จุดยืนท่ามกลางความขัดแย้ง จีนและรัสเซียยืนอยู่ตรงไหนในสงครามอิสราเอล-กาซา
สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มีมาอย่างยาวนาน แต่ความขัดแย้งรอบล่าสุดในปี ค.ศ. 2023 นี้ที่กลุ่มฮามาสบุกสังหารผู้คนในอิสราเอลกำลังเป็นประเด็นที่ผู้คนเฝ้าจับตามอง ทั้งการตอบโต้ของอิสราเอล แผนการต่อไปของฮามาส และท่าทีของกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่อาจมีส่วนในสงครามครั้งนี้ และส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย ทั้งนี้ ท่าทีของชาติตะวันตก ทั้งกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรนั้นเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประเทศเหล่านี้สนับสนุนอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า มหาอำนาจอย่างเช่นจีนและรัสเซีย มีท่าทีและจุดยืนอย่างไรในสงครามครั้งนี้ ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอการแสดงจุดยืนของจีนและรัสเซีย ในสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3, 4]
จุดยืนของจีนและรัสเซียที่มีต่อสงครามครั้งนี้นั้นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน คือทั้งสองมหาอำนาจต้องการรักษาสมดุลของอำนาจ และไม่ต้องการความขัดแย้งเพิ่มเติมด้วยกันทั้งคู่ ทั้งสองประเทศได้จับมือกันแสดงท่าที โดยทางจีนได้ส่ง Zhai Jun ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลจีนประจำตะวันออกกลาง ไปพบกับ Mikhail Bogdanov
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ หลังจากที่ผู้นำของรัสเซียและผู้นำจีนก็ต่างได้พบปะกันแล้วที่จีน ภายหลังจากการพบกันของบรรดาตัวแทนประเทศ ทั้งจีนและรัสเซียได้แสดงจุดยืนร่วมกันว่าทั้งสองประเทศต่างก็ต้องการให้ตะวันออกกลางเกิดสันติภาพ
การประกาศถึงจุดยืนอันนุ่มนวลเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะทั้งสองประเทศไม่ได้เลือกข้าง ในทางกลับกัน จีนได้เคยมีประวัติการสนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์มานานนับทศวรรษ เช่นเดียวกับรัสเซียที่สนับสนุนปาเลสไตน์ตั้งแต่ช่วงสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็น แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งสองประเทศก็ไม่ต้องการตั้งตัวเป็นศัตรูกับอิสราเอลด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยในปัจจุบันนี้ สถานการณ์ของรัสเซียที่ต้องทำสงครามกับยูเครน ส่งผลให้รัสเซียยังไม่ต้องการที่จะสร้างศัตรูเพิ่ม และยังต้องมองหาการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศอาหรับอีกด้วย
สำหรับจีนแล้ว อิสราเองยังมีความสำคัญต่อการขยายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่หากจีนเข้าข้างอิสราเอล ก็จะกลายเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ทั่วโลกมองว่าจีนอคติต่อผู้นับถือศาสนาอิสลาม และปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียงอย่างทารุณเพราะเหตุผลทางศาสนา การเลือกข้างอย่างชัดเจนจึงไม่มีทางจะส่งผลดีต่อทั้งรัสเซียและจีน ดังนั้น ในสื่อของทั้งจีนและรัสเซียจึงมุ่งเน้นการโจมตีไปที่ผู้สนับสนุนอิสราเอลอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทั้งสองประเทศมาแต่เดิมแล้ว และเลือกจะรักษาภาพลักษณ์ในการไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามที่กำลังลุกลาม
การไม่เลือกข้างครั้งนี้ของทั้งจีนและรัสเซียนับเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด ระมัดระวัง และน่าจับตามองต่อไปอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น การตั้งสติ สำรวจสถานการณ์ ประเมินถึงผลดีและผลเสียให้รอบด้าน มีความสำคัญมากกว่าการรีบออกมาเลือกข้างหรือด่าประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะความขัดแย้งนั้นมักร้อนแรงไม่ต่างจากไฟ หากไม่ระวังและนำตัวไปพัวพันมากจนเกินไป ก็อาจถูกไฟลุกไหม้ไปด้วยโดยไม่รู้ตัว
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Aljazeera. (2023). Where do China, Russia and India stand on the Gaza war?. Retrieved from https://www.aljazeera.com/program/inside-story/2023/10/13/where-do-china-russia-and-india-stand-on-the-gaza-war
[2] Alyssa Chen. (October 20, 2023). Israel-Gaza war: China stands with Russia to help cool Middle East crisis, Beijing envoy in Qatar meeting says. Retrieved from https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3238619/israel-gaza-war-china-stands-russia-help-cool-middle-east-crisis-says-beijing-envoy-qatar-meeting?module=lead_hero_story&pgtype=homepage
[3] Lili Pike. (October 17, 2023). The Israel-Hamas War Is Testing China’s Diplomatic Strategy. Retrieved from https://foreignpolicy.com/2023/10/17/israel-hamas-war-palestine-gaza-china-xi-jinping
[4] Hanna Notte. (October 19, 2023). Where Does Russia Stand on the Israel-Hamas War?. Retrieved from https://foreignpolicy.com/2023/10/19/israel-palestine-hamas-gaza-war-russia-iran-putin
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :