ธุรกิจ

ต้นทุนการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นกับการชดเชยคาร์บอน (carbon offsets) เพื่อช่วยโลก

ต้นทุนการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นกับการชดเชยคาร์บอน (carbon offsets) เพื่อช่วยโลก

ต้นทุนการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นกับการชดเชยคาร์บอน (carbon offsets) เพื่อช่วยโลก

 

คุณจะยินดีจ่ายค่าตั๋วการบินที่มีราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่? หากส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมานั้นคือค่าธรรมเนียมในการชดเชยคาร์บอน หรือที่เรียกกันว่า Carbon offsets ถึงแม้ว่านี่จะดูเหมือนว่าคุณอาจจะต้องแบกรับภาระต้นทุนในการเดินทางทางอากาศที่สูงขึ้น แต่นี่ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเที่ยวบินหนึ่ง ๆ และจากผลการสำรวจความคิดเห็นโดย Morning Consult แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันจำนวน 22% ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเติมจำนวนนี้

 

มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ราว ๆ 44 พันล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศทุกปี ซึ่งจากการศึกษาวิจัยในหัวข้อ The carbon footprint of global tourism ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change เมื่อปี ค.ศ. 2018 พบว่าการท่องเที่ยวนับเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยมลพิษเหล่านั้น โดยการบินถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ในขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ ทั้ง รัฐ เอกชน และบริษัทต่าง ๆ พยายามหาวิธีรับมือกับการลดโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการคิดคาร์บอนเครดิต การลดการใช้พลังงาน การเปลี่ยนมาใช้โซลาเซลล์ เป็นต้น

 

สายการบินก็เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่พยายามจะหาวิธีรับมือจากการเป็นส่วนหนึ่งที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นที่มาของกลไกทางการเงินอย่างการชดเชยคาร์บอน โดยใช้วิธีการคิดคำนวณค่าโดยสารที่ต่างไปจากเดิม โดยในขณะนี้สายการบินหลายแห่งเริ่มใช้วิธีการดังกล่าวแล้ว เช่น American Airlines ได้จัดทำแผนการชดเชยคาร์บอนโดยร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกําไรที่ชื่อว่า Cool Effect ซึ่งลูกค้าจะได้รับทางเลือกในการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกี่ยวข้องกับเที่ยวบินของตัวเอง

 

สำหรับเงินส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาจากการจ่ายเพิ่มที่เรียกว่าการซื้อการชดเชยคาร์บอนนั้นจะถูกใช้ในการสนับสนุนโครงการลดคาร์บอนคุณภาพสูงที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ส่วนสายการบิน Delta Air ก็มีโครงการที่คล้าย ๆ กันโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง สายการบินอย่าง Etihad Airways ก็ได้เปิดตัวโครงการชดเชยคาร์บอนร่วมกับพาร์เนอร์อย่าง CarbonClick ด้วยเช่นกัน ส่วนสายการบิน Southwest Airlines ใช้วิธีการให้แต้มคะแนนกับผู้โดยสารที่จ่ายเงินสูงขึ้นสำหรับเที่ยวบินชดเชยคาร์บอน โดยแต้มคะแนนเหล่านั้นสามารถเก็บสะสมและนำไปแลกของรางวัลและกิจกรรมต่าง ๆ ของสายการบิน

 

สำหรับใครที่สงสัยว่า ทางสายการบินใช้วิธีการอย่างไรในการคำนวณค่าโดยสาร สามารถอธิบายให้เข้าใจได้อย่างง่าย ๆ คือ ในทุกเที่ยวบินที่เข้าร่วมโครงการชดเชยคาร์บอนนั้น จะถูกคำนวณถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นในบรรยากาศในแต่ละรอบเที่ยวบินจากนั้นทำการหารด้วยระยะทางรวมถึงจำนวนผู้โดยสารในรอบนั้น ๆ ก็จะได้จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ต่อผู้โดยสารหนึ่งคนในการเดินทางหนึ่งรอบในเที่ยวบินนั้น

 

สำหรับค่าโดยสารส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่แตกต่างกันในแต่ละบริษัท ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการกำหนดราคาค่าโดยสารจะขึ้นอยู่ปัจจัยหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ประเภทเครื่องบิน ปริมาณน้ำมันที่ใช้ ระยะทางการบิน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง

 

ถึงแม้ว่าจะยังมีคนส่วนใหญ่ที่มองว่ากลไกการชดเชยคาร์บอนเป็นกลไกที่เห็นภาพไม่ชัดเจน แต่ก็ต้องกล่าวว่านี่เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นที่สามารถทำได้ทันทีในการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะหากให้ทำการลดเที่ยวบินหรืองดเที่ยวบินเลยก็นับว่าเป็นวิธีการที่ค่อนข้างเป็นไปได้ยากและหากทำอย่างนั้นจะต้องมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจสูงอย่างแน่นอน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
https://www.cnbc.com/2022/12/17/airlines-can-price-climate-change-into-a-plane-ticket-dont-buy-it.html
https://www.nature.com/articles/s41558-018-0141-x.epdf
https://www.cooleffect.org/american-airlines

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน