เศรษฐกิจ

ความรักท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อ การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์

ความรักท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อ การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์

ความรักท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อ การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์

 

วันของความรักคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี หลายประเทศมีการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ทั้งการหาซื้อตุ๊กตา ของขวัญ ช็อกโกแลต การ์ด และสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2023 นี้ แต่ละประเทศต่างก็ประสบกับภาวะเงินเฟ้อ ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจสถานการณ์การใช้เงินในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจกลุ่มประชากรในสหรัฐอเมริกา รายงานโดย Forbes [1] และข้อมูลของกลุ่มประชากรชาวไทย โดย มหาวิทยาลัยหอการค้า [2, 3] ดังนี้

 

จากการสำรวจโดย NRF ที่เก็บข้อมูลจากประชากร 7,616 รายในสหรัฐอเมริกา เป็นที่คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์จะมีเงินสะพัดมากกว่า 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในปีที่แล้วถึงร้อยละ 8 ผู้คนต้องการมีส่วนร่วมในเทศกาลของความรัก ทั้งคนที่มีคู่แล้ว และคนที่ยังโสด คนที่ยังโสดมีแผนเตรียมการฉลองให้รางวัลกับตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการซื้อของขวัญให้ตัวเอง พาตัวเองไปท่องเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิท

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยด้านเงินเฟ้อ ผู้คนส่วนมาก (ร้อยละ 57) ระบุว่าวิกฤตเงินเฟ้อส่งผลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายในช่วงวาเลนไทน์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลจากการสำรวจความตั้งใจที่จะซื้อของขวัญในช่วงเทศกาล ผู้คนส่วนมาก (ร้อยละ 63) ตั้งใจว่าจะซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลอย่างแน่นอน ความตั้งใจในการใช้จ่ายเงินเฉลิมฉลองนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาที่ทำให้ผู้คนต้องการมีส่วนร่วมในเทศกาลให้มากที่สุดเมื่อมีโอกาส

 

ต่อมา เมื่อพิจารณาผลการสำรวจในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อไม่สามารถหยุดยั้งการเฉลิมฉลองของผู้คนด้วยเช่นกัน จากการสำรวจโดยม.หอการค้า (สำรวจชาวไทย จำนวน 1,255 ราย) ผู้คนมีแนวโน้มจะใช้เงินมากถึง 2,389 ล้านบาท จำนวนเงินดังกล่าวนี้มากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 15 หากจำแนกผลการสำรวจดังกล่าวตามช่วงอายุ จะเห็นได้ว่า ผู้คนที่อยู่ในเจน X มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินในช่วงวันวาเลนไทน์มากที่สุด 1,666 บาทต่อคน รองลงมาได้แก่ผู้คนเจน Y ที่มีแนวโน้มจะใช้จ่ายเฉลี่ย 1,251 บาทต่อคน และท้ายที่สุด ได้แก่ผู้คนเจน Z ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 823 บาทต่อคน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของเงินเฟ้อในไทย จะเห็นได้ว่า เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อการเฉลิมฉลองเทศกาลวาเลนไทน์ของคนไทยมากพอสมควร ประชากรจากการสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50.8) เลือกที่จะไม่ออกไปเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาล เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

 

ผลการสำรวจทั้งในไทยและในสหรัฐอเมริกาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้คน แต่เทศกาลวาเลนไทน์ซึ่งเป็นวันของความรักยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญอยู่เสมอมา

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Shelley E. Kohan. (February 3, 2023). Valentine’s Day Spending Is Expected To Hit $26 Billion, One Of The Highest On Record. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/shelleykohan/2023/02/03/cupid-is-not-fretting-over-higher-prices-for-valentines-day/?sh=2c5bb9d3109f
[2] โพสต์ทูเดย์. (8 กุมภาพันธ์ 2566). ม.หอการค้าเปิดผลสำรวจจับจ่ายวันวาเลนไทน์ เงินสะพัดราว 2.39 พันล้านบาท. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/business/financial/690452
[3] มติชนออนไลน์. (7 กุมภาพันธ์ 2566). ผลสำรวจชี้ ปชช.เกินครึ่ง ‘ไม่ฉลองวาเลนไทน์’ เหตุของแพง ไม่กล้าใช้เงิน. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/economy/news_3811095

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน