หากพูดนักลงทุนที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ ” ประชา ดำรงค์สุทธิพงศ์ “คงต้องติดทำเนียบนี้อย่างไม่มีพลิกโผแน่ๆ วันนี้ลงทุนศาสตร์จึงถือโอกาสสรุปแนวคิดการลงทุนแบบคุณประชามาให้อ่านเพื่อให้นักลงทุนนำไปประยุกต์ต่อยอดเป็นประโยชน์สำหรับตนเองกัน
คุณ ประชา ดำรงสุทธิพงศ์ ลงทุนแบบวอร์เรน บัฟเฟตเป็นหลัก
โดยยึดแนวทางการลงทุนแนวเน้นคุณค่า (value investor) จากแต่ก่อนบัฟเฟตเน้นลงทุนในหุ้นราคาถูกและขายออกเมื่อราคาถึงเป้าหมาย แต่หลังจากรู้จักกับชาร์ลี มังเกอร์ บัฟเฟตก็มาเน้นการลงทุนในสุดยอดธุรกิจที่ราคาสมเหตุสมผล คุณประชานำวิธีนี้มาปรับใช้กับตนเองและคิดว่าน่าจะเป็นหนทางที่เหมาะสมกับการลงทุนของตนเอง
หุ้นคุณภาพดีดูสามารถดูได้จากอัตราส่วนทางการเงินบางตัว
อัตราการทำกำไร (profit margin) เป็นสิ่งที่นักลงทุนชอบดู แต่ความจริงแล้วไม่ใช่สิ่งเปรียบเทียบหุ้นต่อหุ้น แต่เป็นการเปรียบเทียบกันในอุตสาหกรรมว่าบริษัทไหนมีความสามารถสูงกว่ากัน โดยเฉพาะความสามารถในการคุมต้นทุน แต่สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ROE (return on equity) หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งบ่งบอกถึงช่วงเวลาในการคืนทุนจากการลงทุน
ความจริงอัตราส่วนที่บ่งชี้ได้ดีกว่า ROIC คือต้องเอาหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยมารวมด้วย แต่ถ้าคำนวณยาก อาจดูจากหุ้นที่มี ROE สูงแต่หนี้น้อยแทน โดยเทรนด์ของ ROE ไม่สำคัญเท่ากับ ROE ได้สะท้อนกิจการออกมาชัดเจน รวมไปถึงภาพในอนาคตแล้วหรือยัง
ยกตัวอย่างอย่าง BDMS ที่เคยมี ROE ต่ำกว่า BH และ BCH ซึ่งความจริงปัญหาตอนนั้นเกิดจาก BDMS กำลังขยายงานค่อนข้างมาก มีเงินลงทุนเยอะ และกำไรถูกกดดันจากการค่าเสื่อมราคาที่สูง โดย BDMS มีค่าเสื่อมประมาณ 10% ของรายได้ แต่ BH และ BCH มีค่าเสื่อมประมาณ 5% ของรายได้ นักลงทุนจึงต้องดูศักยภาพของ ROE บริษัทในอนาคตให้ออก โดยถ้าบริษัทมีเงินสดสูงควรหักลบก่อนคำนวณ ROE ก่อน ซึ่งระยะเวลาการคืนทุนของกิจการก็คือ ROE นั่นเอง
วอร์เรน บัฟเฟตชอบบริษัทที่มีกระแสเงินสดดี บริษัทที่ดีควรโตดีจากรายได้ที่มาจากเงินสด ไม่ใช่มาจากการขายเงินเชื่อเป็นหลัก โดยอัตราส่วนที่น่าสนใจคือ Cash Cycle (CC) หรือวงจรเงินสด คำนวณจากระยะเวลาชำระเงินจากลูกหนี้บวกระยะเวลาขายสินค้าลบระยะเวลาชำระเงินให้เจ้าหนี้ CC ค่าบวกมากจะไม่ดี บวกน้อยจะดี แต่ถ้าติดลบเลยจะดีมาก การที่ CC ติดลบจะทำให้บริษัทได้เงินเข้ามามากขึ้นจากการทำธุรกิจ
บริษัทที่ CC ดีๆ จะมีศักยภาพในการขยายธุรกิจได้ดี ไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อขยายกิจการ รวมไปถึงสามารถปันผลได้มาก เพราะบริษัทไม่จำเป็นต้องกันเงินไว้ขยายกิจการ นอกจากนี้ หากต้องการจะกู้เพื่อเทคโอเวอร์กิจการก็ทำได้ง่าย เพราะกู้ธนาคารได้ง่าย ธุรกิจที่ CC ติดลบหรือบวกอ่อนๆ มักจะเป็นหุ้นกลุ่มค้าปลีก หรือสินค้าอุปโภคบริโภคบางตัว
กรณีศึกษา : TKN (ข้อมูลในอดีต ไม่ใช่การแนะนำซื้อ ถือ หรือขาย)
เถ้าแก่น้อยเป็นกิจการที่มีข่าวมาสักพักแล้ว คุณประชารู้สึกประทับใจคุณต๊อบจากภาพยนตร์ หลังจากนั้นก็อ่านข้อมูลเถ้าแก่น้อยมาตลอด คุณประชาอ่านข้อมูลจากแบบไฟลิ่งและชอบ เพราะ ROE สูง และ CC เป็นบวกอ่อนๆ ซึ่งถือว่าเก่งสำหรับธุรกิจ consumer products นอกจากนี้ ยอดขายต่างประเทศที่จีนเติบโตดีมาก ถึงแม้ว่าตลาดในประเทศจะอิ่มตัว คุณประชาก็ไปหาอ่านแนวคิดผู้บริหารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จนรู้สึกว่าบริษัทนี้มี management quality ดี ผู้บริหารลงพื้นที่จริง ติดตามกิจการจริง
พอ TKN เข้าตลาดที่ 4 บาท โดยบทวิเคราะห์ให้ค่า PE ตามค่าเฉลี่ยกลุ่มแถว 15 – 20 เท่า แต่คุณประชามองว่าหุ้นดีกว่าอุตสาหกรรมควรจะได้ค่าพีอีที่สูงกว่า พอตลาดเปิดราคาวันแรกอยู่แถว 5 บาท จึงตัดสินใจซื้อเพราะมองว่ามูลค่าอยู่ตอนนั้นแถว 6 – 7 บาท คุณประชามองว่าธุรกิจ consumer products เป็นเหมือนธุรกิจการตลาด เพราะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ตลอด ลงทุนไม่มาก แต่ถ้าตัวไหนประสบความสำเร็จก็สามารถสร้างรายได้มหาศาลจนชดเชยความผิดพลาดที่เหลือทั้งหมดได้
กรณีศึกษา : AOT (ข้อมูลในอดีต ไม่ใช่การแนะนำซื้อ ถือ หรือขาย)
คุณประชาเจอ AOT ตั้งแต่ 40 บาทก่อนแตกพาร์ อนาคตดี ความสามารถในการแข่งขันสูง โดยมองเป้าว่าราคาน่าจะไปถึง 100 บาท ใน 3 ปี พอผ่านมา 1 ปีกว่าราคาขึ้นมา 100 บาทก็ขายไปจนกำไรหายไป 4 เท่า โดยมองว่าพื้นฐานกิจการไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่ราคามาถึงเป้าที่มองไว้ เรื่องนี้จึงได้ข้อคิดว่า target price เป็นเรื่องรอง ถ้าราคาขึ้นไปมากแต่พีอียังอยู่ในจุดที่พอรับได้ก็ควรถือต่อไปจนกระทั่งพื้นฐานเปลี่ยน หลักคิดง่ายๆ คือหาหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต้องดูว่าหุ้นจะทำกำไรจุดสูงสุดใหม่ได้ ถ้าหาได้ก็ลงทุนได้ เพราะสุดท้าย ราคาจะวิ่งไปตามกำไรของกิจการนั่นเอง
ขอบคุณคุณประชา ดำรงค์สุทธิพงศ์สำหรับการแบ่งปันแนวคิดการลงทุนผ่านงาน คิด… พิชิตโอกาส กับ Thanachart Think
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :