เศรษฐกิจ

การที่ประชาชนได้รับวัคซีนช้า 1 วัน ส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไหร่

การที่ประชาชนได้รับวัคซีนช้า 1 วัน ส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไหร่

การที่ประชาชนได้รับวัคซีนช้า 1 วัน ส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไหร่

 

นับจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วัคซีนที่ทยอยผลิตออกมา ล้วนเป็นความหวังสำคัญในการหยุดยั้งการระบาด [1] การได้รับวัคซีนยังส่งผลอย่างมากในด้านจิตใจ ผลสำรวจจากบางกอกโพสต์ในคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,186 คน ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนร้อยละ 51.3 หวังว่าการมาถึงของวัคซีนจะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาด ผู้คนร้อยละ 32.8 เชื่อมั่นในวัคซีนเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ผู้คนเพียงร้อยละ 15.9 มีความหวังในวัคซีนเพียงเล็กน้อยไปจนถึงไม่หวังเลย

 

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นอีกว่า สิ่งที่ผู้คนคิดว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ อาชีพการงานและรายได้ (ร้อยละ 50.1) ความกังวลด้านเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องหลัก การติดเชื้อกลับกลายเป็นเรื่องรองลงมา (ร้อยละ 27.4) [2]

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเพิ่มเติมถึงความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับการฉีดวัคซีนและเศรษฐกิจ ย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยิ่งได้รับวัคซีนเร็วขึ้นเท่าไหร่ เศรษฐกิจยิ่งมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ดีมากขึ้นเท่านั้น เช่น ในปี ค.ศ. 2020 ที่สหรัฐอเมริกา ผู้คนที่มีรายได้ต่ำถูกให้ออกจากงาน และยังคงสถานะเป็นคนว่างงานมากถึงร้อยละ 56 [3] เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหดตัวร้อยละ 3.5 ในปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ การได้ฉีดวัคซีนส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มเติบโตขึ้นร้อยละ 8 [4] การฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อ การติดเชื้อ ส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

 

แต่ในขณะเดียวกัน การได้รับวัคซีนล่าช้าก็ส่งผลอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีนล่าช้าของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปในช่วงต้นปี ค.ศ. 2021 ส่งผลให้ประชาชนเพียงร้อยละ 0.12 ได้รับการฉีดวัคซีนต่อวัน ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 14.4 ในอังกฤษและ 9.4 ในสหรัฐอเมริกาได้ฉีดวัคซีนต่อวัน การฉีดวัคซีนล่าช้าทำให้เป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ว่าประชาชนร้อยละ 70 ต้องได้รับการฉีดวัคซีนภายในฤดูร้อนปีนี้กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 

กว่าประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนครบ อาจต้องรอไปถึงช่วงปลายปีค.ศ. 2021 และกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว อาจต้องรอไปถึงช่วงกลางปีค.ศ. 2021 [5] เช่นเดียวกับในออสเตรเลียที่มีการคาดการณ์ว่า การได้รับวัคซีนล่าช้าอาจส่งผลให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจล่าช้าออกไปอีก 6 เดือน และอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึงหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ [6]

 

เมื่อกลับมาพิจารณาที่ประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ไว้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 2.6 เหลือเพียง 1.8 เนื่องจากการฉีดวัคซีนล่าช้าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่ารัฐบาลจะออกโครงการสนับสนุนทางการเงินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเราชนะ หรือเรารักกัน แต่การไม่ได้รับวัคซีนก็ส่งผลให้โรคระบาดยังคงอยู่ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ย่อมส่งผลให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ล่าช้า

 

นอกจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะล่าช้าออกไปแล้ว การระบาดที่เพิ่มมากขึ้นจากการได้รับวัคซีนล่าช้ายังส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของไทยที่มีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ หากระบบสาธารณสุขของไทยพังครืนลงมา เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนแฝงอีกจำนวนมาก แรงงานทั่วไปที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยากขึ้น จำนวนแรงงานอาจลดลง เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญความเสียหายที่มากกว่าแค่การบริโภคที่ลดลง หรือการท่องเที่ยวที่หายไป [7]

 

การได้รับวัคซีนช้าไปเพียงหนึ่งวัน ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ การได้รับ หรือไม่ได้รับวัคซีนเป็นเสมือนทางเลือกที่มีผลลัพธ์เพียงขาวกับดำ ประเทศที่ได้รับวัคซีนย่อมได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศที่ไม่ได้รับวัคซีนต้องเผชิญกับภาวะชะงักงันในการลงทุน การเดินหน้าต่อของธุรกิจ ความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงแรงกดดันทางการเมือง [5] ในสถานการณ์เช่นนี้ เราคงได้แต่หวังถึงการได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและไม่ล่าช้า ก่อนที่เศรษฐกิจจะเสียหายจนยากจะเยียวยาได้อีกต่อไป

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

รายการอ้างอิง

[1] Pollard, A. (February 4, 2021). Vaccines have given us hope, but they won’t end the global battle against Covid. Retrieved from https://www.theguardian.com/commentisfree/2021/feb/04/vaccines-covid-virus-mutate-years

[2] Online Reporters. (January 24, 2021). 1 year after Covid began, poll reveals what Thais have learned. Retrieved from https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2056227/1-year-after-covid-began-poll-reveals-what-thais-have-learned

[3] Rooney, K. (January 14, 2021). These 8 charts show how the global economy is coping with COVID-19. Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2021/01/global-economy-covid-vaccine-charts/

[4] Fairless, T. (March 10, 2021). U.S. Set to Power Global Economic Recovery From Covid-19. Retrieved from https://www.bangkokpost.com/business/2081075/u-s-set-to-power-global-economic-recovery-from-covid-19

[5] EULER HERMES. (February 3, 2021). Vaccination delay to cost Europe EUR90bn in 2021. Retrieved from https://www.eulerhermes.com/en_global/news-insights/economic-insights/Vaccination-delay-to-cost-Europe-EUR90bn-in-2021.html

[6] Wade, M. (April 16, 2021). Delayed vaccination rollout will cost Australia ‘tens of billions’, say economists. Retrieved from https://www.smh.com.au/business/the-economy/delayed-vaccination-rollout-will-cost-australia-tens-of-billions-say-economists-20210415-p57jk3.html

[7] ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (20 เมษายน 2564). ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 2564 โตลดลงที่ 1.8% หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3923). สืบค้นจาก https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Thai-GDP-y3923.aspx

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน