THAI หรือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นสายการบินแห่งชาติที่ดำเนินธุรกิจกิจการการบินพาณิชย์ทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศและภายในประเทศโดยแยกการบริหารออกเป็นธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจสายการบิน และกลุ่มกิจการสนับสนุนการบินและการขนส่ง หลายคนคงรู้กันดีว่าการบินไทยเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมการบินไทยถึงขาดทุน
งบการเงินของ THAI ในปี 2557 -2561 (ครึ่งปีแรก)
ปี 2557 รายได้ 203,966.62 ล้านบาท ขาดทุน 15,611.62 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 192,723.20 ล้านบาท ขาดทุน 13,067.67 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 181,446.21 ล้านบาท กำไร 15.14 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 190,534.63 ล้านบาท ขาดทุน 2,107.35 ล้านบาท
ปี 2561 (6 เดือน) รายได้ 100,950.44 ล้านบาท ขาดทุน 381.63 ล้านบาท
ก่อนอื่นต้องออกตัวไว้ก่อนว่าบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวในเชิงวิเคราะห์ด้วยมุมมองนักลงทุน ประเด็นบางอย่างอาจจะไม่ได้เล่าตามคำชี้แจงของบริษัท แต่สรุปรวมจากการติดตามภาพรวมผลประกอบการของกิจการมาหลายปี
ทำไมการบินไทยถึงขาดทุน ?
1 การบินไทยแบกต้นทุนค่าอาคาร ที่ดิน และอุปกรณ์ไว้มากเกินไป
จากข้อมูลเปรียบเทียบค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรอบงวดการเงิน 6 เดือนแรกของปี 2561 พบว่าต้นทุนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของ THAI สูงกว่า AAV (ไทยแอร์เอเชีย) และ BA (บางกอกแอร์เวย์) มาก โดยอัตราส่วน % ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมของ THAI สูงถึง 11.82% ในขณะที่ BA อยู่ที่ 4.68% และ AAV อยู่ที่ 3.87%
ข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่าการบินไทยแบกสินทรัพย์ไว้มากเกินไปหรืออาจจะเป็นสินทรัพย์ที่ราคาแพงเกินไป เกินกว่าที่ตัวบริษัทเองจะสามารถนำมาสร้างมูลค่าให้คุ้มค่ากับต้นทุนได้ สังเกตว่ารายได้ที่ทำได้จากต้นทุนค่าเสื่อมราคานั้นน้อยกว่าบริษัทอื่นกว่าครึ่งเลยทีเดียว ประเด็นชี้ให้เห็นโครงสร้างสินทรัพย์ที่อาจจะยังใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของปัญหานี้คือ ต้นทุนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายนั้นจะอยู่กับบริษัทไปนาน เพราะอายุการใช้งานของสินทรัพย์ยาว และอาจจะกดดันงบการเงินได้นานในระดับมากกว่า 20 ปี
2 การบินไทยแบกบริษัทในเครือที่มีผลขาดทุนมาก
บริษัทในเครือการบินไทยที่ดูจะเป็นปัญหาสำหรับการบินไทยคือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ที่มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่ำเนื่อง และมีการเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ จนล่าสุด THAI เหลือสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ใน NOK ที่ 495,390,721 หุ้น หรือ 21.80% ซึ่ง NOK ก็ถือเป็นภาระอีกก้อนหนึ่งที่การบินไทยต้องแบกไว้ เพราะเจอเรื่องการรับรู้ขาดทุน (หรือด้อยค่าเงินลงทุน) รวมไปถึงการอาจจะโดนเพิ่มทุนในอนาคตด้วย
ปัญหาอีกบริษัทที่ดูเหนื่อยไม่ต่างกัน มิหนำซ้ำอาจจะดูเหนื่อยกว่าด้วยซ้ำ คือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัดในเครือการบินไทย ไทยสมายล์แอร์เวย์ดูเหมือนจะเป็นความหวังใหม่ของการบินไทยในตอนต้น เพราะจะไปช่วยเจาะตลาดสายการบินราคาประหยัด แต่ผลคือ ไทยสมายล์แอร์เวย์ มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่องปีละ 1,600 – 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินขาดทุนก้อนใหญ่มากเมื่อเทียบกับการบินไทย และที่สำคัญ การบินไทยถือหุ้นในไทยสมายล์แอร์เวย์ทั้ง 100% ด้วย ทำให้ต้องรับรู้การขาดทุนเต็มๆ และต้องแบกการบริหารบริษัทนี้ไว้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
3 การบินไทยอยู่ในธุรกิจสายการบินที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง
ถึงแม้ว่าการบินไทยจะมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นนัก เพราะอุตสาหกรรมสายการบิน ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและค่อนข้างเสรีมาก บริษัทไม่ได้แข่งกับแค่สายการบินในประเทศ แต่แข่งกับสายการบินทั่วโลก
สายการบินถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง เมื่อลองคิดตามหลักแรงกดดันทั้ง 5 หรือ 5 – forces model ทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูง การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ยาก ความสามารถในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ต่ำ ลูกค้าก็ไม่จงรักภักดีต่อแบรนด์มากและพร้อมจะย้ายไปหาแบรนด์อื่นที่ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า ธุรกิจสายการบินจึงเป็นธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนต่อเงินทุนต่ำโดยธรรมชาติ อย่างการรวบรวมข้อมูลผลตอบแทนจากการลงทุน (ROIC) ของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1998 – 2008 ก็พบว่าอุตสาหกรรมสายการบินให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดเลย
เรียกได้ว่าปัญหาภายในก็เหนื่อย ปัญหาในเครือก็เหนื่อย และภาพรวมของอุตสาหกรรมก็เหนื่อยเช่นกัน
เอาใจช่วยการบินไทยกันต่อไป ถึงแม้ว่าส่วนตัวจะไม่เคยลงทุนในหุ้นนี้แต่คนไทยทุกคนก็เหมือนลงทุนในหุ้นนี้อยู่ดี เพราะถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยก็คือกระทรวงการคลัง ซึ่งก็หมายถึงคนไทยทุกคนนั่นเอง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :