สังคมศาสตร์

ความเชื่อผิด ๆ 3 ประการเกี่ยวกับความยากจนที่ควรถูกทำความเข้าใจใหม่

ความเชื่อผิด ๆ 3 ประการเกี่ยวกับความยากจนที่ควรถูกทำความเข้าใจใหม่

ความเชื่อผิด ๆ 3 ประการเกี่ยวกับความยากจนที่ควรถูกทำความเข้าใจใหม่

 

ความยากจนเป็นสิ่งที่ยังอยู่คู่กับสังคมไทยมาเสมอ และนับเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมาเนิ่นนาน อย่างไรก็ตาม การนำเสนอภาพความจำผ่านสื่อในสังคมไทยมักเป็นประเด็นที่ผู้คนมีความเห็นขัดแย้งกันเสมอ การโรแมนติไซส์ความจนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชมเด็กเรียนดียากจนที่ทนยากลำบากนั่งเรียนออนไลน์กลางทุ่งนา [1] หรือแบบเรียนที่นำเสนอการกินไข่ต้มเพียงฟองเดียวก็ยิ้มได้ที่กำลังเป็นดราม่าอยู่ในขณะนี้ [2] ประเด็นเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าผู้คนบางส่วนยังคงขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความยากจนที่จริงแท้

 

ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ได้รวบรวมข้อมูลความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับความยากจนที่ควรถูกทำความเข้าใจใหม่ [3, 4, 5] ดังต่อไปนี้

 

ประการแรก ความยากจน ไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีเงินซื้อของที่ต้องการในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หมายถึงการอยู่กับภาวะที่ขัดสนเงินทองมาชั่วชีวิต แม้คำว่า “ยากจน” ของแต่ละคนอาจมีระดับความรุนแรงที่ต่างกัน บางคนใช้คำว่า “จน” เพื่อพูดบรรยายความขัดสนเพียงช่วงเวลาหนึ่ง เช่นตอนใกล้สิ้นเดือนที่รอเงินเดือนออก แต่แท้จริงแล้ว ผู้คนที่ยากจนนั้นไม่ได้เพียงแต่ขาดแคลนเงินในช่วงเวลาเดียว แต่ต้องอยู่กับความรู้สึกชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่ตลอดเวลา ทรมานกับความกังวลที่ไม่สามารถมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายให้มีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานได้

 

ประการต่อมา คนจนไม่ได้มีความอดทนมากกว่าคนอื่น คำพูดประเภทที่ว่า “คนจนอึดกว่าใคร” ไม่เป็นความจริง แม้ผู้คนมีแนวโน้มจะเชื่อว่าคนที่เกิดมาเจอกับความยากลำบากมาตั้งแต่ต้นจะต้องมีความอดทนและความแข็งแกร่งมากกว่าผู้คนที่ร่ำรวยกว่า แต่ความเชื่อเช่นนี้นำพาให้เกิดความเข้าใจที่ผิดว่า คนจนมีความอดทนได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้น การปล่อยให้ผู้คนที่ยากจนจมอยู่กับความจนต่อไปก็คงไม่เป็นไร คนจนมีความสุขดีในแบบของคนจน ความเข้าใจที่ผิดนี้ทำให้ไม่เกิดการแก้ไขปัญหาเพื่อคนจนอย่างแท้จริง และยังส่งเสริมให้เกิดการโรแมนติไซส์ความจนขึ้นอีกด้วย

 

ประการสุดท้าย ความจนไม่ได้เป็นผลมาจากความขี้เกียจ ผู้คนที่ต้องการประสบความสำเร็จมักได้รับการสอนต่อกันมาว่าหากไม่อยากลำบากก็ต้องขยันเข้าไว้ ในทางกลับกัน ผู้คนจึงมีความเชื่อว่าคนที่ยากจนต้องเป็นคนที่ขี้เกียจ แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่อยู่กับความยากจนมักจะอยู่กับความขาดแคลนมาตั้งแต่ต้น ขาดโอกาสที่จะได้พัฒนาตนเองเช่นคนอื่นที่มีระดับฐานะปกติ ความจนไม่ได้หมายถึงแค่ขาดแคลนเงิน แต่หมายถึงขาดแคลนโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่ดี การมีสังคมที่ดี ไม่มีมรดกตกทอด ต่อให้ทำงานหนักก็ไม่ช่วยให้ฐานะดีขึ้น เพราะงานที่คนจนทำได้นั้นก็มักเป็นงานที่มีค่าแรงต่ำ

 

การที่คนจนจะหลุดพ้นจากความยากจนจำเป็นต้องแก้ไขที่โครงสร้างทางสังคม ไม่ใช่เพียงบอกให้ผู้คนที่ยากจนพยายามอยู่ฝ่ายเดียว และไม่ใช่การโรแมนติไซส์ว่าคนจนนั้นมีความสุขดีอยู่แล้วในแบบฉบับของตัวเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] กะปุกดอทคอม. (22 มกราคม 2564). ครูชมเด็กสุดมานะ นั่งเรียนออนไลน์กลางทุ่งเพราะไม่มีเน็ต โซเชียลเสียงแตก ชี้นี่แหละเหลื่อมล้ำ. สืบค้นจาก https://hilight.kapook.com/view/210383
[2] เนชั่นออนไลน์. (23 เมษายน 2566). “ดราม่าไข่ต้ม” แพรรี่ ชี้ “ขาดสารอาหารในวัยเด็ก” ไม่ใช่เรื่องโรแมนติก. สืบค้นจาก https://www.nationtv.tv/politic/378912880
[3] Mark R. Rank. (March 26, 2021). Five myths about poverty. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/outlook/five-myths/5-myths-about-poverty/2021/03/25/bf75d5f4-8cfe-11eb-a6bd-0eb91c03305a_story.html
[4] Katie Smith. (March 12, 2019). You’re not poor. You’re broke. Retrieved from https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2019/mar/12/poor-broke-difference-poverty-inequality-society
[5] Princeton Alumni Weekly. (March 2021). Examining How We Misjudge the Emotional Pain of Poverty. Retrieved from https://paw.princeton.edu/article/examining-how-we-misjudge-emotional-pain-poverty

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน