สรุปข้อมูลบริษัท VISA : VISA เสือนอนกินแห่งธุรกิจบัตรเครดิต
รู้หรือไม่ว่า VISA ไม่ใช่บริษัทบัตรเครดิตแบบ 100%
แม้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตทั่วโลกจะมีสัญลักษณ์ VISA แปะหราอยู่บนบัตร แต่ VISA ไม่ได้เป็นบริษัทบัตรเครดิตเต็มตัวขนาดนั้น อันที่จริง ต้องเรียกว่า VISA เป็นแฟลตฟอร์มทำธุรกรรมจะเหมาะสมกว่า เพราะนี่คือบริษัทที่ทำให้เราพกบัตรเครดิตไปใช้จ่ายที่ไหนก็ได้ทั่วโลกแบบไม่มีสะดุด
นั่นแปลว่า VISA ไม่ได้มีรายได้หลักมาจากดอกเบี้ย แต่ถึงอย่างนั้น VISA อาจเป็นบริษัทที่ใหญ่ยิ่งกว่าธนาคารผู้ออกบัตรเสียอีก
VISA เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1976 แต่ที่มาของ VISA นั้นย้อนไปได้ถึงปี 1958 ซึ่งตอนแรกใช้ชื่อบัตรว่า BankAmericard โดยเป็นบัตรเครดิตที่ทำร่วมกับ Bank of America
หลังจากนั้น VISA ก็วางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องพกเงินสดและสามารถใช้จ่ายได้ทั่วโลก และด้วยความที่ VISA ไม่ได้เป็นบริษัทบัตรเครดิตเต็มตัว แต่เป็นผู้ให้บริการรับจ่ายเงินและเน้นขยายเครือข่ายผ่านสถาบันการเงินในแต่ละประเทศ ทำให้ธุรกิจของ VISA เติบโตได้อย่างรวดเร็ว จนยอดการใช้จ่ายผ่านระบบ VISA ทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญเป็นครั้งแรกในปี 1997 และสูงถึง 8.8 ล้านล้านเหรียญในปีล่าสุด
พอถึงปี 2008 บริษัทก็นำพาตัวเองเข้าสู่การเป็นมหาชน แม้การเข้า IPO ช่วงนั้นจะตรงกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์พอดี แต่ VISA ก็ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง เพราะหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมากว่า 10 เท่าแล้วนับตั้งแต่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับรายได้ในปีล่าสุดที่สูงถึงเกือบ 23,000 ล้านเหรียญ
งบการเงิน VISA
ปี 2017
รายได้ 18,358 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 11,659 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 6,699 ล้านเหรียญ
ปี 2018
รายได้ 20,609 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 10,308 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 10,301 ล้านเหรียญ
ปี 2019
รายได้ 22,977 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 10,897 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 12,080 ล้านเหรียญ
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า VISA ไม่ใช่บริษัทบัตรเครดิตเต็มตัว รายได้ของบริษัทจึงไม่ได้มาจากดอกเบี้ยสุดสะพรึงของบัตรเครดิต แต่รายได้หลักมาจากสามส่วนคือ รายได้จากการให้บริการ , รายได้จากการประมวลผลข้อมูล , และรายได้จากธุรกรรมข้ามประเทศ โดยมีสัดส่วนรายได้อย่างละประมาณ 1/3
ถึงแม้จะเป็นแพลตฟอร์มทางการเงินยักษ์ใหญ่ แต่ถ้ายังจำกันได้ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หลาย ๆ คนกลัวความเสี่ยงว่าบัตรเครดิตจะมีคนใช้น้อยลงเนื่องจากการมาถึงของสกุลเงินดิจิทัล แต่ก็อย่างที่เราเห็นกัน สกุลเงินดิจิทัลอาจเป็นทางเลือกในการเก็งกำไรและการลงทุนที่ดี แต่ในแง่ของการใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนยังมีปัญหาอยู่ไม่น้อยเพราะราคาที่ผันผวน บัตรเครดิตและบัตรเดบิตทั่วโลกจึงยังคงได้รับความนิยมต่อไป และเมื่อบัตรทั้งสองยังได้รับความนิยม VISA ก็ย่อมอยู่ได้
นอกจากนั้น ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานับเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมอร์ซ คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเป็นผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างง่ายดาย ของอะไรก็ตามที่เราไม่คิดว่าจะซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถทำได้แล้ว (เช่น ชานมไข่มุก) นั่นหมายถึงโอกาสเติบโตอีกมากของการใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ VISA และยิ่งมีคนใช้บัตรเหล่านี้ในการจับจ่าย ก็ยิ่งทำให้รายได้ของ VISA โตไม่หยุด
และที่สำคัญ VISA ก็ไม่ได้เป็นยักษ์ใหญ่อุ้ยอ้ายที่นั่งกินบุญเก่า จริงอยู่ว่าตอนนี้บริษัทจะมีมูลค่าตลาดกว่า 4 แสนล้านเหรียญ แต่ VISA ก็พยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ อย่างล่าสุดก็เพิ่งซื้อธุรกิจแพลตฟอร์มทางการเงินแห่งหนึ่งมาเป็นเงินกว่า 5,300 ล้านเหรียญ เห็นได้ชัดว่าบริษัทไม่ได้นั่งอยู่เฉย ๆ และปล่อยให้คนอื่นมา disrupt ตัวเองเหมือนธุรกิจอื่นที่ต้องล้มหายไปเพราะเทคโนโลยี
หากบริษัทยังมีแนวโน้มที่จะเติบโต ต่อให้เป็นกิจการที่ใหญ่ขนาดแสนล้าน มันก็อาจโตไปได้อีกแบบที่ไม่มีใครคาดคิด
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
เอกสารอ้างอิง
ประวัติของ Visa : visa.co.th
รายงานประจำปี Visa : s24.q4cdn.com
งบการเงิน Visa : finance.yahoo.com
Visa Seeks To Boost Payments In These Sectors With Sweeping Fee Overhaul : investors.com
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :