อุตสาหกรรมเครื่องสำอางถือเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สดใส ด้วยขนาดตลาดในประเทศที่ใหญ่กว่า 1 แสนล้าน และอัตราการเติบโตทบต้นย้อนหลังเกือบ 10% เครื่องสำอางจึงกลายเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่ได้รับการจับตามองจากนักธุรกิจและนักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังตลาดหุ้นไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจเครื่องสำอางแล้วมีการเติบโตที่ดีหลายบริษัท จึงทำให้ตลาดเครื่องสำอางจึงกลายเป็นสตอรี่ใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้เมกะเทรนด์อื่นๆ ที่เคยได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบหลักด้วยกัน
1 ผู้ผลิตสินค้า
ผู้ผลิตสินค้า คือ โรงงานผู้ทำการผลิตสินค้าเครื่องสำอางขึ้นมาเพื่อทำการจำหน่าย การผลิตสินค้ามีหลายลักษณะ ทั้งการรับจ้างผลิต (OEM) เช่น S&J หรือการผลิตแบรนด์ของตนเอง (OBM) ซึ่งมีทั้งผู้ผลิตที่เป็นแบรนด์ระดับโลก อย่าง Nivea, Eucerin หรือ Biore รวมไปถึงผู้ผลิตที่เป็นแบรนด์ของไทยเอง เช่น Mistine, Snailwhite, BSC
2 ผู้นำเข้าสินค้า
ผู้นำเข้าสินค้า คือ บริษัทที่ได้สิทธิ์ในการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางที่ผลิตในต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีทั้งบริษัทที่เป็นบริษัทย่อยของแบรนด์เอง เช่น LVMH Loreal ELCA บริษัทที่เป็นบริษัทร่วมค้ากับบริษัทในประเทศไทย เช่น Shiseido, Kanebo รวมไปถึงบริษัทไทยที่ได้รับสิทธิ์การจัดจำหน่าย เช่น ICC, OCC, MINT เป็นต้น
3 ผู้จัดจำหน่ายสินค้า
ผู้จัดจำหน่ายสินค้า คือ บริษัทที่ทำธุรกิจกระจายสินค้าให้ไปถึงจุดจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ซึ่งบริษัทอาจจะเป็นเจ้าของแบรนด์เอง อย่าง Made in nature, Gino Mccrey หรือ Magique หรือจะเป็นเพียงผู้จัดจำหน่ายเพียงอย่างเดียวก็ได้ เช่น DKSH
4 ร้านค้าปลีก
ธุรกิจค้าปลีกถือเป็นอีกสัดส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่มีความสามารถในการต่อรองสูง เนื่องจากเครื่องสำอางเป็นธุรกิจที่มีแบรนด์ในท้องตลาดจำนวนมาก และเจ้าของแบรนด์มักมุ่งเน้นการทำการตลาดมากกว่าการสร้างช่องทางค้าปลีกของตนเอง ร้านค้าปลีกจึงเข้ามามีบทบาทในฐานะคนกลางระหว่างเจ้าของแบรนด์กับผู้บริโภค
ร้านค้าปลีกที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักของเครื่องสำอางมี 5 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
– ห้างสรรพสินค้า เช่น Central, The Mall, Siam Piwat
– ซูเปอร์มารเก็ต/ไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น Tops, BigC, Tesco
– ร้านค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านเครื่องสำอาง Beauty Buffet, Karmart shop, Stardust, Eve and boy ร้านขายยา Boots, Watson, Fascino
– ร้านสะดวกซื้อ เช่น Seven eleven, BigC mini, Lotus Express, Lawson, Family mart
– ร้านค้าออนไลน์ เช่น Lazada, Central online และ ตลาด SME ในเฟสบุ๊คและอินสตาแกรม
5 ผู้บริโภค
ผู้บริโภคที่จับจ่ายซื้อเครื่องสำอางในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้บริโภครายย่อยทั่วไป นักท่องเที่ยว (48% ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศไทยซื้อเครื่องสำอาง) และร้านบิวตี้ซาลอน ซึ่งถือเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่มีการซื้อเครื่องสำอางเข้าร้านเป็นประจำและต่อเนื่อง
ครบภาพอุตสาหกรรมทั้ง 5 ส่วนของเครื่องสำอางแล้ว
ความจริงลักษณะอุตสาหกรรมเครื่องสำอางก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับลักษณะอุตสาหกรรมจำพวก FMCGs อีกหลายชนิด การศึกษาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางก็อาจจะช่วยให้เห็นภาพตลาดเครื่องสำอางได้ดีขึ้น แถมอาจจะช่วยให้เข้าใจธุรกิจอื่นง่ายขึ้นอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมเรื่องหุ้นเครื่องสำอาง : ศึกชิงบัลลังก์เจ้าแม่เครื่องสำอางไทย)
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :