สรุปวิกฤต Tulip Mania : เมื่อดอกไม้ราคาแพงกว่าบ้าน
เมื่อพูดถึงวิกฤตทางการเงิน คำว่า “ต้มยำกุ้ง” อาจผุดขึ้นมาในความคิดของหลายๆ คนเป็นอันดับแรก เพราะนี่คือวิกฤตที่คนไทยได้ประสบพบเจออย่างใกล้ชิดที่สุด และอาจจะน่ากลัวที่สุดด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะวิกฤตในครั้งนั้นทำให้คนไทยต้องสูญเงินมหาศาล หรือบางคนอาจถึงขั้นสูญสิ้นชีวิต
วิกฤตทางการเงินทั้งหลายมักจะมาจากสิ่งที่ซับซ้อน วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 มาจากการเปิดเสรีทางการเงินที่มีชื่อสุดเท่ว่า BIBF วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 มาจากตราสารที่เรียกว่า CDS หรือ MBS ดูเหมือนว่ายิ่งโลกการเงินดูงงงวยเท่าไหร่ มันก็ยิ่งมีวิกฤตเกิดได้ง่ายเท่านั้น
แต่ถ้าลองขุดให้ลึกลงไปในชื่ออันซับซ้อนที่พรางตาเราอยู่ วิกฤตทั้งหลายมันล้วนมาจากสาเหตุเดียวกัน มาจากคำสั้นๆ ที่เรียกว่า “ความโลภ” นั่นแปลว่า วิกฤตไม่ได้เป็นของใหม่ มันอาจเกิดขึ้นมานานแล้วก่อนที่เราจะมีชีวิตเสียอีก และวิกฤตทางการเงินครั้งแรกที่เกิดขึ้นย้อนไปได้ไกลถึงปี 1636 ทีเดียว วิกฤตที่มีชื่ออันสวยงามว่า “วิกฤตดอกทิวลิป” หรือที่รู้จักกันในชื่อ Tulip Mania
เพนท์เฮาส์ในกำมือ
วิกฤตดอกทิวลิป (Tulip Mania) เป็นวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1636-1637 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เพียงแค่ชื่อก็บอกแล้วว่ามันมีที่มาจากดอกทิวลิป ก่อนหน้านั้นเนเธอร์แลนด์ยังไม่มีดอกทิวลิป ยุโรปก็ยังไม่มีทิวลิป มันเป็นสินค้าต่างแดนที่มาจากประเทศตุรกี ด้วยความที่เป็นของแปลกใหม่นี้เอง มันจึงเป็นดอกไม้หายากที่ใครๆ ต่างก็อยากจับจอง ราคาของมันจึงค่อยๆ สูงขึ้นทีละนิด ทีละนิด
การซื้อขายดอกทิวลิปเขาไม่ได้เริ่มซื้อกันตอนที่มันบานแล้ว พ่อค้าแม่ค้าหยิบเอามาเทรดกันตั้งแต่มันยังเป็นหัวด้วยซ้ำไป เพราะธรรมชาติของดอกทิวลิปจะใช้เวลาเป็นปีถึงจะเบ่งบานได้ นอกจากจะซื้อขายกันตั้งแต่ยังเป็นหัว ผู้ปลูกทิวลิป รวมถึงพ่อค้าคนอื่นๆ ยังเริ่มทำการซื้อขายทิวลิปด้วยสัญญาล่วงหน้า (Future) ความหมายง่ายๆ ก็คือซื้อขายหัวทิวลิปกันด้วยกระดาษ จ่ายเงินมหาศาลเพื่อกระดาษใบเดียว นั่นแปลว่าเครื่องมือทางการเงินอันซับซ้อนก็มีมาตั้งแต่สมัยบ้านเรายังรบกับพม่า
ถ้าดอกทิวลิปสีพื้นๆ ธรรมดาก็ยังไม่ได้แพงเท่าไหร่ แต่หัวดอกทิวลิปไหนที่มีหลายสี มีลาย หรือมีจุดแปลกๆ พวกนี้ล่ะคือหัวทิวลิปที่มีราคาสูงลิบลิ่วชนิดที่ว่าซื้อบ้านได้หนึ่งหลังแล้วยังเหลือเงินตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ครบชุดอีกด้วย เพื่อให้เห็นภาพ ว่ากันว่าหัวทิวลิปราคาแพงที่สุดตอนนั้นซื้อขายกันที่ราคาประมาณ 5,000 ฟลอรินส์ มีคนลองเทียบแล้วคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันราวๆ 750,000 เหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 23 ล้านบาท ทิวลิปหนึ่งหัวราคาพอๆ กับเพนท์เฮาส์ย่านสาทรยังไงยังงั้นเลย
สุดท้ายฟองสบู่ก็แตก
ว่ากันว่าความนิยมในดอกทิวลิปสูงถึงขั้นมีการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศราวกับเป็นหุ้นบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ทุกสิ่งล้วนมีวัฏจักร สิ่งที่คนเคยให้ค่าอย่างดอกทิวลิปก็เริ่มถูกคนเทขายกันอย่างไร้ปราณีเมื่อเริ่มตระหนักได้ว่าดอกไม้มันก็เป็นเพียงดอกไม้ เมื่อราคาร่วงหล่น มันก็นำพาชีวิตอันรุ่งโรจน์ของใครหลายคนให้ร่วงโรยตามไป มูลค่าของมันกลับสู่จุดที่ควรจะเป็นอีกครั้ง
แต่มันเป็นจริงหรือ
นับจากนั้นมา คำว่า Tulip Mania มักจะถูกหยิบยกไปเปรียบเปรยกับวิกฤตทางการเงินหรือฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างล่าสุดเมื่อราวปี 2018 ที่ราคา Bitcoin พุ่งไปสูงถึง 20,000 เหรียญ คนก็บอกว่ามันคือ Tulip Mania 2.0 เพื่อสื่อถึงความบ้าคลั่งในการเก็งกำไรที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือเว็บไซต์ไหนก็พูดในมุมเดียวกันว่าวิกฤตดอกทิวลิปคือหายนะทางทุนนิยม แต่น่าแปลก ไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นจริงหรือ ?
มันเกิดขึ้นจริง เพียงแต่ว่ารายละเอียดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นความจริงเท่าไหร่ ก็เหมือนนิยายทุกเรื่องที่มีการใส่สีตีไข่เป็นธรรมดา วิกฤตทิวลิปก็เป็นหนึ่งในนั้น
อย่างแรกก็คือ วิกฤตครั้งนี้ทำให้ราคาทิวลิปถูกปั่นขึ้นไปสูงมากก็จริง แต่ดอกทิวลิปมันมีราคาแพงของมันอยู่แล้ว อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า ดอกทิวลิปเป็นของหายากในสมัยนั้น ราคามันจึงแพงด้วยตัวของมันเอง
ประการต่อมา วิกฤตดอกทิวลิปไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไรของคนหมู่มาก แต่เป็นเพราะราคาที่สูงขึ้นด้วยตัวของมันเองบวกกับการซื้อขายของกลุ่มคนแค่ไม่กี่กลุ่ม มันไม่ได้มีการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์อย่างที่หลายคนเชื่อกัน เป็นเพียงการขายที่ตลาดหรือขายกับคนรู้จักกันเสียมากกว่า ราคาจึงไม่ได้พุ่งพรวดเพราะมหาชนแห่เข้ามาเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง เป็นเพียงการตกลงปลงใจกันของคนแค่ไม่กี่คนเท่านั้น
ประการสุดท้าย Tulip Mania ไม่ได้ส่งผลกระทบวงกว้างอย่างที่เราคิด เพราะการซื้อขายก็จำกัดแค่คนที่รู้จักกัน ฟองสบู่ที่ว่าล่มสลายจึงอาจเป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่เกินจริง ราคาดอกทิวลิปตกเพียงเพราะหัวของมันปลูกไม่ทันต่อความต้องการมากกว่า ไม่มีบันทึกอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำไปว่ามีคนเดือดร้อนจากวิกฤตดอกทิวลิป เราจึงไม่อาจสรุปได้ว่าวิกฤตตรั้งนี้เป็นหายนะทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ อาจมีฟองสบู่จริงนะ ราคาถูกไล่ขึ้นไปและตกลงมาแรงจริงนะ แต่อาจไม่ได้เกิดความเสียหายอย่างที่เราคิด
อย่างไรก็ตาม วิกฤตดอกทิวลิปยังคงให้บทเรียนเราได้ดีเสมอถึงความไร้เหตุผลของมนุษย์ที่ยินดีจ่ายในราคาแพงหูฉี่ให้กับอะไรก็ตามที่เชื่อว่ามันดี แม้ระทั่งดอกทิวลิปที่มีหลายสี มีลาย หรือมีจุด ทั้งที่มันเป็นดอกทิวลิปที่ติดโรค แล้วลองคิดดูเล่นๆ ว่า สินทรัพย์ทางการเงินมากมายในยุคนี้ หรือบริษัทมากมายในตลาดหุ้น ที่มีสตอรี่ดูดี อนาคตดูรุ่งโรจน์ จะสามารถล่อหลอกความโลภของคนได้ดีขนาดไหน
ฟองสบู่ทิวลิปที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรายังรบพับพม่า จนวันนี้เรากำลังจะไปตั้งรกรากบนดาวอังคารแล้ว แต่ความโลภของมนุษย์ก็ยังสร้างหายนะได้เสมอ
พอร์ตการลงทุนของเรามีดอกทิวลิปหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เราต้องระวัง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
1637: Tulip Mania Crisis – tulipcrisis.wordpress.com
Dutch Tulip Bulb Market Bubble Definition – investopedia.com
Tulip mania: the classic story of a Dutch financial bubble is mostly wrong – theconversation.com
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :