ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคคืออะไร สำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างไร?
ในการพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจ ดัชนีหลายอย่างมีส่วนสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจในภาพรวม ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) [1] และดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index-PPI) [2] รวมถึงความสำคัญของดัชนีเหล่านี้ที่มีต่อเศรษฐกิจ [3,4,5] ดังนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภค คือดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายเป็นประจำ ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต คือดัชนีที่ใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโดยเฉลี่ยที่ผู้ผลิตได้รับในช่วงเวลาหนึ่ง ดัชนีเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยดัชนีราคาผู้ผลิตมีอิทธิพลต่อดัชนีราคาผู้บริโภค เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าที่ผู้ผลิตขายในแต่ละเดือนมักเป็นไปตามวิกฤตการณ์เงินเฟ้อ เมื่อดัชนีราคาผู้ผลิตถูกประกาศออกมาแล้ว ก็มักจะส่งผลต่อดัชนีราคาผู้บริโภค เช่นในกรณีที่ดัชนีราคาผู้ผลิตได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ราคาสินค้าที่ผู้ผลิตขายมีราคาสูงขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคจึงมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
ดัชนีเหล่านี้สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ ดังนั้น ดัชนีทั้งสองนี้จึงได้รับการพิจารณาเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลจากดัชนีเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมในหลายกิจการ ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา สำนักสถิติแรงงานมีหน้าที่คำนวณดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภค ในการเก็บข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต สำนักสถิติรวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตมากกว่า 25,000 ราย ราคาของสินค้าบริการมากกว่า 100,000 ชนิด เพื่อสรุปดัชนีราคาผู้ผลิตในแต่ละเดือน และในการเก็บข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค สำนักสถิติรวบรวมข้อมูลจากผู้บริโภคประมาณ 24,000 รายต่อเดือน
เมื่อพิจารณาการเก็บข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคในไทย จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2486 โดยเก็บข้อมูลจากสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม 2) หมวดเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า 3) หมวดเคหสถาน 4) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 5) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร 6) หมวดการบันเทิง การอ่าน และการศึกษาและ 7) หมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสำรวจค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชากรในแต่ละเดือน ส่วนการเก็บข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตในไทย มีการรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าในทุกเดือน
การเก็บข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตในไทยมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ ข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตมีส่วนสำคัญในการแสดงให้เห็นทิศทางการขึ้นราคาของผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ เช่น หากข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตชี้ให้เห็นว่าสินค้าเกษตรกรรมที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น ราคาสินค้าทางการเกษตรก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย และดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในทางการเกษตรก็จะขึ้นสูงด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันนี้ ดัชนีเหล่านี้มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวัดอัตราเงินเฟ้อของประเทศ การพิจารณาแนวทางสำหรับประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ การปรับค่าจ้างเงินเดือนของข้าราชการและเอกชน หรือการพิจารณาเงินเดือน สวัสดิการ เงินบำนาญ และเงินช่วยเหลือ การคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ รวมถึงการคำนวณค่าเงินที่แท้จริง และการปรับราคาเพื่อจัดทำ GDP หากท่านผู้อ่านสนใจศึกษาข้อมูลของดัชนีดังกล่าวเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ของฐานข้อมูลเศรษฐกิจการค้า ดังนี้ https://www.price.moc.go.th/th/home
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] ธนาคารกรุงศรีอยุธยา. (2564). Consumer Price Index (CPI). สืบค้นจาก https://www.krungsri.com/th/personal/mutual-fund/knowledge/glossary/c/consumer-price-index
[2] ธนาคารกรุงศรีอยุธยา. (2564). Producer Price Index (PPI). สืบค้นจาก https://www.krungsri.com/th/personal/mutual-fund/knowledge/glossary/p/producer-price-index
[3] FxPro. (2566). PPI (Producer Price Index) (ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI)). สืบค้นจาก https://www.fxpro.co.th/help-section/traders-glossary/ppi-producer-price-index
[4] Forbes. (October 25, 2022). PPI vs. CPI: Understanding The Producer Price Index And Consumer Price Index As An Investor. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/qai/2022/10/25/ppi-vs-cpi-understanding-the-producer-price-index-and-consumer-price-index-as-an-investor/
[5] ดัชนีราคาผู้บริโภค. สืบค้นจาก http://price.moc.go.th/price/cpi/handbook/book_cpi_base_45.html
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :