AU ร้านอาหารที่มีสัดส่วนซื้อกลับบ้านถึง 25%
ธุรกิจร้านอาหาร เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเอาตัวรอดจากวิกฤต COVID-19
เพราะขึ้นชื่อว่าร้านอาหาร ย่อมหมายถึงสถานที่ที่ผู้คนมาพบปะกันเพื่อทานอาหารอย่างมีความสุข แต่เมื่อเกิดเหตุที่ทำให้ไม่สามารถออกมาทานอาหารที่ร้านได้เหมือนเดิม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารจึงได้รับผลกระทบหนัก
หากมองเผิน ๆ การปรับตัวด้วยการขายอาหารผ่านออนไลน์ หรือขายแบบซื้อกลับบ้าน ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่ธุรกิจจะสามารถประคองตัวเองให้อยู่รอดได้
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะอาหารหลาย ๆ ประเภทไม่ใช่สิ่งที่จะนำกลับไปทานที่บ้านแล้วได้อารมณ์เหมือนทานที่ร้าน ร้านอาหารแห่งใดที่สามารถดันยอดซื้อกลับบ้านให้เป็น 10-15% เมื่อเทียบกับรายได้รวมก็ถือว่าเก่งแล้ว
แต่รู้หรือไม่ มีธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่สามารถผลักดันรายได้จากการซื้อกลับบ้าน ให้โตขึ้นได้ถึง 25% เมื่อเทียบกับรายได้รวม
ร้านนั้นคือ After You
After You ร้านขนมหวานชื่อดังที่หลายคนน่าจะเคยได้ลิ้มลองความหอมหวานของฮั่นนี่โทสต์มาบ้างสักครึ่งสองครั้ง ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างหนัก
ในช่วงก่อนจะเกิดวิกฤต รายได้ของบริษัทแทบจะเรียกได้ว่าเติบโตต่อเนื่องทุกไตรมาส ในช่วงที่พีคสุด ๆ นั้น After You มีรายได้บางไตรมาสที่สูงถึงกว่า 315 ล้านบาทเลยทีเดียว
แต่เมื่อ COVID-19 เข้ามาระบาดในประเทศไทย พร้อมกับมีมาตรการล็อกดาวน์เกิดขึ้นครั้งแรก รายได้ของ After You ที่เคยเฟื่องฟู ก็ร่วงลงไปต่ำสุดถึง 146 ล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่รายได้สูงสุด
ส่วนราคาหุ้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง ลดลงจากประมาณ 12 บาท จนไปสู่จุดต่ำสุดที่ประมาณ 5.50 บาท
งบการเงิน After You รายไตรมาส ในช่วงก่อน COVID และระหว่างเกิด COVID
ไตรมาส 3 ปี 2019
รายได้ 315 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 250 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 65 ล้านบาท
ไตรมาส 4 ปี 2019
รายได้ 287 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 227 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 50 ล้านบาท
ไตรมาส 1 ปี 2020
รายได้ 220 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 207 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 13 ล้านบาท
ไตรมาส 2 ปี 2020
รายได้ 146 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 149 ล้านบาท
กำไรสุทธิ -3 ล้านบาท
ในช่วงที่โควิดระบาดรอบแรก หลาย ๆ ธุรกิจยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าไหร่นัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจากเดิมที่มีรายได้จากหน้าร้านเกือบจะ 100% แต่เมื่อวันหนึ่งลูกค้าหน้าร้านหดหาย การหารายได้ทดแทนส่วนที่ขาดไปจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
และการขายแบบซื้อกลับบ้าน รวมถึงการขายแบบเดลิเวอรี่ ก็เป็นสิ่งที่ร้านอาหารทุกแห่งต้องทำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จากข้อมูลในเดือนมกราคมปี 2564 ร้านอาหารใหญ่ ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอย่าง M (เจ้าของร้าน MK และ Yayoi) และหุ้น ZEN มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากการซื้อกลับบ้านและขายผ่านเดลิเวอรี่ อยู่ที่ประมาณ 5-10% ของรายได้ทังหมด
แต่สำหรับ After You บริษัทสามารถปั้นตัวเลขนี้ให้สูงได้ถึง 20-25% ของรายได้รวม เพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่ามากขนาดไหน จากตัวเลขรายได้จากการขายขนมหวานที่ 700 ล้านบาทในปี 2563 แปลว่ายอดขายที่มาจากการซื้อกลับบ้าน หรือการขายแบบเดลิเวอรี่ จะคิดเป็นเงินกว่า 170 ล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการรายไตรมาสของ After You ก็ยังไม่ได้ขึ้นไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด COVID ง่าย ๆ
งบการเงิน After You รายไตรมาส 3 ไตรมาสล่าสุด
ไตรมาส 3 ปี 2020
รายได้ 199 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 171 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 28 ล้านบาท
ไตรมาส 4 ปี 2020
รายได้ 210 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 193 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 17 ล้านบาท
ไตรมาส 1 ปี 2021
รายได้ 179 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 187 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 12 ล้านบาท
อาจจริงอยู่ว่า ตัวเลขการขายผ่านช่องทางอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การขายผ่านหน้าร้าน จะถือว่ามีตัวเลขที่สูงจนน่าประทับใจ บริษัทเองได้พยายามขายสินค้าผ่านทั้งแอปเดลิเวอรี่ ผ่านทางระบบออนไลน์ของตัวเอง หรือไปตั้งบูธตามจุดต่าง ๆ ให้คนเข้าถึงสินค้าได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างการกินคากิโกริอร่อย ๆ ที่บ้านกับการนั่งกินที่ร้านมันก็ยังมีความต่างกันอยู่ เพราะการไปนั่งทานที่ร้าน เราจะได้ศาสตราวุธเพื่อจู่โจมขนมหวานแบบเก๋ ๆ จานสวย ๆ มีดส้อมเงาวับ พร้อมเมนูที่จัดวางมาอย่างดี แต่พอเปลี่ยนมาทานที่บ้าน บรรยากาศเหล่านั้นย่อมสร้างได้ยากกว่า
อีกทั้งการที่คนไม่ออกจากบ้าน ตัวเลือกการสั่งขนมหวานจึงไม่ได้มีแค่ After You ผู้บริโภคสามารถเลือกร้านฮันนี่โทสต์หน้าหมู่บ้านก็ได้ หรือชานมอร่อย ๆ จากป้าฝั่งตรงข้ามก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องซื้อแต่ After You เท่านั้น
และที่สำคัญคือ ที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าหลักของ After You อีกกลุ่มคือนักท่องเที่ยวชาวจีน การที่ประเทศไทยยังไม่สามารถกลับมาเปิดประเทศได้เหมือนเดิม แม้จะดันยอดขายแบบซื้อกลับบ้านยังไง ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทดแทนรายได้จากกลุ่มลูกค้าหลักเหล่านี้
แม้แต่ธุรกิจขนมหวานก็ยังมีช่วงเวลาที่ขมขื่นได้
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
ผลประกอบการไตรมาส 1/64 : https://www.set.or.th/set/pdfnews.do?newsId=16206005993811&sequence=2021052760
ผลประกอบการปี 2563 : https://www.set.or.th/set/pdfnews.do?newsId=16139444607071&sequence=2021018095
ส่องหุ้นอาหาร AU-ZEN-M กระทบห้ามนั่งทานที่ร้าน : http://prbangkok.com/th/bmanews/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQwNzExMg==
งบการเงิน After U : https://www.finnomena.com/stock/au
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :