ธุรกิจ

สรุปข้อมูลบริษัท Berkshire Hathaway : วิธีฝากเงินให้ปู่บัฟเฟตต์ลงทุนให้

สรุปข้อมูลบริษัท Berkshire Hathaway

สรุปข้อมูลบริษัท Berkshire Hathaway : วิธีฝากเงินให้ปู่บัฟเฟตต์ลงทุนให้

 

เคยคิดกันเล่น ๆ ไหมว่า ถ้าเราสามารถเอาเงินให้นักลงทุนระดับโลกอย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ บริหารให้เราได้ มันจะดีแค่ไหน?

 

ฟังดูเป็นไปได้ยาก เพราะเราคงไม่ได้สนิทกับบัฟเฟตต์ถึงขนาดที่ว่าฝากเงินให้เขาลงทุนได้ นอกเสียจากเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันกับเขา ซึ่งตอนนี้ทุกคนต่างก็รวยไม่รู้เรื่องเพราะบัฟเฟตต์ชักชวนให้ไปลงทุนสมัยที่ก่อตั้งกองทุนใหม่ ๆ

 

แต่รู้หรือไม่ว่า ถึงแม้เราจะไม่ได้มีรั้วบ้านติดกับบัฟเฟตต์ ก็ยังสามารถฝากเงินให้เขาลงทุนได้ ผ่านการซื้อหุ้นผ่านบริษัทแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์

 

บริษัทที่ว่านั้นคือ Berkshire Hathaway บริษัท holding company (บริษัทที่นำเงินไปลงทุนต่อในบริษัทอื่น) ที่บัฟเฟตต์เป็นเจ้าของนั่นเอง

 

 

 

Berkshire Hathaway แต่เดิมคือบริษัทที่ทำธุรกิจสิ่งทอ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับความเป็น holding company แม้แต่น้อย

 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทนี้เปลี่ยนแปลง มาจากการที่บัฟเฟตต์เข้าลงทุนในบริษัทดังกล่าวเมื่อปี 1964 ในสมัยที่เขายังใช้หลักการแบบ VI เข้มข้น นั่นก็คือซื้อหุ้นของบริษัทที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก ๆ โดยที่เขาให้ความสำคัญกับงบการเงินเป็นหลัก แต่ไม่ได้ตระหนักเลยว่ากิจการนั้นจะมีโอดาสเติบโตแค่ไหน

 

ซึ่งหลังจากนั้น ธุรกิจของ Berkshire Hathaway ก็ไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวเลยแม้แต่น้อย เมื่อเริ่มรู้ตัวว่ามองอุตสาหกรรมสิ่งทอผิดไป บัฟเฟตต์จึงตัดสินใจเปลี่ยนบริษัทสิ่งทออันมืดหม่นนี้ให้เป็นบริษัท holding ด้วยการนำเงินสดและกระแสเงินสดที่ได้ไปลงทุนในหุ้นของบริษัทอื่น โดยเฉพาะบริษัทประกันอย่าง GEICO ยักษ์ใหญ่แห่งประกันภัยรถยนต์ในสหรัฐ แล้วนำเงินสดรับที่ได้จากธุรกิจประกันที่เรียกว่า float ไปลงทุนต่อ ว่ากันว่าเหตุที่บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าคนอื่น ก็เป็นเพราะมี float จากธุรกิจประกันให้ไปลงทุนเรื่อย ๆ

 

นอกจากนั้น สิ่งที่เปลี่ยนไปอีกอย่างก็คือแนวทางการเลือกหุ้นของบัฟเฟตต์อง ตอนที่เขาซื้อ Berkshire Hathaway ใหม่ ๆ เขามองธุรกิจว่าถูกหรือแพงโดยวิเคราะห์เพียงงบการเงินอย่างเดียว แต่ด้วยคำแนะนำจากคู่หูของเขา ชาร์ลี มังเจอร์ ที่เชื่อว่าธุรกิจถูกหรือแพงนั้นต้องวิเคราะห์การเติบโตด้วย ทำให้หลังจากนั้น บัฟเฟตต์จึงกล้าซื้อหุ้นในราคาที่อาจแพงเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ปรากฏในงบการเงิน แต่ถือว่าถูกราวกับได้เปล่าหากเทียบกับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ด้วยเหตุนี้เอง Berkshire Hathaway จึงเติบโตและประสบความสำเร็จในแบบที่ไม่มีใครเหมือน ด้วยจำนวนพนักงานจริง ๆ เพียง 25 คนเท่านั้น แต่รายได้ในปีล่าสุดของบริษัทนั้นสูงถึงกว่า 3 แสนล้านเหรียญ พร้อมกับราคาหุ้นที่ทำสถิติแพงที่สุดในโลกด้วยราคาหุ้นละประมาณ 270,000 เหรียญเลยทีเดียว

 

 

 

งบการเงิน Berkshire Hathaway

 

ปี 2017
รายได้ 242,137 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 197,197 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 44,940 ล้านเหรียญ

 

ปี 2018
รายได้ 225,382 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 221,361 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 4,021 ล้านเหรียญ

 

ปี 2019
รายได้ 327,223 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 245,806 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 81,417 ล้านเหรียญ

 

 

 

ด้วยราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขี้นมาจาก 11.50 เหรียญเมื่อสมัยที่ Berkshire ก่อตั้งใหม่ ๆ จนปัจจุบันมีราคากว่าหุ้นละ 270,000 เหรียญ จึงไม่แปลกถ้าใคร ๆ จะมองว่านี่คือบริษัทของสุดยอดนักลงทุนที่จะเติบโตได้ตลอดไป อันที่จริงถ้าใครอยากจะให้บัฟเฟตต์บริหารเงินลงทุนให้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ซื้อหุ้นของ Berkshire Hathaway ก็เปรียบได้กับมีบัฟเฟตต์คอยดูแลเงินลงทุนให้แล้ว

 

แต่ไม่น่าเชื่อว่า แม้แต่บริษัทที่เป็นของสุดยอดนักลงทุนเอกของโลก ก็ยังมีช่วงที่เจอภาวะขาลงไม่ต่างกับธุรกิจอื่น ๆ นั่นคือผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง

 

ไม่ได้หมายความว่าฝีมือของบัฟเฟตต์ตกลง แม้ปัจจุบันเขาจะอายุเกือบ 90 ปีแล้ว แต่มันสมองและกึ๋นของเขายังห่างชั้นกับคนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ไปหลายขุม สิ่งที่ทำให้ Berkshire มีปัญหาจริง ๆ นั้นมาจากตัวบริษัทเอง มันมีขนาดใหญ่เกินไป

 

ถ้าเป็นยุคสมัยที่ Berkshire มีขนาดไม่ใหญ่นัก ผลตอบแทนจากการลงทุนของบัฟเฟตต์ยังสามารถเอาชนะตลาดได้แบบสบาย ๆ บางปีเขาสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่า 50% ด้วยซ้ำไป แต่เมื่อขนาดของเงินทุนมากขึ้นจนไปถึงระดับหลายหมื่นล้านหรือกระทั่งแสนล้านเหรียญ บัฟเฟตต์อาจจะเจอหุ้นของกิจการชั้นดีก็จริงอยู่แต่ก็ไม่อาจเข้าไปซื้อได้มากพอเนื่องจากมีเงินเยอะเกินไป

 

นี่จึงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของ Berkshire Hathaway ในช่วงหลัง ๆ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ผลตอบแทนของบริษัทแพ้ให้กับดัชนี S&P 500 มาแล้วถึง 6 ปีด้วยกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยแพ้ตลาดเลย

 

Berkshire Hathaway อาจเป็นบริษัทที่บริหารงานโดยนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะลงทุนกับมันได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอะไรเลย

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

เอกสารอ้างอิง
เพราอะไรบัฟเฟตต์ ถึงแพ้ตลาดมา 6 ปีแล้ว : investing.in.th
รายงานประจำปี Berkshire Hathaway : berkshirehathaway.com
If you want to work in Berkshire Hathaway’s Omaha office, start looking for another job : businessinsider.com
If You Invested $1,000 in Berkshire’s IPO, This Is How Much Money You’d Have Now : fool.com

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน