ทัศนคติ

อคติ 5 ประการที่ส่งผลเสียต่อการลงทุน

อคติ 5 ประการที่ส่งผลเสียต่อการลงทุน

อคติ 5 ประการที่ส่งผลเสียต่อการลงทุน 

 

ความคิดคือสิ่งสำคัญที่กำหนดทิศทางของการกระทำ สำหรับนักลงทุนแล้ว การมีความคิดที่ชัดแจ้ง ผ่านการตกผลึกทบทวน ไม่ตกอยู่ในห้วงอารมณ์หรืออคตินับเป็นกุญแจสำคัญไปสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม อคติในการลงทุนยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนออคติทั้ง 5 ประการที่นักลงทุนอาจต้องเผชิญ และคอยเฝ้าระวังไม่ให้อคติดังกล่าวส่งผลเสียต่อการลงทุน ดังต่อไปนี้ 

 

อคติข้อแรก คือความคิดที่มั่นใจในตนเองมากจนเกินไป (overconfidence bias) ผลการวิจัยจาก Financial Industry Regulatory Authority (FINRA) แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนร้อยละ 64 มีความเชื่อมั่นว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนอยู่ในระดับสูง และความเข้าใจเช่นนี้เองอาจนำไปสู่การเลือกลงทุนโดยอาศัยการตัดสินใจจากตัวเองโดยไม่ติดตามข่าวสาร ไม่หาข้อมูลให้รอบด้าน ไม่รับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และอาจทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในระดับความเสี่ยงที่เกินขอบเขตที่ตนเองสามารถรับได้ [1]

 

อคติข้อต่อมา คือการไม่กล้าตัดสินใจลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียใจ (regret aversion bias) ผู้คนมากมายพยายามหลีกเลี่ยงความรู้สึกเสียใจด้วยการไม่ทำอะไรก็ตามที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น หากชั่งน้ำหนักกันระหว่างการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรแล้วเกิดความสุข กับการลงทุนแล้วขาดทุน และต้องเผชิญกับความเสียใจ นักลงทุนส่วนหนึ่งอาจไม่สามารถก้าวผ่านความกลัวที่จะเสียใจได้ และเลือกที่จะไม่เสี่ยงแม้จะมีโอกาสได้รับความสุขจากผลกำไรก็ตาม ความคิดเช่นนี้กลายเป็นการปิดกั้นโอกาส และทำให้ความกลัวอยู่เหนือการตัดสินใจด้วยเหตุผลไปอย่างน่าเสียดาย [2]  

 

อคติประการที่สาม คือการมองหาแต่สิ่งที่ยืนยันความคิดความเชื่อของตนเอง (confirmation bias) สำหรับนักลงทุนแล้ว การมองหาข้อมูลให้รอบด้านเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีอคติประเภทที่ต้องการมองหาแต่สิ่งที่สอดคล้องกับความคิดของตนเอง ย่อมกลายเป็นการปิดกั้นข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ที่โต้แย้งกับสิ่งที่คิดไว้ และอาจกลายเป็นการปิดขังตนเองไว้ในโลกที่มีแต่ผู้คนคล้อยตาม และตัดสินใจลงทุนผิดพลาดในที่สุด [3] 

 

อคติประการที่สี่ คือการเลือกทำตามคนหมู่มาก (Herd Mentality) มนุษย์มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมทำตามสิ่งที่ผู้อื่นกระทำในฐานะสมาชิกของกลุ่มที่อยู่รวมกันเป็นฝูง หากพิจารณาถึงโลกของการลงทุน ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนในหุ้นที่ทุกคนกำลังบอกต่อกันว่าดี เลือกลงทุนตามกระแสจากความนิยมและการชี้นำโดยเหล่าบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ทั้งนี้ การลงทุนเพียงเพราะผู้คนบอกต่อกันไม่อาจเป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่าการลงทุนจะประสบความสำเร็จ การคิดไตร่ตรองด้วยตนเองและพิจารณาข้อมูลให้รอบด้านยังคงมีความสำคัญสำหรับนักลงทุนเสมอ [1]

 

อคติประการสุดท้าย คือการให้คุณค่าสิ่งที่ตนเองครอบครองสูงเกินความเป็นจริง (Endowment effect) อคติประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนเกิดความรู้สึกเชิงบวกกับสินทรัพย์ที่ตนเองครอบครอง และเริ่มประเมินค่ามันสูงขึ้นเกินกว่าราคาตลาด เช่น นักลงทุนอาจประเมินหุ้นตัวแรกที่เริ่มซื้อสูงกว่าราคาที่เป็นจริง เพราะความรู้สึกผูกพัน ส่งผลให้ไม่กล้าขายหุ้นตัวดังกล่าว แม้ในระยะหลังจะมีผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดไว้อย่างต่อเนื่อง อคติประเภทนี้เหนี่ยวรั้งไม่ให้นักลงทุนประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริง ติดกับดักของความรู้สึกดีในฐานะเจ้าของ จนพลาดโอกาสที่จะได้รับสิ่งใหม่ที่ดีกว่า [2] 

 

อคติทั้ง 5 ประการดังที่กล่าวมานี้สะท้อนถึงการปล่อยให้อารมณ์หรือสัญชาตญาณครอบงำจนละเลยที่จะพิจารณาหลักเหตุผลและข้อมูล จนอาจส่งผลเสียต่อการลงทุนได้ในท้ายที่สุด ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะสามารถก้าวข้ามอคติเหล่านี้ และประสบความสำเร็จในการลงทุนตามที่ตั้งใจไว้ได้อย่างดีที่สุด 

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Raymond A. Mason School of Business. (February 5, 2025). 5 Behavioral Biases That Can Impact Your Investing Decisions. Retrieved from https://online.mason.wm.edu/blog/behavioral-biases-that-can-impact-investing-decisions
[2] Scotia Bank. (April 6, 2023). 5 common investing biases and how to avoid them. Retrieved from https://www.scotiabank.com/ca/en/personal/advice-plus/features/posts.5-common-investing-biases-and-how-to-avoid-them.html
[3] Paris Financial. (August 26, 2024). Decoding cognitive biases: what every investor needs to be aware of. Retrieved from https://www.parisfinancial.com.au/biases-and-investing

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน