เศรษฐกิจ

ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 2564

ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 2564

ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 2564

 

ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ตั้งแต่ปี พ.ศ 2559 เป็นต้นมา และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) ในปีพ.ศ. 2564 [1] ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ [2] จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และถือเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ [3]

 

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่ประชากรวัยแรงงานลดลง [4] สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่านับจากปีพ.ศ.2563 ไปอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรวัยแรงงานและวัยเด็กมีแนวโน้มจะลดต่ำลง จากวัยแรงงาน 43.26 ล้านคนลดเหลือ 36.50 ล้านคน จากวัยเด็ก 11.20 ล้านคนลดเหลือ 8.40 ล้านคน ในขณะที่วัยผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคนเป็น 20.42 ล้านคน [5] เมื่อแรงงานขาดตลาด เจ้าของธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับขนาดธุรกิจให้เล็กลงไปด้วยเนื่องจากขาดแรงงาน นอกจากนี้ เมื่อแรงงานกลายเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ กำลังการบริโภคย่อมน้อยลงตามไปด้วย เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตช้าลง [2]

 

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลกระทบให้รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุมักเป็นผู้ที่ไม่ได้ทำงานและต้องพึ่งพิงสวัสดิการของรัฐ [3] รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับดูแลสุขภาพ จ่ายเงินบำนาญ รวมถึงการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในปีพ.ศ.2562 รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรวมทั้งสิ้น 719.11 ล้านบาท [6] นอกจากรัฐบาลแล้ว ลูกหลานที่เป็นวัยแรงงานยังต้องเตรียมเงินสำรองเพื่อใช้ดูแลผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้สูงอายุในประเทศไทยมักไม่มีแผนการใช้เงินหลังเกษียณ หรือประเมินจำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณต่ำกว่าความเป็นจริง [3] ผลสำรวจจากธนาคารออมสินในปีพ.ศ.2560 ชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 41 ไม่มีแผนการออมเพื่อวัยเกษียณ ผู้สูงอายุร้อยละ 29 มีหนี้ และผู้สูงอายุร้อยละ 28 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน อัตราการพึ่งพิงวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุมากถึง 4: 1 [1]

 

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั้งที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา แรงงานกลายเป็นผู้สูงอายุทั้งที่ยังไม่ร่ำรวย [3] ดังนั้น สังคมผู้สูงอายุจึงส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านตลาดแรงงาน กำลังบริโภค และงบประมาณที่รัฐต้องทุ่มเทเพื่อดูแลผู้สูงอายุ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้สังคมผู้สูงอายุส่งผลกระทบต่อประเทศได้น้อยที่สุด หากรัฐบาลสามารถกระตุ้นให้ผู้สูงอายุกลับมาทำงานได้ จะช่วยลดความเสี่ยงด้านแรงงานขาดตลาด ผู้สูงอายุจะมีรายได้และมีกำลังบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วขึ้น แต่หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ คนรุ่นใหม่จะต้องแบกรับภาษีที่รัฐบาลนำไปจ่ายสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงาน และต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวในขณะที่เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตต่ำต่อไป

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

รายการอ้างอิง

 

[1] ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน. (9 ตุลาคม 2560). Aging Society: มุมมองและผลกระทบ. สืบค้นจาก https://www.gsb.or.th/getattachment/375c741/Aging-Society-มุมมองและผลกระทบ-Inter.aspx

[2] สำนักวิชาการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2561) .สังคมผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย. สืบค้นจาก https://library2.parliament.go.th/ejournal/content_af/2561/jul2561-1.pdf

[3] EIC ARTICLE. (March 18, 2015). Ten million shades of grey: Plan now for aging Thailand. Retrieved from https://www.scbeic.com/th/detail/product/1191

[4] สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย. (กรกฎาคม 2561). สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย.

สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/AgePeriodCohort.pdf

[5] กรุงเทพธุรกิจ. (15 มกราคม 2553). สศช.ชี้แนวโน้มวัยทำงานลด สวนทางประชากรสูงวัยพุ่ง. สืบค้นจาก

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862069

[6] กรมกิจการผู้สูงอายุ. (ม.ป.ป.). รายงานการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี พ.ศ 2555 – 2562. สืบค้นจาก http://www.dop.go.th/th/know/1/274

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน