เศรษฐกิจ

สรุป วิกฤตเวเนซุเอลา

วิกฤตเวเนซุเอลา

เวเนซุเอล่า (Venezuela) ประเทศอุดมสมบูรณ์น้ำมันและพลังงานธรรมชาติบริเวณตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ หากเป็นเมื่อก่อน ถ้าพูดถึงเวเนซุเอลา คนคงจะคิดถึงนางงาม เพราะประเทศนี้ถือว่าเป็นประเทศที่คว้ามงกุฎและรางวัลจากเวทีนางงามระดับโลกอยู่บ่อยครั้ง แต่ถ้าเป็นปัจจุบัน ถ้าพูดถึงเวเนซุเอลา คนคงจะคิดถึงสภาพความวิกฤตโกลาหลถึงขั้นสุด คุณภาพชีวิตตกต่ำจนถึงขั้นมีการฆ่ากันเพื่อแย่งชิงอาหาร หรืออาจะเรียกได้ว่ากำลังเกิด ” วิกฤตเวเนซุเอลา ” ก็ว่าได้

 

วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเวเนซุเอลาเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

ร่ำรวยด้วยน้ำมัน และจัดสรรเพื่อประชานิยม

 

เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันและพลังงานธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างที่ทราบกันดีว่าน้ำมันดิบแทบจะกลายเป็นทองคำในช่วงทศวรรษกว่าๆ ที่ผ่านมา น้ำมันดิบนำมาซึ่งรายได้มากมายมหาศาล รัฐบาลเวเนซุเอลาส่งออน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกมากมาย ยิ่งราคาน้ำมันดิบขึ้นมาก ประเทศเวเนซุเอลายิ่งร่ำรวย รายได้ของรัฐกว่า 95% มาจากการส่งออกน้ำมัน

 

เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศสังคมนิยมในปี 1999 ประชาชนชาวเวเนซุเอลาเลือกนายฮูโก ชาเวซขึ้นเป็นประธานาธิปดีที่ชูธงประชานิยมเป็นหลักของชาติ ตัดสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา และหันหน้าเข้าหารัสเซียและจีน โดยทำการกู้ยืมเงินจากสองประเทศนี้มาเพื่อใช้จ่ายในประเทศ

 

รัฐบาลภายใต้การนำของชาเวซใช้เงินไปกับโครงการประชานิยมจำนวนมาก เช่น การสนับสนุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศให้ต่ำกว่าความเป็นจริง การสร้างบ้านภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกว่า 2 ล้านหลักเพื่อโครงการทางประชานิยม รัฐบาลภายใต้ความร่ำรวยจากน้ำมันเลือกให้ประชาชนหยุดทำการเกษตรและนำเข้าสินค้าพวกอาหารมาจากต่างประเทศแทน แถมยังสนับสนุนราคาอย่างมากมายจนของทุกอย่างถูกจนผิดปรกติอย่างมาก

 

ในปี 2003 นายชูเวซตัดสินใจเข้าควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงของเวเนซุเอลา อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ถูกควบคุมให้คงที่และต้องซื้อขายผ่านคนกลางของรัฐบาล ทำให้กลไกตลาดของค่าเงินเปลี่ยนแปลงไป ประชาชนไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราเองได้ จนนำไปสู่ตลาดมืดและการพังทลายของค่าเงินที่รัฐไม่อาจควบคุม

 

ในปี 2013 นายชาเวซเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และเขาได้เลือกนายมาดูโรขึ้นเป็นผู้สืบทอดของเขา ในสายตาของชาวเวเนซุเอลาจำนวนมาก นายชาเวซยังเป็นวีรบุรุษเพื่อคนจนของประเทศนี้เสมอ อาจจะเป็นจังหวะพอเหมาะพอสมที่ปัญหาที่น่ากลัวยังไม่เกิด นายชาเวซจึงกลายเป็นที่ยกย่อง ถึงแม้ว่าเขาจะได้วางรากฐานหลายอย่างที่เป็นโครงสร้างของเนื้อร้ายที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

 

เมื่อราคาน้ำมันพลิกผัน ความฝันสีทองจึงล่มสลาย

 

รัฐบาลเวเนซุเอลาใช้รายได้จากการขายน้ำมันมาสนับสนุนโครงการประชานิยมภายในประเทศมาโดยตลอด เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันในปี 2016 ราคาน้ำมันดิบตกต่ำลงเหลือน้อยกว่า 30 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล รายได้หลักของประเทศที่มาจากการการขายน้ำมันจึงลดต่ำลงและนำมาซึ่งวิกฤตของชาติในทันที

 

รายได้ที่ลดลงทำให้โครงการประชานิยมต่างๆ เริ่มสะดุดแต่ก็ไม่สามารถหยุดได้ เพราะผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับประโยชน์จากประชานิยมคือฐานเสียงหลักของนายมาดูโร

 

เมื่อรายได้ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายไม่ลดลง รัฐบาลเวเนซุเอลาจึงแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินออกมาใช้เพิ่ม เหตุดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินโบลิวาร์เกิดการเฟ้ออย่างมหาศาลจนกลายเป็น hyperinflation เนื่องจากรัฐบาลควบคุมตลาดการแลกเปลี่ยนเงินตราทั้งหมด ควบคุมการเข้าออกของเงินระหว่างประเทศ และไม่ยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างอิสระ การพิมพ์เงินมาถมในระบบเรื่อยๆ ทำให้เงินด้อยค่าลงไปตลอด ในบางเดือน อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาสูงถึง 18,000% จนทำให้เงินโบลิวาร์แทบจะใช้ซื้ออะไรไม่ได้ ประชาชนเริ่มหันมาแลกเปลี่ยนกันด้วยสินค้าโดยตรง

 

ประเด็นดังกล่าวส่งผลโดยตรงให้พนักงานที่ได้รับเงินเดือนใช้ชีวิตอยู่โดยลำบากเพราะค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมากมาย กลายเป็นว่ารัฐต้องขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยการพิมพ์เงินใหม่มาจ่ายเงินเดือน พอพิมพ์เงินใหม่ เงินก็เฟ้อขึ้นไปอีก จนปัญหาจึงวิ่งวนกลายเป็นงูกินหางไปอย่างไม่รู้จบ จาก 8 โบลิวาร์แลกได้ 1 ดอลล่าร์ในปี 2010 มาจนถึง 2016 ชาวเวเนซุเอลาจำเป็นต้องใช้เงิน 8,000 โบลิวาร์หรือมากกว่าเดิม 1,000 เท่าในการแลกเงินดอลล่าร์เดียว

 

รัฐบาลหยุดประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจทุกอย่างในปี 2015 ตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ผิดไว้จากความเป็นจริงอย่างมากมาย รัฐบาลที่ขาดแคลนเงินจำเป็นต้องใช้หนี้ทั้งจีนและรัสเซีย รวมไปถึงซื้ออาหารจากต่างประเทศ เพราะตอนร่ำรวยจากน้ำมันมากก็สนับสนุนให้คนเลิกทำการเพาะปลูกไปแล้ว ประเทศจึงเข้าสู่วิกฤตเพราะขาดแคลนเงินที่จะนำเข้าอาหารและสินค้าจำเป็นอื่น เช่น ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ราคาอาหารและค่ารักษาพยาบาลจึงแพงขึ้นอย่างมหาศาลเป็นเงาตามตัว

 

จากเศรษฐกิจที่ล่มสลายสู่ความตายด้วยความขัดแย้งทางการเมือง

 

เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ ความฝันของประชานิยมก็สูญสลายและตื่นมาพบว่าการบิดเบือนความเป็นจริงไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไป จากความนิยมในฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1999 ก็กลายเป็นการชนะการเลือกตั้งของฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกในปี 2015 หลังจากนายชาเวซขึ้นรับตำแหน่ง

 

แต่แทนที่ฝ่ายค้านจะได้ขึ้นมาบริหารประเทศตามกติกา ศาลสูงสุดของเวเนซุเอลาซึ่งอยู่ฝ่ายนายมาดูโรก็มีคำสั่งห้ามไม่ให้รัฐสภาถอนถอดนายมาดูโร และสั่งยุบสภาโดยให้นายมาดูโรยังคงเสียงข้างมากต่อไป เหตุการณ์ดังกล่าวบานปลายมาจนถึงการประท้วงต่อต้านฝ่ายรัฐบาลจนนำมาซึ่งการเสียชีวิตของคนในประเทศหลายร้อยคน

 

ถึงแม้ว่านายมาดูโรจะยังได้เป็นรัฐบาลต่อไปและพยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจในฐานะรัฐบาลต่อไป แต่ในความเป็นจริงคือความมั่นคงในตำแหน่งค่อยๆ ต่ำลงในทุกวัน ประชาชนที่กำลังลำบากถึงขีดสุดต่างลุกฮือออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงและอัศวินขี่ม้าขาวที่จะเปลี่ยนแปลงชาติให้รอดพ้นวิกฤตได้

 

การประท้วงและความตาย

การคุ้ยหาของกินในถังขยะ

การฆ่ากันแย่งชิงอาหาร

และโรงพยาบาลที่ปราศจากยาหรือแม้แต่อาหารคนไข้

ถือเป็นภาพที่สามารถพบเห็นได้ที่ประเทศเวเนซุเอลาในวันนี้

 

ตำนานหน้านี้ยังไม่จบ และความทุกข์ยากของชาวเวเนซุเอลายังคงรอการคลี่คลาย คงต้องติดตามกันว่าตำนานเรื่องนี้จะไปสิ้นสุดลงตรงหน้าไหน

 

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตำนานแผ่นดินและฟ้าสีทองแห่งนี้คงจะเป็นบทเรียนให้กันประชากรโลกได้มากทีเดียว

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน