ธุรกิจ

TFMAMA กับความกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น

TFMAMA กับความกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น

TFMAMA กับความกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น

 

ในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ล้วนต้องการสองสิ่งเสมอ คือรายได้ที่เพิ่มขึ้น และกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น

 

รายได้จะเพิ่มขึ้นได้ ก็มาจากการทำธุรกิจที่ดี การตลาดที่ชาญฉลาด ขยันในการออกสินค้าใหม่ ๆ หรือหาลูกค้าใหม่ ๆ รวมถึงหาแผนสำรองในกรณีที่สภาพเศรษฐกิจไม่ดีจนทำให้ขายของยากขึ้น

 

ส่วนกำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นได้ ก็มาจากการควบคุมรายจ่ายที่ดี ไม่ให้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้

 

แต่ในโลกความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกกิจการที่จะสามารถทำทั้งสองสิ่งนี้ได้อย่างดีพร้อม ๆ กันต่อให้เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งก็ตาม หนึ่งในนั้นก็คือ TFMAMA

 

 

 

 

TFMAMA หรือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทมหาชนที่ทั้งคนเล่นหุ้นและคนไม่ได้เล่นหุ้นต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะนี่คือบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อมาม่า

 

ใครที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์มาเบื้องต้น จะต้องคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคือสินค้าที่มียอดขายสวนทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะไม่โตมากนัก แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่ ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเพิ่มขึ้น เพราะคนต้องประหยัดการใช้จ่าย

 

นั่นเท่ากับว่า ในสถานการณ์ของประเทศช่วงปีที่ผ่านมา TFMAMA ก็น่าจะมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ เพราะ COVID-19 ทำให้ผู้คนวางแผนการใช้เงินมากขึ้น อาจซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาตุนไว้มากขึ้น (รวมถึงซื้อบริจาค) มองยังไงก็น่าจะส่งผลดีต่อบริษัท

 

แต่จากงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ผ่านมา ปรากฎว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดมากนัก

 

 

 

งบการเงิน TFMAMA

ปี 2562
รายได้ 23,999 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 20,056 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 3,943 ล้านบาท

 

ปี 2563
รายได้ 23,580 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 19,490 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 4,090 ล้านบาท

 

ไตรมาส 1 ปี 2563
รายได้ 5,912 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 4,906 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 1,006 ล้านบาท

 

ไตรมาส 1 ปี 2564
รายได้ 5,792 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 4,947 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 845 ล้านบาท

 

 

 

จากงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 จะพบว่าทั้งรายได้และกำไรของบริษัทชะลอตัวลง รายได้ลดลงจาก 5,912 ล้านบาท (1/63) มาอยู่ที่ 5,792 ล้านบาท (1/64) ส่วนกำไรสุทธิก็ลดลงจาก 1,006 ล้านบาท (1/63) มาอยู่ที่ 845 ล้านบาท (1/64)

 

ในแง่ของรายได้ ทางบริษัทได้ชี้แจงว่าสาเหตุที่รายได้ลดลงนั้นมาจากยอดขายของสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะ TFMAMA จะมีรายได้หลักสองส่วน คือจากมาม่าประมาณ 60% ของรายได้ทั้งหมด และรายได้จากธุรกิจเบเกอรี่อีก 30% ผ่านการถือหุ้นใน บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ที่ทำขนมปังฟาร์มเฮาส์

 

ในส่วนของธุรกิจเบเกอรี่นี้เองที่มีรายได้ชะลอลง แต่สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังมีการเติบโตในประเทศที่ 1% และการเติบโตในต่างประเทศ 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

แต่สิ่งที่ทำให้กำไรลดลงเร็วกว่ารายได้ คือในเรื่องของต้นทุนขาย

 

ในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หนึ่งในต้นทุนหลักของบริษัทก็คือน้ำมันปาล์ม ทางบริษัทชี้แจ้งว่าที่ผ่านมาราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวสูงขึ้นมาก ในขณะที่รายได้ไม่ได้โตขึ้นเท่าไหร่นัก จึงส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง

 

นอกจากราคาน้ำมันปาล์มแล้ว ต้นทุนการส่งออกก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย เพราะค่าระวางเรือที่สูงขึ้นรวมถึงตู้ขนส่งสินค้าที่ขาดแคลน จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงไปอีก จนเหลือ 845 ล้านบาทในไตรมาสล่าสุด

 

จริงอยู่ว่า ภาพรวมของธุรกิจ TFMAMA อาจจะไม่ได้รับผลกระทบนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่หลายบริษัทกำลังเผชิญอยู่

 

แต่ต้องไม่ลืมว่า สมการของกำไรสุทธิมาจาก “รายได้” ลบด้วย “รายจ่าย” ถ้าไม่รักษาสมดุลของทั้งสองสิ่งนี้ให้ดีพอ แม้ธุรกิจจะแข็งแกร่งก็มีวันที่เหนื่อยได้เช่นกัน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง

คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ 1/64 : https://www.set.or.th/set/pdfnews.do?newsId=16212061355461&sequence=2021059722

รายงานประจำปี 2563 : https://www.mama.co.th/imgadmins/file_annual/th_file/TH_annual_20210325142315.pdf

Factsheet : https://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=TFMAMA&ssoPageId=3&language=th&country=TH

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน