เศรษฐกิจ

7 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในความเห็นของ Jeffrey Sachs

7 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในความเห็นของ Jeffrey Sachs

7 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในความเห็นของ Jeffrey Sachs

 

Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้โด่งดังได้รับการยอมรับนับถือในการวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลกอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากการให้สัมภาษณ์และการเป็นเจ้าของหนังสือขายดีระดับเบสท์เซลเลอร์อยู่มากมาย [1, 2] และในปี ค.ศ. 2023 ที่โลกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อมาจากผลพวงของโรคระบาดและสงคราม รวมกำลังเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาของเอไอ Jeffrey Sachs ก็ได้แสดงความเห็นถึงปัจจัยสำคัญทั้ง 7 ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ [3]

 

ปัจจัยแรก คือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาห้ำหั่นกันทางการค้า รัสเซียและยูเครนสู้กันเรื่องดินแดน และปลายทางของความขัดแย้งก็ไม่มีแนวโน้มว่าใครจะได้รับผลดีกว่ากันแต่อย่างใด ยิ่งความขัดแย้งยืดเยื้อ เศรษฐกิจก็ยิ่งเสียหาย และประเทศทั้งหลายทั่วโลกก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ปัจจัยต่อมา คือกำลังการผลิตที่ลดลง ผลิตภาพทั่วโลกลดลงต่อเนื่องตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังแรงงานคนที่ลดลง รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลงไปทุกทีมีส่วนเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ผลิตภาพทั่วโลกลดลง และส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะงักงันไปด้วย

 

ปัจจัยที่สาม การพัฒนาของเอไอกำลังเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงาน อาชีพที่เคยเป็นที่ต้องการมีแนวโน้มจะถูกทดแทนด้วยเอไอ ทำให้ผู้คนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ งานที่เคยได้รับค่าแรงเต็มที่อาจถูกหักแบ่งเมื่อเจ้าของกิจการต้องการใช้เอไอทำงานทดแทนเพื่อประหยัดต้นทุนในการจ้างงาน ทำให้ผู้คนมีรายได้ลดลง และส่งผลกับเศรษฐกิจในท้ายที่สุด

 

ปัจจัยที่สี่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นสะสมต่อเนื่องยาวนาน และรัฐบาลก็ไม่อาจควบคุมความเป็นไปของเศรษฐกิจได้เสมอไป ไม่เร็วก็ช้า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังนับถอยหลังเวลาที่จะเป็นระเบิดลูกใหม่ที่ทั่วโลกต้องรับมือ แม้ในขณะนี้ ปัญหาเศรษฐกิจล่มสลายก็เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ

 

ปัจจัยที่ห้า วิกฤตการณ์เงินเฟ้อ มาตรการควบคุมเงินเฟ้อส่งผลให้ดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น ข้าวของมีราคาแพงขึ้น ผู้คนทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ผู้คนต้องรัดเข็มขัดระววังการใช้จ่าย และวิกฤตการณ์นี้ก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปในระยะยาว

 

ปัจจัยที่หก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในปีนี้ หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การคมนาคมขนส่ง และยังก่อให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงที่ทำลายทั้งทรัพย์สินและชีวิต

 

ปัจจัยข้อสุดท้าย การอพยพย้ายถิ่นฐาน ในปีนี้ จำนวนผู้อพยพเพิ่มมากขึ้นด้วยสาเหตุทางสงคราม จำนวนประชากรโลกมีความเปลี่ยนแปลง การย้ายประเทศของผู้คนเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสสำหรับประเทศปลายทาง หากผู้อพยพสามารถเป็นแรงงานที่ดีได้ การรับผู้อพยพก็อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจได้ด้วยเช่นกัน

 

จากปัจจัยทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าทุกประเทศทั่วโลกต่างก็เผชิญกับความไม่แน่นอนของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยปัจจัยที่ไม่แตกต่างกัน จากนี้ไป เราคงได้แต่เฝ้าดูกันต่อไปว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นเช่นไร ท่ามกลางปัจจัยที่สั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งหลายเหล่านี้

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Jeffrey D. Sachs. (2023). Jeffrey D. Sachs. Retrieved from https://www.jeffsachs.org
[2] Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2023, March 24). Jeffrey D. Sachs. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/biography/Jeffrey-D-Sachs
[3] CNBC. (July 12, 2023). What Are The Biggest Threats To Economic Stability: Jeffrey Sachs. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=a5_Bazvjfb0&ab_channel=CNBC

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน