เศรษฐกิจ

EEC คืออะไร คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

EEC คืออะไร คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

EEC คืออะไร คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

 

EEC ย่อมาจาก  Eastern Economic Corridor หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (ชื่อเดิม ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) [1] คือโครงการที่เกิดขึ้นจากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 [2] ต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด ที่เกิดขึ้นในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปีพ.ศ. 2525 [3] มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาสามจังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและเป็นแกนนำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ [4] โครงการ EEC ก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการรองรับอุตสาหกรรมทั้งแบบเดิมและแบบใหม่ [3] รวมถึงก่อให้เกิดการพิจารณาผังเมืองใหม่โดยแบ่งที่ดินตามลักษณะการใช้พื้นที่แต่ละประเภท [5]

 

คสช. เป็นผู้ตัดสายสะดือ

 

โครงการ EEC เกิดขึ้นตั้งแต่คสช. มีคำสั่งพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในปี พ.ศ. 2560 [2] ต่อมา ได้มีการออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และมีการผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยจำนวนเงิน 650,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน โครงสร้างพื้นฐานหลักใน EEC ได้แก่  1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 2) โครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 4) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ5) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา [1]

 

แหล่งรวมอุตสาหกรรมความหวังใหม่ของประเทศ

 

นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ยังมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบเดิมต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด (First S- curves) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, และการแปรรูปอาหาร และการส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ (New S – curves) ได้แก่ หุ่นยนต์, การแพทย์และสุขภาพครบวงจร, ดิจิทัล, การบินและโลจิสติกส์, การป้องกันประเทศ, การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดผังเมืองใหม่ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่เมือง 13.23% อุตสาหกรรม 5.12% เกษตรกรรม 58.51% อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 20.25% และเป็นพื้นที่อื่น 2.89% [1]

 

EEC เริ่มต้นแล้ว โดยเฉพาะความคืบหน้าของสนามบิน

 

จากโครงการต่าง ๆ ที่กล่าวมา  การปรับผังเมือง EEC ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 [5] ในขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลักได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ได้รับอนุมัติโครงการตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2561 โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ผ่านการพิจารณาให้เข้าร่วมลงทุนในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 [6] เมื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวม (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563) จะเห็นได้ว่า มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 50 โครงการ (30%) อยู่ในระหว่างดำเนินการ จำนวน 71 โครงการ (42%) ยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 5 โครงการ (3 %) ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2564 จำนวน 2 โครงการ (1%) รอรับจัดสรรงบประมาณปี 2565 เป็นต้นไป จำนวน 25 โครงการ (15%) เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานเป็นแบบ PPP จำนวน 6 โครงการ (4%) ชะลอโครงการ จำนวน 3 โครงการ (2%) และยกเลิกโครงการจำนวน 6 โครงการ (3 %) [7]

 

คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

 

โครงการ EEC เป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยใช้พื้นที่สามจังหวัดภาคตะวันออกเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนทั้งจากเอกชนและต่างประเทศ ต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เคยพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกให้รุ่งเรืองมาแล้วในอดีต โดยโครงการต่าง ๆ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า โครงการ EEC จะสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวปีละ 5% เพิ่มการจ้างงานและจำนวนนักท่องเที่ยว [3]

 

ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องระวัง

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ไม่อาจละเลยได้คือการจัดผังเมืองใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาอุตสาหกรรม รัฐบาลต้องพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรับฟังเสียงของชาวบ้าน เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า ความคืบหน้าในโครงการ EEC จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้ต่อไปอย่างไร

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

รายการอ้างอิง

[1] สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก. (กันยายน 2562). อีอีซี ข้อเท็จจริงที่ควรรู้.  สืบค้นจาก https://eeco.or.th/th/filedownload/1720/file-อีอีซี-ข้อเท็จจริงที่ควรรู้

[2] สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก. (กันยายน 2562). 2 ปี อีอีซี เชื่อมไทยให้โลกแล่น. สืบค้นจาก https://eeco.or.th/th/filedownload/1245/file-หนังสือ-2-ปี-อีอีซี-ภาษาไทย

[3] พลวุฒิ สงสกุล. (12 กันยายน 2560). รู้จัก ‘อีอีซี’ โครงการความหวังเศรษฐกิจไทย 1.5 ล้านล้านบาท ภาคต่อของ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ยุคป๋าเปรม. สืบค้นจาก https://thestandard.co/from-eec-to-esb/

[4] สํานักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก. (31 ตุลาคม 2560). แถลงข่าวชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์ คําสั่งหัวหน้าคสช. เรื่องข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ EEC. สืบค้นจาก https://th.eeco.or.th/sites/default/files/2560-11-01-Press-Release-M47-60-EEC-Website.pdf

[5] กรุงเทพธุรกิจ. (9 มีนาคม 2563). ผังเมืองอีอีซี 11 ด้าน โรดแมพพัฒนาพื้นที่ 20 ปี. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/869566

[6] สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.). (16 กรกฎาคม 2563). EEC เผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก. สืบค้นจาก https://th.eeco.or.th/pr/news/EEC-Update-Meeting-2/2563

[7] กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร. (มีนาคม 2563).  รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC). สืบค้นจาก http://www.otp.go.th/uploads/tiny_uploads/PDF/2563-04/25630423-ReportEEC-March63.pdf

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน