สังคมศาสตร์

เศรษฐศาสตร์ของความโสด : ทำไมคนโปรไฟล์ดีถึงมีแฟนยาก

ทำไมคนโปรไฟล์ดีถึงมีแฟนยาก

ทำไมคนโปรไฟล์ดีถึงมีแฟนยาก น่าจะเป็นคำถามในใจของใครหลายคน เรามักจะติดภาพของคนที่มีโปรไฟล์ดี ชีวิตเพียบพร้อมน่าจะหาคู่รักได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วต่างออกไป เราพบว่าคนที่โปรไฟล์ดีมักจะมีคู่ได้ยาก ยิ่งเมืองหลวง ยิ่งรายได้ประชากรสูง อัตราความโสดยิ่งสูงกว่า และเราจะลองมาหาคำตอบโดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ไปด้วยกัน

 

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เราหยิบขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์คนโปรไฟล์ดีมีแฟนยาก คือ ทฤษฎีอรรถประโยชน์คาดหวัง (Expected Utility Theory) ที่อธิบายโดย Daniel Kahneman และ Amos Tversky นักจิตวิทยาเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยเราจะมุ่งเน้นไปถึงเรื่องการตัดสินใจแบบใช้จุดอ้างอิง หรือ Reference Dependence

 

ทฤษฎีการตัดสินใจแบบใช้จุดอ้างอิง กล่าวไว้ว่า มนุษย์จะรู้สึกพึงพอใจต่อทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง โดยนำทางเลือกนั้นไปเปรียบเทียบกับจุดอ้างอิงที่มีอยู่เดิม ยกตัวอย่างเช่น นาย A มีหุ้นอยู่มูลค่า 1 ล้านบาท ต่อมาหุ้นขึ้นไปเป็นมูลค่า 2 ล้านบาท กับ นาย B มีหุ้นอยู่มูลค่า 3 ล้านบาท ต่อมาหุ้นตกลงมาเป็นมูลค่า 2 ล้านบาท หากเราประเมินค่าความสุขแบบสัมบูรณ์ นาย A และ นาย B ควรจะมีความสุขเท่ากัน เพราะมีทรัพย์สินมูลค่าเท่ากัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว นาย A จะมีความสุขมากกว่านาย B เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับจุดอ้างอิง (มูลค่าหุ้นที่มีอยู่เดิม) แล้ว สินทรัพย์ของนาย A เพิ่มขึ้นมากกว่า

 

เรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับความโสดอย่างไร?

 

ก่อนจะพูดเรื่องทฤษฎีต่อ ผมขอถามแบบนี้ว่า หากวันหนึ่งมีคนมาขอคุณแต่งงาน และให้คุณไปอยู่ในชนบทที่ห่างไกลไร้ความเจริญ หน้าที่หลักคือทำไร่ไถนาและไม่มีสิทธิ์มีทรัพย์สินเป็นของตัวเองสักบาท คุณจะตอบรับข้อเสนอนี้ไหม?

 

ผมเดาว่าคนอ่านบทความนี้ 100 ทั้ง 100 ไม่มีใครรับข้อเสนอนี้

 

แต่ยังมีผู้หญิงอีกเป็นจำนวนมากที่รับข้อเสนอนี้ เรากำลังพูดถึงผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่หนีจากเกาหลีเหนือ โดยการหนีข้ามแม่น้ำตูเมนมายังชนบทของประเทศจีน หญิงสาวเหล่านี้มักจะเจอกับเกษตรกรที่มีทรัพย์สินไม่มาก บ้างก็แต่งงานกันด้วยความรัก บ้างก็แต่งงานเพราะถูกบังคับ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังดูดีกว่าการจะถูกส่งกลับไปตายในฐานะกบฎที่ประเทศเกาหลีเหนือ

 

ดังนั้น ยิ่งเรามีจุดอ้างอิงที่สูงมากเท่าไหร่ การจะมีความรักจะยิ่งยากขึ้นไปเท่านั้น เพราะถ้าเปรียบเทียบกับอรรถประโยชน์ที่ได้ เราอาจจะรู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่าพอที่จะมี

 

ความรักก็เหมือนกับการตัดสินใจเรื่องอื่นของมนุษย์

 

คือเรามักจะใช้จุดอ้างอิงมาเป็นหลักในการตัดสินใจ เรามักเลือกจะมีความรัก เมื่อมีแล้วดีขึ้นอย่างคุ้มค่า จึงพอจะทำให้อนุมานได้ว่า คนที่โปรไฟล์ดีส่วนมากมักมีจุดอ้างอิงที่สูงกว่า อย่างน้อยก็ในเชิงเศรษฐานะที่อาจจะมองเรื่องอาชีพ การศึกษา ฐานะ มาเกี่ยวข้องด้วยมาก แต่แน่นอนว่า การอนุมานดังกล่าวไม่ใช่ข้อสรุป 100% เพราะจุดอ้างอิงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดอ้างอิงด้านความรักอาจจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึก ทัศนคติ และมุมมองต่อสังคม มากกว่าจุดอ้างอิงทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป

 

ถ้าอยากมีแฟนให้ง่ายขึ้นจะทำอย่างไร?

 

ตอบด้วยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ก็ทำได้ 2 วิธี คือ

1 ลดจุดอ้างอิงของตัวเองลง ให้การมีความรักคุ้มค่าและง่ายต่อการมีคนรักมากขึ้น

2 เพิ่มอรรถประโยชน์ของตนเอง ให้คนที่จะเข้ามาในชีวิตรู้สึกคุ้มค่ามากขึ้นเมื่อมีเราเทียบกับจุดอ้างอิงของเขา

 

ถ้าปรับจนหาแฟนได้ เราจะเอาไปอวดได้เลยนะว่า เราหาแฟนมาจากงานวิจัยของนักจิตวิทยาเจ้าของรางวัลโนเบล!

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน