Economics of Climate Change เศรษฐศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในหัวข้อสำคัญที่เรียกได้ว่ากำลังถูกพูดถึงกันอย่างเข้มข้น ในเวลานี้คือ ประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “Climate Change” เมื่อการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกำลังสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลให้กับทรัพยากรธรรมชาติ การทำลายโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เกิดการหยุดชะงักในการพัฒนา ระบบเศรษฐกิจไม่เติบโต รวมไปถึงปัญหาด้านสุขภาพของผู้คน ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีความตื่นตัวที่จะพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศ
แน่นอนว่า หนึ่งในกลไกที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ เรื่องของเศรษฐศาสตร์ เมื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถือเป็นภาษีสังคมที่เกิดจากการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะ ภาคพลังงาน อุตสาหกรรม ขนส่ง และภาคธุรกิจต่าง ๆ ดังนั้น การนำเอาระบบเศรษฐศาสตร์เข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม จึงถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่มุ่งควบคุมการมีส่วนร่วมต่อภาวะโลกร้อนนั่นเอง
สำหรับเศรษฐศาสตร์สภาพภูมิอากาศนั้น มีขอบเขตคือ การวิเคราะห์นโยบายทางเศรษฐกิจที่ใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างแบบจำลองของผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบันได้มีการศึกษาเชิงทฤษฎี (theoretical studies) และเชิงประจักษ์ (empirical studies) จำนวนมากแสดงให้เห็นถึงข้อได้เปรียบที่สำคัญของนโยบายที่มุ่งเน้นในเรื่องของตลาดเป็นหลักว่า ทำให้เกิดแรงจูงใจมากกว่านโยบายประเภทสั่งการและควบคุม
นโยบายที่เน้นเรื่องตลาด หรือที่เรียกกันว่าตลาดคาร์บอน (Carbon Market) นั้น คือการสร้างกลไกที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนจำนวนปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่องค์กร หน่วยงาน หรือชุมชนหนึ่ง ๆ สามารถลดได้ จากกิจกรรมภายใน นำไปแลกเปลี่ยนเป็นตัวเงิน จากคนที่ต้องการจะซื้อ ซึ่งผู้ซื้ออาจจะเป็นองค์กรธุรกิจ หรือหน่วยงานที่จำเป็นจะต้องทำการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อไม่ให้เกินเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่สามารถลดเองได้ตามเป้าหมาย ก็สามารถที่จะมาซื้อปริมาณคาร์บอนจากผู้ขายที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องและมีมาตรฐาน เพื่อนำไปชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ได้นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการยกเว้นภาษีรายได้ ที่มาจากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องได้เป็นอย่างมาก ส่วนนโยบายประเภทสั่งการและควบคุม จะเน้นในเรื่องของการกำหนดบทลงโทษมากกว่า ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า แนวทางที่มุ่งเน้นตลาดมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่า และใช้ต้นทุนทางสังคมที่ต่ำกว่าแนวทางประเภทควบคุมเนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูง
สำหรับนักลงทุนเอง ต้องกล่าวว่านี่ถือเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง เพราะช่วงเวลานี้ ธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินก็เริ่มคำนึงถึงประเด็น “Climate Change” โดยมีการพิจารณาให้กู้สำหรับนักลงทุน ที่ต้องการจะทำการดำเนินธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาไปสู่ธุรกิจสะอาดของโลกอนาคต
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
https://www.imf.org/Publications/fandd/issues/2019/12/climate-change-central-banks-and-financial-risk-grippa
https://www.epa.gov/environmental-economics/economics-climate-change
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :