การลงทุน

BAFS vs SEAOIL ศึกระหว่างท้องฟ้าและมหาสมุทร

BAFS

BAFS หรือบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2526 ด้วยทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ดําเนินการตามความเห็นและมติสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการจัดตั้ง โครงการเติมน้ำมันอากาศยาน (อ่านเพิ่มเติมเรื่องหุ้นท่าอากาศยาน : ACV = AOT เวียดนาม)

 

บริษัทประกอบธุรกิจหลัก คือการให้บริการระบบจัดเก็บและเติม น้ำมันอากาศยานในท่าอากาศยาน 5 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง สมุย สุโขทัย และตราด โดยมีขอบเขตการให้บริการประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้

 

  1. การจัดเก็บน้ำมันอากาศยานที่สถานีบริการจัดเก็บน้ำมันอากาศยาน (Aviation Fuel Depot)
  2. การส่งน้ำมันอากาศยานผ่านระบบโครงข่ายท่อแรงดันสูง (Hydrant Pipeline Network)
  3. การให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน (Into- Plane Services)

 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการพลังงานผ่านบริษัทย่อย 3 บริษัทประกอบด้วย

 

  1. บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จํากัด (TARCO) ให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อใต้ดิน ณ ท่า อากาศยานสุวรรณภูมิ
  2. บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (FPT) ให้บริการเก็บรักษาและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงแบบ Multi Product ผ่านท่อ ใต้ดินจากโรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมันช่องนนทรีไปยังสถานีบริการนํ้ามันอากาศยานสุวรรณภูมิ สถานีบริการ น้ำมันอากาศยานดอนเมืองและสิ้นสุดที่คลังน้ำมันภาคพื้นดินบางปะอิน
  3. บริษัท บริการน้ำมันอากาศยาน จํากัด (IPS) ให้บริการรับเหมาแรงงานเติมน้ำมันอากาศยานที่ท่าอากาศยานสมุย สุโขทัย และตราด

 

รายได้หลักของบริษัทมาจากบริษัทแม่ ประมาณ 60% จากการให้บริการสถานี จัดส่ง และเติมน้ำมันอากาศยาน อีก 20% มาจาก TARCO ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ และ 20% สุดท้ายมาจาก FPT ที่ทำธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อจากโรงกลั่นและคลังไปยังสถานีบริการเพื่อกระจายสู่ภูมิภาคต่อไป

 

SEAOIL หรือบริษัท ซีออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทนกลุ่มนทลิน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยบริษัททำธุรกิจจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้กับเรือเดินทะเล เช่น เรือขนส่งสินค้า เรือบรรทุกน้ำมัน เรือประมง และเรือห้องเย็น เป็นต้น ซึ่งลูกค้าของบริษัท ได้แก่ เรือเดินทะเลภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และเรือที่มาจากต่างประเทศด้วย ในปี 2553 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจจัดหาน้ำมันให้กับลูกค้าทางบกเพิ่มเติม โดยมีกลุ่มลูกค้า ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจขนส่งโดยสาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลูกค้าในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา พม่า อีกด้วย

 

รูปแบบการทำธุรกิจคือลูกค้าจะสั่งซื้อน้ำมันมาที่บริษัท และบริษัทจะสั่งซื้อไปยังผู้ผลิตน้ำมันหรือผู้ขนส่งน้ำมันต่อ โดยบริษัทไม่มีการลงทุนในคลังน้ำมันหรือพาหนะขนส่งน้ำมัน ในกรณีที่ลูกค้าต้องการให้ไปส่งน้ำมันถึงกลางทะเล บริษัทจะจัดจ้างพาหนะขนส่งไปขนส่งให้กับลูกค้าโดยมีคนของบริษัทร่วมเดินทางไปเพื่อตรวจสอบคุณภาพในการขนส่งด้วย

 

นอกจากธุรกิจจัดจำหน่ายน้ำมันแล้ว บริษัทยังมีบริการจัดหาอาหารและบริการสนับสนุนพนักงานแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซทั้งทางบกทางทะเลอีกด้วย เช่น การให้บริการด้านอาหาร การทำความสะอาด และการซักรีด

 

SEAOIL ยังถือหุ้นในบริษัทร่วมค้า แพน โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ (สยาม) ลิมิเต็ด (POES) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและสำรวจปิโตรเลียมบนบกในประเทศไทย ได้ครอบครงสัมปทานที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 20 ปี

 

รายได้หลักของ SEAOIL มาจากการจำหน่ายน้ำมันประมาณ 95% โดยแบ่งเป็นลูกค้าทางทะเล 90% และลูกค้าทางบก 5% นอกเหนือจากนั้นจะเป็นรายได้จากการบริการสนับสนุนลูกค้าทางทะเล 5% ในขณะที่บริษัทร่วมค้า POES ยังไม่สร้างผลกำไร รวมไปถึงบริษัทย่อย NPC ซึ่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีก็ยังไม่มีรายได้

 

เปรียบเทียบ BAFS vs SEAOIL

 

ธุรกิจหลัก : ทั้ง 2 บริษัทต่างมีลักษณะเป็นธุรกิจบริการทั้งคู่ โดย BAFS จะบริการจัดเก็บ ขนส่ง และเติมน้ำมันอากาศยาน ในขณะที่ SEAOIL จะมีลักษณะเหมือน trading หรือซื้อมาขายไปน้ำมันเป็นหลัก จากภาพรวม ธุรกิจบริการถือมีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างสูงกว่า และยังได้รับสัมปทานกึ่งผูกขาดจากรัฐ ในขณะที่ SEAOIL เป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เรือเดินทะเลสามารถเลือกซื้อน้ำมันได้ตามใจชอบ

 

กลุ่มลูกค้าและภาคอุตสาหกรรม : กลุ่มลูกค้าหลักของ BAFS คืออากาศยานซึ่งอิงกับภาคท่องเที่ยวและเดินทางทางอากาศเป็นหลัก การติดตามบริษัทจึงควรมุ่งเน้นไปที่จำนวนสายการบินและนักท่องเที่ยวในแต่ละปี ในขณะที่ SEAOIL มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นเรือเดินทะเลซึ่งอิงกับเศรษฐกิจโลก ทั้งภาคนำเข้าและส่งออก การติดตามธุรกิจจึงต้องดูภาพรวมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการขนส่งระหว่างประเทศ

 

ผู้ถือหุ้นใหญ่ : ผู้ถือหุ้นใหญ่หลักของ BAFS คือสายการบิน บริษัทน้ำมัน และท่าอากาศยาน ทำให้บริษัทมีแรงเกื้อหนุนจากผู้ถือหุ้นอยู่มาก เนื่องจากเป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญซึ่งกันและกัน ในขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SEAOIL คือกลุ่มนทลิน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ฝูงเรือ PRM ซึ่งก็จะเอื้อประโยชน์ในการเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของ SEAOIL เช่นกัน

 

ความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน : ทั้งสองบริษัทถือว่ามีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันต่ำทั้งคู่ เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการและเน้นการคิดค่าบริการแบบไม่อิงกับราคาน้ำมันเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม SEAOIL มีธุรกิจย่อยเป็นบริษัทขุดเจาะปิโตรเลียมและบริษัทปิโตรเคมี ซึ่งบริษัทตรงนี้จะได้รับผลจากราคาน้ำมันโดยตรง

 

งบการเงิน (ปี 2559) รายได้ของทั้งคู่อยู่ใกล้เคียงกันที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท แต่ BAFS มีกำไรประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ SEAOIL ขาดทุนอยู่ประมาณ 23 ล้านบาท สิ่งสำคัญที่สร้างความแตกต่างคือลักษณะการประกอบธุรกิจที่บาฟให้บริการที่ซับซ้อนมากกว่าและกึ่งผูกขาดมากกว่า ทำให้เรียกอัตรากำไรขั้นต้นได้สูงถึง 56.62% ในขณะที่ธุรกิจเทรดดิ้งของ SEAOIL นั้นถือว่ามีการแข่งขันสูงและผู้เล่นรายใหม่เข้าตลาดมาได้โดยง่าย ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่เพียง 7.37% ตามลักษณะการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป สุดท้ายถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีรายได้ใกล้เคียงกันมาก แต่มูลค่ากิจการตามราคาตลาดของทั้งคู่ก็ต่างกันอยู่มากพอสมควร โดย BAFS มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท ในขณะที่ SEAOIL มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท เรียกว่าต่างกันถึง 20 เท่าทีเดียว

 

บทความนี้ไม่มีเจตนาจะชี้นำว่าหุ้นไหนดีไม่ดี หรือแนะนำซื้อ ถือ ขาย เพียงแต่นำลักษณะการประกอบธุรกิจที่น่าสนใจมาเปรียบเทียบกันเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับนักลงทุนได้ไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์กิจการอื่นๆ อีกต่อไป

 

 

ปัจจัยเปรียบเทียบ

 

 

BAFS

 

SEAOIL

1 ธุรกิจหลัก จัดเก็บ ขนส่ง และเติมน้ำมัน ซื้อมาขายไปน้ำมัน
2 ลักษณะธุรกิจ Service Trading
3 กลุ่มลูกค้าหลัก อากาศยาน เรือเดินทะเล
4 ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การเดินทางทางอากาศ การขนส่งทางทะเล
5 คุณค่าของธุรกิจหลัก สูง ปานกลาง
6 การแข่งขันในอุตสาหกรรม ต่ำ สูง
7 การลงทุนในระบบขนส่ง ลงทุน ไม่ลงทุน
8 ความภักดีของลูกค้า ปานกลางถึงสูง ปานกลางถึงต่ำ
9 ทรัพยากรหลัก สัมปทาน (มาก) สัมปทาน (น้อย)
10 ผู้ถือหุ้นใหญ่ สายการบิน

บริษัทน้ำมัน

ท่าอากาศยานไทย

กลุ่มนทลิน
11 ความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน ต่ำ ปานกลาง
12 แนวโน้มอุตสาหกรรม อิงภาคขนส่งและท่องเที่ยว อิงภาคพลังงาน

 

 

งบเปรียบเทียบ (ปี 2559)

 

 

BAFS

 

SEAOIL

1 รายได้ 3,564.69 ล้านบาท 3,787.45 ล้านบาท
2 กำไรสุทธิ 1,097.12 ล้านบาท -23.98 ล้านบาท
3 อัตรากำไรขั้นต้น 56.62% 7.37%
4 อัตรากำไรสุทธิ 29.56% -0.63%
5 ROE 19.14% -2.16%
6 D/E 0.79 เท่า 1.04 เท่า
7 เงินสด 4,148.23 ล้านบาท 254.54 ล้านบาท
8 มูลค่าตามราคาตลาด 29,802.95 ล้านบาท 1,494.55 ล้านบาท

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน