ชีวิตดีขึ้นได้ด้วยกระบวนการตัดสินใจ
การตัดสินใจ สามารถสร้างผลกระทบ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อชีวิตของคุณในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างอาหารมื้อเที่ยงที่จะกิน ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการลงทุน หรือแผนการเกษียณ การตัดสินใจเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน มีปัจจัยมากมายที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก ประสบการณ์ระหว่างเติบโตจากสังคมการศึกษา การทำงาน และความสัมพันธ์ในชีวิต ค่านิยมส่วนบุคคล สถานการณ์ปัจจุบัน ไปจนถึงความคาดหวังในอนาคต
ถึงแม้จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่หลากหลาย แต่ใช่ว่าการตัดสินใจ จะไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ เพราะกระบวนการตัดสินใจหลัก ๆ นั้น ประกอบด้วยอารมณ์ และรูปแบบการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกฝน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกันได้ ตั้งแต่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การวิเคราะห์ความเสี่ยง การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงวิพากษ์ ที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล
นอกจากนั้น การเรียนรู้วิธีการจัดลำดับกระบวนการตัดสินใจ จะทำให้คุณมีแนวทางที่เป็นหลักยึด และตัดความลังเลใจได้ง่าย เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จริง โดยเริ่มตั้งแต่ การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภายในคือตัวคุณเอง และภายนอกจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ถัดมาเป็นการสร้างทางเลือก โดยระบุถึงทางเลือกที่ต้องการ และเป็นไปได้ทั้งหมด หลังจากนั้น ให้ทำการชั่งน้ำหนักทางเลือกแต่ละข้อ จากข้อมูลที่มี ซึ่งรวมถึงการประเมินความเสี่ยงและผลประโยชน์ ประกอบกับการพิจารณาประสบการณ์ในอดีต โดยคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น จากการตัดสินใจเลือกในแต่ละทาง สุดท้ายให้เรียงลำดับความสําคัญของผลลัพธ์ในแต่ละข้อ ว่าข้อไหน น่าจะตรงกับความต้องการของคุณจากมากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุด
หลังจากพิจารณาทุกทางเลือก และเหตุผลประกอบจนมั่นใจ ให้ใช้ความสามารถในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วเข้ามาช่วย ซึ่งความเด็ดขาด เป็นกุญแจสำคัญในการก้าวไปข้างหน้า และหลีกเลี่ยงความไขว้เขว สิ่งที่ควรระวังคือ อิทธิพลของเรื่องอารมณ์ เพราะในบางครั้งการใช้อารมณ์ จะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ขาดสติ หุนหันพลันแล่น และมีอคติขึ้นได้ ดังนั้น การรู้เท่าทันและระวังไม่ให้ความรู้สึกเข้ามาอยู่เหนือเหตุผล จึงเป็นเรื่องที่ต้องระลึกไว้อยู่เสมอ
ทุกครั้งหลังการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง เราควรทำการทบทวนและประเมินผล ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นแบบใดก็ตาม ซึ่งขั้นตอนนี้ จะช่วยให้คุณเกิดการเรียนรู้จากทั้งความสำเร็จและล้มเหลว หากเราไม่เคยฝึกฝนกระบวนการตัดสินใจเลย จะทำให้บางครั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เรามีเวลาเพียงน้อยนิดในการรับมือ ผลลัพธ์อาจเป็นลบมากกว่าที่คิดไว้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่คุณต้องเข้าใจ คือไม่ว่าจะเลือกตัดสินใจในข้อที่คิดว่าดีที่สุดแล้วก็ตาม ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ตรงตามความคาดหวังของคุณแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ความยืดหยุ่น (Resilience) ทางความคิด จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญสำหรับการพัฒนากระบวนการตัดสินใจ เพราะมันจะทำให้คุณสามารถรับมือได้กับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
https://www.umassd.edu/media/umassdartmouth/fycm/decision_making_process.pdf
https://www.umassd.edu/fycm/decision-making/process/
https://www.lucidchart.com/blog/decision-making-process-steps
https://www.techtarget.com/searchbusinessanalytics/definition/decision-making-process
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :