การเงิน

จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน คำแนะนำ 5 ประการสำหรับเริ่ม Pay yourself first

จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน คำแนะนำ 5 ประการสำหรับเริ่ม Pay yourself first

จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน คำแนะนำ 5 ประการสำหรับเริ่ม Pay yourself first

 

รายรับและรายจ่ายของใครแต่ละคนนั้นย่อมต่างกัน จำนวนรายรับที่ได้มา หักลบกับรายจ่ายที่ใช้ไป อาจเหลือไว้เป็นเงินเก็บออม แต่จะดีกว่าไหมหากเราเลือกที่จะหักเงินเก็บไว้เพื่อการออมโดยเฉพาะ ก่อนที่จะคำนึงถึงรายจ่ายอื่น ๆ แนวคิดดังที่กล่าวมานี้สอดคล้องกับการ “จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน” หรือที่เรียกกันว่า Pay yourself first. การจ่ายเงินให้ตัวเองก่อนเป็นการเลือกหักเงินสำหรับเก็บออมเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายทางการเงินที่ตนเองกำหนดไว้ ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอคำแนะนำ 5 ประการ สำหรับการเริ่ม Pay yourself first ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]

 

คำแนะนำแรกสำหรับการเริ่มต้นจ่ายเงินให้ตนเองก่อน คือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ลองกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการจ่ายเพื่อการเก็บออมสำหรับเป้าหมายทางการเงิน ทั้งนี้ จำนวนที่เป็นที่นิยมสำหรับการหักเงินเพื่อเก็บออมหรือลงทุนโดยทั่วไป คือจำนวนเงินร้อยละ 20 โดยอาจแบ่งเงินร้อยละ 15 เพื่อการเกษียณ และเงินร้อยละ 5 สำหรับเป้าหมายการเงิน อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่หักสำหรับการออมเพื่อเป้าหมายการเงินของตนเองสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย

 

คำแนะนำประการต่อมา คือการกำหนดว่าจะนำเงินที่แบ่งหักมาไปเก็บไว้ในรูปแบบใด การเก็บเงินไม่ได้เป็นเพียงการนำเอาเงินหักมาวางไว้เฉย ๆ แต่เป็นการคิดหาช่องทางที่สามารถนำเงินมาพัฒนาให้งอกเงยได้มากที่สุด ช่องทางในการเก็บออมเงินมีหลากหลายตามระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนสามารถยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นการออมในบัญชีฝากประจำ ตราสารหนี้ การซื้อสลากออมสิน พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวม หุ้น ไปจนถึงสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ

 

คำแนะนำประการที่สาม คือการกำหนดแผนการบริหารเงินส่วนที่เหลือ นอกจากเงินที่หักเพื่อการเก็บออมสำหรับตนเอง เป้าหมายทางการเงินจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อวางแผนไว้บนพื้นฐานของความเป็นจริงเท่านั้น หากเลือกที่จะวางแผนเพื่อเป้าหมายการเงินในอนาคตแล้ว ก็ต้องหันมาวางแผนการใช้จ่ายเงินเพื่อรับผิดชอบภาระที่มีอยู่ด้วย ลองมองหาแผนการบริหารการเงินให้ได้อย่างเหมาะสม ทั้งรายจ่ายและรายรับ เพื่อให้แผนการเงินสามารถดำเนินไปได้ดังที่ตั้งใจไว้

 

คำแนะนำประการที่สี่ คือการหักเงินเก็บอัตโนมัติในทุกเดือน การหักเงินเก็บอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินดังที่มุ่งหวังไว้ และทำได้ง่ายเพียงแค่เลือกตั้งค่าหักเงินอัตโนมัติกับบัญชีธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการหักเพื่อฝากประจำ หรือซื้อกองทุนรวม ประโยชน์ของการตั้งค่าหักอัตโนมัติคือการชิงหักเงินไว้ก่อนที่จะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อจุดประสงค์อื่น และยังช่วยแก้ปัญหาการลืมหักเก็บไว้ได้อีกด้วย

 

คำแนะนำประการสุดท้าย คือการปรับเปลี่ยนให้ได้มากที่สุดตามที่ตนเองต้องการ แม้ความสม่ำเสมอจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างระเบียบวินัยทางการเงิน แต่อย่าได้ตึงเครียดเกินไปจนทำให้รู้สึกอึดอัด และไม่อาจไปสู่เป้าหมายที่มุ่งหวังได้ ขอให้เตรียมใจไว้ว่าในบางครั้งอาจไม่สามารถทำตามแผนการที่วางไว้ได้ แต่การที่ผิดแผนไปบ้างไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องล้มเลิก ขอให้รับความเปลี่ยนแปลงไว้และปรับแผนตามสิ่งที่เผชิญในแต่ละช่วงชีวิต

 

การเลือกจ่ายเงินเพื่อตัวเองก่อนเป็นการสร้างรากฐานของความมั่นคงทางการเงินโดยแท้จริง ผู้ที่สามารถลงทุนด้านการเงินให้กับตนเองได้อย่างสม่ำเสมอย่อมเป็นผู้ที่ประสบกับความสำเร็จและได้มีอิสระทางการเงินในที่สุด ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะสามารถไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้ได้อย่างงดงาม

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Bob Haegele. (October 3, 2024). What does it mean to ‘pay yourself first,’ and how does it work?. Retrieved from https://finance.yahoo.com/personal-finance/pay-yourself-first-145310216.html
[2] Jeanette Beebe. (July 22, 2024). What Does Paying Yourself First Mean? How It Works and Goal. Retrieved from https://www.investopedia.com/terms/p/payyourselffirst.asp
[3] Marko – WhiteBoard Finance. (June 4, 2019). How To Pay Yourself First. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=9RX1WSD3FBg

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน