การเงิน

ความกังวลทางการเงิน 4 รูปแบบที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยเกษียณ และวิธีการรับมือ

ความกังวลทางการเงิน 4 รูปแบบที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยเกษียณ และวิธีการรับมือ

ความกังวลทางการเงิน 4 รูปแบบที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยเกษียณ และวิธีการรับมือ

 

วัยเกษียณเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนหลังจากอยู่ในช่วงวัยทำงานมานาน ผู้คนในช่วงวัยนี้ควรได้พักอย่างสบายใจ แต่ความกังวลก็คืบคลานเข้ามาหาคนในช่วงวัยหลังเกษียณได้เช่นกัน โดยเฉพาะความกังวลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน แม้ว่าจะวางแผนเก็บออมสำหรับวัยเกษียณไว้อย่างดีแล้ว แต่ความไม่แน่นอนในชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอความกังวลด้านการเงิน 4 รูปแบบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้คนในวัยเกษียณ พร้อมวิธีการสำหรับรับมือ ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]

 

ความกังวลในรูปแบบแรก คือความกังวลว่าเงินสำรองที่มีอยู่จะหมดไป ผู้คนวัยเกษียณที่ไม่มีงานเสริมเพิ่มเติมย่อมมีความกังวลว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้เงินหมดไป หรือการใช้ชีวิตในวันที่ไม่มีเงินเดือนแล้วจะทำให้เงินที่เก็บออมไว้ร่อยหรอลงไปในที่สุด วิธีการแก้ไขความกังวลรูปแบบนี้ ทำได้โดยการลองประเมินช่วงเวลาที่จะต้องใช้เงินหลังการเกษียณ โดยอาจแบ่งออกเป็นระยะ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี และมองหารูปแบบการลงทุนที่จะมอบผลตอบแทนให้ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขอให้ระวังการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเกินจริง เพราะอาจเข้าข่ายหลอกลวง และทำให้สูญเสียเงินไปในที่สุด

 

ความกังวลรูปแบบที่สอง คือความกังวลว่าการลงทุนอาจไม่ให้ผลตอบแทนอย่างที่คิด แม้การลงทุนจะเป็นวิธีทำเงินให้งอกเงยที่คนวัยเกษียณยังคงทำได้ แต่ก็อาจก่อให้เกิดความกังวลว่าผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้อยู่ดี ยิ่งในสถานการณ์ที่ตลาดผันผวน และอาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่นการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา หรือสงครามที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกที่อาจทำให้จิตใจของผู้อยู่ในวัยเกษียณสั่นไหว ทางแก้ของความกังวลข้อนี้ คือการเลือกลงทุนในความเสี่ยงที่ตนเองรับไหว หากระดับความเสี่ยงที่เคยรับได้ในวัยทำงานลดลงมา ก็ควรปรับรูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองในวัยเกษียณ

 

ความกังวลรูปแบบที่สาม คือความกังวลว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้น สิ่งที่เบียดเบียนเงินทองของคนวัยเกษียณได้อย่างสูงสุดคงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายที่มาจากความเจ็บป่วยและการบำรุงรักษาสุขภาพ วิธีการรับมือกับความกังวลในข้อนี้คือการวางแผนเกี่ยวกับสิทธิการรักษาให้รอบคอบ หากมีประกันสุขภาพที่ทำไว้ตั้งแต่ตอนอยู่ในช่วงวัยทำงาน หรือเข้าสู่ระบบสวัสดิการรัฐบาลอย่างเช่นประกันสังคมหรือบัตรทอง ก็ย่อมแบ่งเบาภาระในข้อนี้ไปได้อย่างมาก

 

ความกังวลข้อสุดท้าย คือความกลัวว่าจะสูญเสียคนใกล้ตัวไปกะทันหัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ที่เข้าสู่วัยเกษียณต้องพึ่งพาเงินของคนใกล้ตัว เช่นคู่ชีวิต หรือบุตรหลาน ความกังวลในข้อนี้สามารถแก้ไขได้ หากว่าผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณมีการเก็บสำรองเงินไว้เพียงพอจะอยู่ได้ด้วยตนเอง แต่หากไม่มีเงินสำรอง การทำประกันชีวิตของคนใกล้ตัว และการระบุถึงการแบ่งมรดกไว้อย่างชัดเจนก็เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความกังวลในข้อนี้ได้

 

ผู้คนวัยเกษียณอาจมีความกังวลในด้านการเงิน แต่หากมีการวางแผนเตรียมตัวอย่างดีแล้ว ทุกความกังวลย่อมมีทางรับมือแก้ไขได้ ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านทุกท่าน ไม่ว่าจะเข้าสู่วัยเกษียณแล้วหรือไม่ก็ตาม จะมีแผนรับมือสู่การเกษียณที่ดี และมีช่วงชีวิตในวันที่เกษียณอันเป็นสุข ปลอดโปร่งจากความกังวลทางการเงิน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] E. Napoletano. (July 15, 2022). Top 4 Retirement Worries—And How To Handle Them. Retrieved from https://www.forbes.com/advisor/retirement/top-retirement-worries
[2] Mallika Mittra. (May 30, 2024). Top 4 retirement worries — and how to best deal with them. Retrieved from https://www.bankrate.com/retirement/top-retirement-worries-how-to-deal-with-them
[3] Kate Stalter. (July 26, 2024). Common Retirement Financial Fears and How to Overcome Them. Retrieved from https://money.usnews.com/money/retirement/aging/articles/common-retirement-financial-fears-and-how-to-overcome-them

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน