกชนในญี่ปุ่นหลายแห่งก็ชะล่าใจ ไม่รีบแก้ไขหรือติดต่อให้บริษัท IT มาจัดการย้าย Browser และข้อมูลจำเป็น

 

โดย 15 มิถุนายน Microsoft สั่งปิด Internet Explorer ส่งผลให้ตั้งแต่ 16 มิถุนายนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ซึ่งทางออกคือการเปลี่ยนไปใช้ Edge หรือ Chrome โดย CEC บริษัทที่ปรึกษาด้านพัฒนาซอฟต์แวร์และวางระบบคอมพิวเตอร์ในญี่ปุ่นกล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทเจองานหนัก

 

การไม่ปรับตัวเข้ากับปัจจัยใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ทำให้ญี่ปุ่นตกชั้นเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลลงไปเรื่อย ๆ หากรัฐบาลยังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป การขาดทุนทางธุรกิจดิจิทัลของญี่ปุ่นคงน่าห่วงไปมากกว่านี้อีก

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
การเงินการธนาคาร, เกิดอะไรขึ้น ญี่ปุ่น แตะจุดต่ำสุดใหม่ในแง่ ความสามารถแข่งขันทางดิจิทัลจากทั่วโลก, อ้างอิงจาก https://moneyandbanking.co.th/2022/2310/
Marketeer, ญี่ปุ่นล้าหลัง ความสามารถทางดิจิทัลร่วงถูกประเทศเอเชียทิ้งห่าง, อ้างอิงจาก https://marketeeronline.co/archives/282402
Marketeer, พิษ Internet Explorer ปิดตัว ป่วนญี่ปุ่น ภาครัฐมึน เอกชนงง ลืมย้าย Browser, อ้างอิงจาก https://marketeeronline.co/archives/267618
ประชาชาติธุรกิจ, ญี่ปุ่นขาดดุลดิจิทัลสะท้อนภาคเทคโนโลยีอ่อนแอ, อ้างอิงจาก https://www.prachachat.net/world-news/news-1201132

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน