หางานอย่างไรให้ไม่โดนหลอก คำแนะนำ 4 ประการสำหรับเฝ้าระวังการรับสมัครงานหลอกลวง
วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้การหางานกลายเป็นเรื่องยากลำบาก ท่ามกลางช่วงเวลาที่ยากเย็นเช่นนี้ กลับกลายเป็นเวลาทองที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ฉวยโอกาส ยิ่งในช่วงที่ Generative AI รุ่งเรือง มิจฉาชีพได้ใช้เทคโนโลยีในการปลอมแปลงข้อมูล สร้างประกาศรับสมัครที่ดูน่าเชื่อถือเพื่อหลอกลวงให้ผู้สมัครหลงเชื่อ หากผู้สมัครติดต่อไป อาจต้องสูญเสียเงินเป็นค่าสมัคร ข้อมูลส่วนตัวที่ใช้ในการสมัครก็อาจตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ และถูกนำไปใช้หาประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบต่อไป ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวงจากประกาศงานของมิจฉาชีพ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอคำแนะนำ 4 ประการสำหรับเฝ้าระวังดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]
คำแนะนำประการแรกสำหรับเฝ้าระวัง คือการสังเกตประกาศรับสมัครงานที่ดูดีจนเกินจริง หากในประกาศมีการใช้ถ้อยคำที่ดูเหมือนดูดีจนเกินกว่าจะเป็นไปได้ เช่น “งานง่าย ๆ ทำที่บ้านก็ได้ ไม่นานก็เห็นเงินแสน” “ใคร ๆ ก็ทำได้ หากอยากร่ำรวยเป็นเศรษฐี” หรือ “ไม่ต้องตรวจประวัติ ไม่ต้องมีประสบการณ์ ก็สามารถหาเงินล้านกับเราได้” ขอให้เฝ้าระวังไว้ได้เลยว่าตำแหน่งงานที่ท่านเห็นอาจไม่ได้น่าเชื่อถือมากเพียงพอ เพราะบริษัทที่ดีย่อมมีกระบวนการคัดสรรพนักงานอย่างเหมาะสม และมอบผลตอบแทนที่พอเหมาะพอดีกับความรับผิดชอบในตำแหน่ง ระวังอย่าให้ถ้อยคำสวยหรูดึงดูดจนหลงกลมิจฉาชีพ
คำแนะนำประการต่อมา ขอให้ระวังประกาศรับสมัครงานที่ไม่มีคำอธิบายระบุชัดเจน หากในประกาศระบุเพียงแค่ “ติดต่อเราเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม” โดยไม่มีคำอธิบายชัดเจนถึงขอบเขตงานและเงินค่าตอบแทนที่ได้ อย่าได้หลงกลกดเข้าไปในช่องทางที่ให้ไว้ในประกาศ เพราะหากท่านติดต่อมิจฉาชีพเพิ่มเติม อาจนำไปสู่การถูกหลอกสอบถามรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว และอย่าได้ไว้ใจแม้ว่าบริษัทที่ลงประกาศยืนยันว่าสามารถสัมภาษณ์ท่านทางโทรศัพท์ เพราะมิจฉาชีพอาจใช้เอไอในการดัดแปลงน้ำเสียง ดังนั้น หากในประกาศไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจน อย่าได้เสียเวลาติดต่อไปเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
คำแนะนำประการที่สาม คือการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทให้ชัดเจน มิจฉาชีพจำนวนไม่น้อยเลือกใช้วิธีการปลอมแปลงชื่อของบริษัทที่มีชื่อเสียงเพื่อหลอกลวงและเปิดประกาศรับสมัคร แต่หากท่านพิจารณารายละเอียดของการเปิดประกาศรับสมัครอย่างถี่ถ้วนก็จะสามารถสังเกตเห็นพิรุธบางอย่าง เช่น อีเมลที่ประกาศรับสมัครไม่ใช่อีเมลทางการของบริษัท หรือชื่อบริษัทมีการสะกดผิด เติมเครื่องหมายลงไปเล็กน้อย หากท่านสังเกตพบและมีข้อสงสัยใดใด ขอให้หลีกเลี่ยงการสมัครงานกับบริษัทเหล่านี้
คำแนะนำประการสุดท้าย คือการใช้เวลาหางานอย่างใจเย็น ผู้คนที่กำลังเดือดร้อนและต้องการหางานเพื่อให้มีรายได้ย่อมมีความรีบร้อน และมิจฉาชีพก็มักใช้จุดอ่อนนี้ในการหลอกลวงผู้ที่กำลังหางานให้ตกเป็นเหยื่อ ทั้งการประกาศว่า “รับสมัครด่วน ปิดประกาศภายในวันที่…” หรือ “วันนี้วันเดียวเท่านั้น โอกาสทองเป็นของคุณแล้ว” หากพบกับประกาศลักษณะนี้ อย่าเพิ่งรีบร้อนที่จะสมัครงาน ขอให้ใช้เวลาพิจารณาจนแน่ใจ เพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อของประกาศหลอกลวง
คำแนะนำทั้ง 4 ประการที่ได้กล่าวมานี้เป็นการให้คำแนะนำสำหรับเฝ้าระวังได้ในเบื้องต้น แต่หากท่านประสบเหตุถูกหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ ท่านสามารถรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สลิปการโอนเงิน ข้อความในอีเมลหรือแชทและติดต่อแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ นอกจากนี้ ท่านสามารถแจ้งเบาะแสกับสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่หมายเลขสายด่วน 1502 หรือติดต่อสายด่วน 1441 เพื่อดำเนินการอายัดบัญชี
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Alex Koller. (June 30, 2024). How to avoid scams while job-hunting online, according to career experts. Retrieved from https://www.cnbc.com/2024/06/30/how-to-avoid-job-scams-online-according-to-career-experts.html
[2] สภาองค์กรของผู้บริโภค. (2 มิถุนายน 2567). เตือนภัย : ระวัง การโฆษณารับสมัครหาคนพิมพ์งาน อาจเป็นมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน. สืบค้นจาก https://www.tcc.or.th/appeal/job-fake
[3] HREX.asia. (21 สิงหาคม 2566). Fraudulent Job Posting มิจฉาชีพในคราบ HR รู้ให้ทันก่อนหมดตัว !. สืบค้นจาก https://th.hrnote.asia/recruit/fraudulent-job-posting-230821
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :