เทคโนโลยีจะมาแย่งงานคนหรือไม่ ผลกระทบอาจไม่น่ากลัวหากเรารู้วิธีรับมือ
มีบทสนทนามากมายกล่าวถึงการมาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการลดลงของงานอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นรถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวมันเอง ที่จะส่งผลให้คนทำงานขับรถโดนแย่งงาน ใช้สิริทำงานอัตโนมัติ ใช้เครื่องจักรในการทำงานแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและวิเคราะห์ นั่นหมายความว่าเราจะต้องการคนน้อยลงเมื่อมีเครื่องจักรมากขึ้น แอนดรูว์ แมคอาฟี่ชวนเราทำความเข้าใจวิธีการปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ใน TED Talk ที่ชื่อ “งานในอนาคต หน้าตาจะเป็นยังไง” หรือ “What will future jobs look like”
แอนดรูว์เริ่มบทสนทนาจากการเล่าให้เราฟังว่า เมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ผู้คนคาดการณ์และหวาดกลัวสถานการณ์ที่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่ทรัพยากรมนุษย์ในตลาดงาน อย่างในอดีตนั้นมีการรวมตัวกันของแรงงานเพื่อทำลายเครื่องทอผ้า มันจึงนำมาสู่คำถามที่ว่าในโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีจะก้าวขาขึ้นมามีส่วนร่วมในกระบวนการการผลิตมากขึ้น แล้วมนุษย์จะปรับตัวอย่างไร อย่างที่กล่าวข้างต้น แอนดรูว์ไม่ได้กำลังทำนายเพื่อให้เรายอมแพ้ แต่เล่าสิ่งที่อาจเกิดเพื่อให้เราปรับตัวและเตรียมพร้อม
เมื่อเทคโนโลยีในยุคนี้สามารถเข้าใจ พูด ฟัง มองเห็น เขียน ตอบสนอง มันก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่งานบางส่วนจะถูกแทนที่โดยเครื่องจักรอันชาญฉลาดเหล่านี้ ข่าวดีคือเราก็จะพบกับยุคแห่งการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ราคาสินค้าลดลง โดยที่คุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้น มนุษย์เองก็ไม่ต้องทำงานกรรมกรแบกหามที่หนักหน่วง
แต่คำถามสำคัญที่อยู่ในใจใครหลายคนคือ แล้วผลกระทบในแง่ลบจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แน่นอน เครื่องจักรจะเข้ามาแย่งงานคน และด้วยสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นได้เลยว่าในขณะที่การผลิตมีอัตราเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ค่าตอบแทนแรงงานกลับต่ำลง ลองจินตนาการถึงคนสองคน ที่เติบโตมาในบริบทที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แล้วเราจะพบว่ามีแรงงานบางส่วนที่เราต้องรีบดึงเขาขึ้นมามีส่วนร่วมในการเตรียมตัว
คนประเภทแรกที่ไม่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มคนที่เป็นบัณฑิตจบจากมหาวิทยาลัย ทำอาชีพเช่น หมอ ทนายความ วิศวะกร หรือที่เรียกว่าคนทำงานประเภทปกน้ำเงิน ซึ่งเป็นงานระดับสูง อาศัยความสามารถในการจัดการและบริหาร คนเหล่านี้จะพบว่าการมาของเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนให้เขาเติบโตไปในหน้าที่การงาน ธุรกิจขยายตัวออก ในทางกลับกันสำหรับคนทำงานประเภทปกขาว ซึ่งเป็นงานระดับล่าง อาจเป็นงานที่มีเนื้องานซ้ำไปมาในทุกวัน ไม่ได้บริหารจัดการคน หรือทำงานที่ใช้แรงกาย คนเหล่านี้จะเริ่มโดนแย่งงาน มีสิทธิหลุดออกจากสังคมมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นภัยที่ร้ายแรงขึ้น
คำถามคือเราจะรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดอย่างไร
ต้องนึกให้ชัดก่อนว่า หุ่นยนต์ไม่ได้กำลังจะเอางานของเราไปทั้งหมด เราอาจต้องเริ่มพัฒนามาตรการทางสังคมที่เอื้อให้เกิดการเชื้อเชิญคนทำงานบางประเภทมาพัฒนาทักษะใหม่ๆ อาจต้องมีการทำนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำ พัฒนาระบบการศึกษาและทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความสามารถในการหางานประเภทที่จะไม่ถูกหุ่นยนต์แย่งงานได้มากขึ้น
พัฒนาทักษะที่มีในตัวเพื่อเอื้อให้เกิดการขยับถ่ายโอนงานที่หุ่นยนต์ทำแทนมนุษย์ได้ไปอยู่ในมือเครื่องจักร โดยที่มนุษย์เองก็ได้พัฒนาความรู้ความสามารถในการทำงานระดับสูง ที่ได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นได้
เราต้องอาศัยการมาของยุคเครื่องจักรกลใหม่ที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อวางแผนรากฐานระบบเศรษฐกิจและการศึกษาที่ดีขึ้น เพื่อสร้างสังคมที่รวมเอาคนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาอยู่ด้วยกัน ลดความเหลื่อมล้ำ และเอื้อให้เกิดการพัฒนาต่อไปข้างหน้า
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :