ธุรกิจ

ธนาคาร STARBUCKS

SBUX หรือ Starbucks Corporation คือบริษัทเจ้าของร้านกาแฟอันดับหนึ่งของโลกที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1971 ด้วยหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่อย่างผู้บริหารระดับโลก Howard Schultz ร้านกาแฟ Starbucks จึงกลายเป็นที่รู้จักและกระจายสาขากันอยู่ทั่วโลก โดย ณ สิ้นปี 2017 บริษัทมีสาขาอยู่ทั่วโลกอยู่ถึง 26,696 สาขา หลายคนให้คำนิยาม Starbucks ว่าเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมแบบอเมริกา เพราะประเทศไหน เมืองไหนที่มี Starbucks ไปเปิด นั่นแปลว่าทุนนิยมแบบอเมริกาได้มาถึงแล้ว เมื่อคนพื้นเมืองต้องการต่อต้านหรือแสดงพลังลุกฮือต่อชาติอเมริกา Starbucks ก็มักจะเป็นเป้าหมายแรกๆ ในการคว่ำบาตร

 

แล้วทำไมถึงเรียก Starbucks ว่าเป็นธนาคาร ทั้งที่จริง Starbucks เปิดร้านขายกาแฟ

 

คำตอบคือ Starbucks ถือเป็นบริษัทที่มีเงินสดท่วมบริษัทมาก โดย ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2017 บริษัทมีเงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสดอยู่ถึง 2,462.3 ล้านเหรียญ หรือเทียบเป็นเงินไทยเท่ากับ 86,180.5 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมทั้งหมดของบริษัท ณ ช่วงเวลาเดียวกันซึ่งอยู่ที่ 14,365.6 ล้านเหรียญ เทียบเท่ากับ 502,796 ล้านบาท หรือเป็นอัตราส่วน 17.14% ซึ่งถือว่าสูงสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ถือเงินสดอยู่ในสัดส่วนเท่านี้เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวม

 

เงินสดในมือ Starbucks มากกว่าเงินสดที่อยู่ในมือธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยเสียอีก

 

ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2017

ธนาคารกสิกรไทย มีเงินสด 56,675.26 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพ มีเงินสด 54,985.00 ล้านบาท

ธนาคารไทยพาณิชย์ มีเงินสด 34,520.52 ล้านบาท

Starbucks มีเงินสด เท่ากับ 86,180.5 ล้านบาท

เรียกได้ว่า Starbucks แทบจะสามารถเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ได้อยู่แล้ว

 

เงินสดในมือ Starbucks นั้นถือว่ามีความสามารถในการต่อรองสูงกว่าธนาคารเสียอีก เพราะเงินสดจำนวนมากของ Starbucks อยู่ในรูปแบบของบัตรเงินสดที่ลูกค้าบริษัทเติมเงินเก็บไว้ ดังนั้น บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายใดๆ ให้กับเงินสดที่ท่วมบริษัทเหล่านี้เลย ต่างกับธนาคารพาณิชย์ที่เงินสดส่วนใหญ่มาจากการระดมทุนผ่านเงินฝากธนาคารซึ่งแน่นอนว่าเงินฝากมีต้นทุนที่ต้องจ่ายซึ่งก็คือดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องจ่ายให้กับผู้ฝากเงินนั่นเอง

 

เงินสดที่กองท่วมอยู่ในบริษัทนี้สร้างอำนาจให้กับ Starbucks อย่างมหาศาล อย่างแรกคือบริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนที่ไม่เคยขาดมือ ในกรณีที่จำเป็นต้องชำระหนี้ระยะสั้น บริษัทก็แทบจะต้องไปมีความกังวลเรื่องหาเงินสดมาใช้ไม่ทัน อย่างที่สองคือบริษัทมีเงินสำหรับขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง กิจการที่เติบโตดีมากๆ มักเกิดปัญหาเงินสดขาดมือเมื่อเร่งขยายสาขา แต่บริษัทที่มีเงินสดมากอย่าง Starbucks จะไม่เกิดปัญหานี้เพราะมีเงินสำรองพอใช้อยู่เสมอ และสุดท้าย บริษัทที่มีเงินสดมากมักจะได้เปรียบตอนเกิดภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตในบริษัทเองหรือวิกฤตเศรษฐกิจ การมีเงินสดหมายถึงความสามารถที่จะใช้ในการพยุงกิจการให้อยู่รอดและผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายไปได้ในที่สุด

 

ไม่น่าเชื่อว่าร้านขายกาแฟอย่าง Starbucks รวมๆ แล้วจะมีเงินสดมากกว่าธนาคารอันดับหนึ่งของประเทศไทยเสียอีก

 

ถึงแม้ว่า Starbucks มีเงินสดดองไว้เป็นสินทรัพย์มาก แต่สิ่งที่มีค่ามากกว่าและอาจจะมากที่สุดในบริษัทน่าจะเป็นมูลค่าแบรนด์ Starbucks มากกว่าที่ผู้บริโภคมีความภักดีอย่างมาก และยากจะประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้จริงๆ

 

ลงท6นศาสตร์ – Investerest

 

ปล. เครดิตรูปภาพ Starbucks

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน