พอกันดีชีวิตที่ไม่มีเงินเก็บ เคล็ดลับ 4 ข้อสู่การเลิกใช้เงินเดือนชนเดือน
เงินเดือนคือความหวังของผู้คนในการต่อชีวิตยามสิ้นเดือน แต่คงจะดีกว่าหากความหวังในชีวิตไม่ต้องพึ่งพิงกับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันนี้ ผู้คนมากมายยังคงใช้ชีวิตแบบที่เรียกว่า living paycheck to paycheck ซึ่งหมายถึงการใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอเคล็ดลับ 4 ข้อสู่การออกจากวังวนของการใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]
เคล็ดลับข้อแรกสู่การออกจากการใช้เงินเดือนชนเดือน คือการทบทวนก่อนว่าใช้เงินแต่ละเดือนหมดไปกับสิ่งใด หากเงินเดือนที่ได้หมดไปจนไม่เหลือเงินเก็บอยู่เสมอ ก็ควรต้องพิจารณาว่าเงินที่ได้รับมานั้นหมดไปกับสิ่งใดบ้าง เพื่อจะได้จัดระเบียบและทบทวนถึงความจำเป็นในการใช้เงิน และอาจปรับการใช้เงินเพื่อให้มีเงินเก็บเหลืออยู่สำหรับต่อยอดไปทำสิ่งอื่น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายมี 4 ประการ ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พักอาศัย และค่าสาธารณูปโภค (เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์) หากมีค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ควรต้องพิจารณาปรับงบการเงินให้เหลือเงินสำหรับการออมบ้าง
เคล็ดลับข้อสอง คือการตั้งเป้าหมายสำหรับการมีเงินเก็บ เหตุผลสำคัญที่ผู้คนไม่มีเงินเก็บ และใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน คือการที่ผู้คนไม่รู้ว่าการมีเงินเก็บไว้บ้างมีประโยชน์อย่างไร บางคนพึงพอใจกับการใช้เงินที่หามาได้ทั้งหมด และไม่คิดว่าจะต้องเก็บเงินสำรองไว้เพื่อสิ่งอื่นใด หากยังมองไม่เห็นประโยชน์ของการมีเงินเก็บ ขอให้ลองคิดถึงชีวิตหลังวัยเกษียณ ช่วงเวลาที่อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ต้องใช้เงินสำรอง หรือช่วงที่อาจมีของสำคัญชิ้นใหญ่ที่อยากได้ และลองตั้งเป้าหมายสำหรับการเก็บเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับการมีเงินเก็บไว้บ้าง
เคล็ดลับข้อสาม คือการจัดการหนี้ให้หมดสิ้นไป สาเหตุที่ทำให้ผู้คนได้เพียงใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน อาจมีที่มาจากภาระหนี้สินที่ทำให้ต้องคอยนำเงินไปหมุน เพราะการมีหนี้สินก็เหมือนเป็นการยืมเงินในอนาคตมาใช้ ผู้ที่มีหนี้สินจึงยากที่จะพบอิสระทางการเงินได้ หากต้องการปลดแอกออกมาจากวังวนของการเป็นหนี้ ใช้หนี้ และใช้เงินเดือนชนเดือน ขอให้ค่อย ๆ ปลดหนี้ให้หมด อย่าสร้างหนี้ซ้ำ และเริ่มต้นหาทางเก็บออมเพื่อให้มีเงินใช้ในเวลาที่ต้องการ โดยไม่ต้องไปกู้ยืมอีกต่อไป
เคล็ดลับข้อสุดท้าย คือการหาทางสร้างรายได้ในช่องทางใหม่ ปัจจุบันนี้ความเป็นไปได้ในการหารายได้เสริมมีอยู่มากมาย หากการลดค่าใช้จ่ายเป็นทางหนึ่งในการเพิ่มโอกาสสำหรับมีเงินเก็บ การเพิ่มรายได้ก็นับเป็นหนทางสู่การมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จะหาสมดุลให้กับชีวิต หากการทำงานหลายอย่างทำให้เสียประสิทธิภาพในการรับผิดชอบงานที่มีอยู่ ขอให้ลองพิจารณารับงานเสริมเท่าที่รับไหว
นอกเหนือจากเคล็ดลับทั้งหลายที่แนะนำเหล่านี้ การมีความรู้ความเข้าใจทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้คนได้รับอิสระทางการเงินได้ การใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือนอาจไม่น่ากลัวหากได้แบ่งหักเงินเก็บไว้สำหรับการออมหรือการลงทุนไว้แล้วอย่างสม่ำเสมอ แต่หากใช้ชีวิตไปอย่างขาดความเข้าใจ ไม่มีแผนสำรองทางการเงิน เป้าหมายสู่ความมั่นคงมั่งคั่งคงยากที่จะสำเร็จได้ ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้ มีเงินเก็บออม และมีสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายที่ดี
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Julia Kagan. (May 23, 2024). Living Paycheck to Paycheck: Definition, Statistics, How to Stop. Retrieved from https://www.investopedia.com/terms/p/paycheck-to-paycheck.asp
[2] Jade Warshaw. (May 31, 2024). How to Stop Living Paycheck to Paycheck. Retrieved from https://www.ramseysolutions.com/budgeting/stop-living-paycheck-to-paycheck
[3] Nicole Dieker Finley. (May 5, 2024). How do I stop living paycheck to paycheck?.Retrieved from https://www.vox.com/even-better/24140333/on-the-money-paycheck-to-paycheck-financial-literacy
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :