ธุรกิจ

สรุปข้อมูลบริษัท Google : Google เคยถูกเร่ขายในราคา 1 ล้านเหรียญ แต่ไม่มีใครเอา

สรุปข้อมูลบริษัท Google

สรุปข้อมูลบริษัท Google : Google เคยถูกเร่ขายในราคา 1 ล้านเหรียญ แต่ไม่มีใครเอา

 

เมื่อพูดถึงความยิ่งใหญ่ของ Google น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักบริษัทนี้ นอกจากจะเป็นเว็บสำหรับค้นหาข้อมูลเบอร์ 1 ของโลก ระบบปฏิบัติการณ์แอนดรอยด์ที่โทรศัพท์เกินครึ่งกำลังใช้งานอยู่ ก็เป็นของ Google เช่นกัน

 

ดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่บริษัทซึ่งมีอายุราว ๆ 20 ปี จะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่รู้หรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งในอดีตนั้นไอเดียระบบการค้นหาของ Google เคยถูกนำไปเร่ขายให้กับบริษัทใหญ่ ๆ ในราคาเพียง 1 ล้านเหรียญ แต่กลับไม่มีบริษัทไหนชายตามองด้วยซ้ำ นับว่าเป็นความโชคดีในโชคร้าย เพราะไม่อย่างนั้น Google ก็อาจจะไม่ได้เกิด

 

 

 

จุดเริ่มต้นของ Google มาจากนักศึกษาปริญญาเอกสองคนที่ทั้งพ่อและแม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์แบบสุดๆ ทั้งคู่ คนแรกคือ Larry Page และอีกคนคือ Sergey Brin โดยที่ Page มีแผนจะทำวิทยานิพนธ์ก่อนจบเกี่ยวกับความเชื่อมโยงลิงก์ของเว็บไซต์ต่างๆ ในโลกที่กำลังเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่เขารู้ว่ากลุ่มของเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินี้มันเกินกำลังกว่าที่เขาจะทำวิทยานิพนธ์จนสำเร็จได้ เขาจึงดึงตัว Brin เข้ามาช่วยอีกคน และกลายเป็นที่มาของโปรเจคชื่อ BackRup ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นชื่อ Google.com หลังจากนั้นไม่นานนัก

 

ในสมัยยุคดึกดำบรรพ์ทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ที่ให้บริการค้นหาข้อมูลจะใช้ “คน” ในการจัดลำดับผลการค้นหา แต่อย่างที่บอก ตัว Page รู้อยู่แก่ใจว่าสักวันหนึ่งข้อมูลมันจะเยอะมากๆ ซะจนใช้คนเป็นล้านก็ทำไม่ไหว ทั้ง Larry Page และ Sergey Brin จึงช่วยกันเขียนโปรแกรม (bot) ที่เข้าไปเก็บข้อมูลเว็บไซต์ทุกแห่งแล้วจัดผลการค้นหาแบบอัตโนมัติ ระบบการค้นหาของ Google จึงล้ำกว่าคู่แข่งไปมากโข

 

แต่ในตอนแรกทั้ง Page และ Brin ไม่ได้คิดไว้แต่แรกว่าจะปั้นให้มันเป็นบริษัทแสนล้าน พวกเขาตัดสินใจเอาระบบการค้นหาสุดเจ๋งนี้ไปเร่ขายให้บรรดาบริษัทใหญ่ๆ รวมถึง Yahoo! ที่เป็นเจ้าตลาดเว็บค้นหาข้อมูล แม้จะขายในราคา 1 ล้านเหรียญ แต่ก็ไม่มีใครเลยที่มองออกว่าไอเดียนี้จะเอาไปทำเงินได้ยังไง ท้ายที่สุดสองหนุ่มไฟแรงเลยนำ Google.com ไปขอระดมทุนจาก Angel Investor (นักลงทุนที่จะลงทุนกับกลุ่มบริษัทเกิดใหม่ซึ่งยังไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) จนสำเร็จ และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ปี 2004 ผ่านมาจนถึงตอนนี้ Google.com ก็มีมูลค่ากว่า 863,000 ล้านเหรียญเป็นที่เรียบร้อย

 

 

 

แล้วผลิตภัณฑ์ของ Google แทบทั้งหมดเราก็ได้ใช้งานแบบฟรีๆ กระทั่งแอนดรอยด์ก็ใช้ฟรี ถ้าอย่างนั้น Google มีรายได้จากทางไหน ?

 

คำตอบคือ มาจากค่าโฆษณาเป็นหลัก

 

การสร้างรายได้ของ Google จะคล้ายๆ กับ Facebook ตรงที่ทั้งสองเว็บไซต์มีผู้เข้าใช้งานมหาศาล จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะรวบรวมข้อมูลผู้ใช้ว่าแต่ละคนมีความสนใจในเรื่องอะไร บ้างสนใจเรื่องต้นไม้ บ้างสนใจเรื่องปลา บ้างสนใจเรื่องของกิน เมื่อรู้ว่าใครสนใจเรื่องอะไรแล้ว ระบบของ Google ก็จะนำโฆษณาของผู้ลงโฆษณาที่เกี่ยวข้องมาแสดงผลให้เห็น คนที่พิมพ์ค้นหาของกินบ่อยๆ ก็จะเจอโฆษณาร้านอาหารตั้งแต่ตอนที่ค้นหา ไปจนถึงเว็บอื่นๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์ในการแสดงโฆษณาของ Google ด้วย

 

จากข้อมูลล่าสุด หากรายได้รวมของ Google.com อยู่ที่ 100 เหรียญ จะคิดเป็นรายได้จากค่าโฆษณาถึง 86 เหรียญ ส่วนที่เหลือมาจากการขายแอปใน Google Play, Google Cloud, โทรศัพท์มือถือ Google Pixel และอื่นๆ

 

และงบการเงินรอบ 3 ปีล่าสุดของบริษัทมีดังนี้

 

ปี 2016
รายได้ 90,272 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 70,794 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 19,478 ล้านเหรียญ

 

ปี 2017
รายได้ 110,855 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 98,193 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 12,662 ล้านเหรียญ

 

ปี 2018
รายได้ 136,819 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 106,083 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 30,736 ล้านเหรียญ

 

ชัดเจนว่ารายได้และกำไรของบริษัทนั้นมาไกลเมื่อเทียบกับตอนเริ่มต้นเมื่อปี 1998 แต่ก็เฉกเช่นเดียวกับบริษัททั่วไปที่มีรายได้หลักมาจาก 1-2 ทาง หากรายได้หลักประสบปัญหาจนลดลงหรือมีคู่แข่งเข้ามาตีตลาด มันย่อมส่งผลต่อผลกำไรและราคาหุ้น Google อย่างไม่อาจเลี่ยงได้ แต่จากที่เราได้สัมผัสสินค้าของ Google หลายๆ อย่าง ทั้งตัวเว็บ Google.com, YouTube, ระบบแอนดรอยด์ และอื่น ๆ อีกมาก จะเห็นได้ว่าบริษัทเองก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นช่องทางโฆษณาที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง

 

แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยความที่ Google เป็นบริษัทระดับโลก นโยบายการค้าหรือการเมืองระหว่างประเทศจึงส่งผลต่อธุรกิจไม่น้อย อย่างเช่นจากข่าวล่าสุดที่มีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จนทำให้โทรศัพท์มือถือบางยี่ห้อและบางรุ่นถูกห้ามไม่ให้ใช้แอนดรอยด์อีกต่อไป ซึ่งนั่นก็ส่งผลเสียต่อ Google เพราะถ้ามีโทรศัพท์ใช้แอนดรอยด์น้อยลง ก็ทำให้คนกลุ่มที่ไม่ได้ใช้แอนดรอยด์มีโอกาสไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Google ด้วย เป็นความเสี่ยงที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นแม้แต่น้อย

 

ต่อให้เป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่เพียงใด ทุกธุรกิจก็ล้วนมีจุดอ่อนให้นักลงทุนคอยค้นหา

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
งบการเงิน Google : jitta.com
โครงสร้างรายได้ Google : fourweekmba.com
ประวัติ Larry Page และ Sergey Brin : blueoclock.com

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน