สังคมศาสตร์

หากผู้คนโหมทำงานหนัก ประเทศจะไปข้างหน้าเร็วขึ้นจริงไหม

หากผู้คนโหมทำงานหนัก ประเทศจะไปข้างหน้าเร็วขึ้นจริงไหม

หากผู้คนโหมทำงานหนัก ประเทศจะไปข้างหน้าเร็วขึ้นจริงไหม

 

การทำงาน เป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดความสำเร็จของมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างสังคมในระดับใหญ่ สมมติฐานที่ว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตคน ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วการทำงานของคนในประเทศ จะทำให้ประเทศนั้น ๆ ไปข้างหน้า ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จและชีวิตที่ดีกว่าได้จริงหรือไม่

 

ก่อนที่เราจะไปดูข้อมูลการวิเคราะห์กับโจทย์ที่ตั้งไว้ ลองมาทบทวนเกี่ยวกับการทำงานหนักเสียก่อนว่าเราจะนิยามมันอย่างไร วิธีง่าย ๆ ที่คนส่วนใหญ่ใช้ คือดูชั่วโมงในการทำงาน เป็นการอนุมานเอาง่าย ๆ ว่า คนที่ทำงานหนัก คือคนที่ทำงานนาน หรือพูดง่าย ๆ ว่าขยันกว่า

 

แต่การทำงานเยอะก็ไม่ได้หมายถึงผลงานที่สำเร็จไปเสียทั้งหมด คนที่ทำงานโดยใช้เวลาน้อยกว่าอาจทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ก่อนคนที่ใช้เวลานานกว่าก็ได้ หากมีการจัดสรรเวลา วางแผน และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานแต่ละชิ้น

 

มีสถิติแสดงชัดเจนว่า ทำไมคนในประเทศพัฒนาแล้ว ใช้เวลาทำงานน้อยกว่าชั่วโมงทำงานของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา คำตอบคือ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานของคนทำงานในประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉลี่ย มีคุณภาพมากกว่า โดยปัจจัยนั้นต้องนับมาตั้งแต่ระบบการศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยี และสิ่งอื่น ๆ ที่จะทำให้คนทำงานอย่างฉลาดมากขึ้น ไม่ใช่อดทนขยันแต่ไม่มีประสิทธิภาพ

 

ผลสำรวจของ Kisi บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ที่ได้ทำผลสำรวจทั่วโลกในหัวข้อ “Cities with the Best Work-Life Balance 2021” เพื่อค้นหาว่าเมืองไหนในโลกที่มีการทำงานที่สมดุลที่สุดแห่งปี 2021 และอีกหัวข้อคือ ” Cities with the Overworked 2021” หรือเมืองที่มีประชากรที่มีชั่วโมงการ “ทำงาน” ที่ยาวนาน และชีวิตไลฟ์สไตล์ขาดความสมดุลมากที่สุด

 

โดยผลสำรวจเมืองที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และชีวิตคนในเมืองขาดความสมดุลมากที่สุดในโลก พบว่า กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยติดอันดับ 3 ของผลสำรวจชุดนี้ด้วย

 

ปัจจัยสำคัญที่สุดในการวิเคราะห์ว่าทำงานหนักมากเกินไปหรือไม่นั้น ต้องดูที่ “ช่วงระยะเวลาในการทำงาน” โดยงานวิจัยนี้วางมาตรฐานของการทำงานเอาไว้ว่า หากใครที่ทำงานตั้งแต่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปจะถือว่าเป็นคนที่ทำงานหนัก คิดง่าย ๆ คือ การทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งหากคำนวณออกมาแล้วพบว่าคนกรุงเทพฯ ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตกว่า 70,000 รายต่อปี แม้ว่าการทำงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง แต่การทำงานล่วงเวลาได้นำไปสู่อัตราการเกิดโรคร้ายมากขึ้น เช่น หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง

 

จะว่าไปแล้ว ถึงคนจะใช้เวลาทำงานเยอะกว่าที่ควร แต่ผลกระทบในแง่ลบนั้นมีอีกมาก คุณภาพชีวิตและสุขภาพประชากรโดยรวมของประเทศจะแย่ เพราะการทำงานหนักมากเกินไป มันไม่มีข้อพิสูจน์ข้อไหนที่ชี้เลยว่า ประเทศที่คนทำงานหนักเป็นประเทศที่เจริญ หรือประสบความสำเร็จ

 

คำถามคือ เราในระดับปัจเจกบุคคลจะปรับตัวอย่างไร ในข้อจำกัดที่ประเทศไทยมี

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
Institute of Public Policy and Development, คนไทยทำงานหนักแต่ไม่คุ้มเหนื่อย, อ้างอิงจาก https://ippd.or.th/thailand-productivity-story/
กรุงเทพธุรกิจ, กรุงเทพติดอันดับ 3 เมืองที่ผู้คนทำงานหนักที่สุดในโลก, อ้างอิงจาก https://www.bangkokbiznews.com/business/942231
MisesInstitute, Hard Work (Alone) Won’t Get Your Country Out of Poverty, Retrieved from https://mises.org/wire/hard-work-alone-wont-get-your-country-out-poverty

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน