ธุรกิจ

ICHITAN ในวันที่ความหวานเป็นพิษ

Ichitan

ICHI หรือ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คือ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเจ้าดังของประเทศไทย โดยมีแบรนด์หลักๆ ในเครือ ได้แก่ Ichitan (อิชิตัน) , เย็นเย็น และ ไบเล่ โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารเป็น คุณตัน ภาสกรนที นักธุรกิจชื่อดังของประเทศไทย

 

ICHI เป็นหุ้นที่โด่งดังมากตัวหนึ่งของตลาดหุ้นไทย

 

ICHI ตั้งบริษัทในปี 2010 และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2014 ราคา IPO อยู่ที่หุ้นละ 13 บาท ตอนนั้นชาเขียวอิชิตันขายดีมาก ความต้องการหุ้น ICHI ก็ล้นหลาม ราคาหุ้นเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดถึง 29.75 บาท ภายในเวลา 5 เดือน ตอนนั้นหุ้น ICHI คือ สีสันของตลาดหุ้น ใครไม่ได้หุ้น IPO มาซื้อในวันเปิดตลาดแล้วถือ 5 เดือน หุ้นก็ให้ผลตอบแทนเกือบ 100%

 

หลังจากนั้น บริษัทก็เจอปัจจัยกดดันอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่หนักหน่วงที่สุดน่าจะเป็นสงครามราคาในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในประเทศไทย หลายปีผ่านไป ชาเขียวแทบไม่เคยได้ขึ้นราคาเลย แถมยังจะต้องจัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง กำไรลดลง นักลงทุนบางส่วนเริ่มผิดหวัง ราคาหุ้นก็ร่วงลงมาตลอดทาง

 

หุ้น ICHI มาทำจุดต่ำสุดที่ 2.90 บาท หรือคิดเป็นผลขาดทุน 90.03% เมื่อเทียบจากจุดสูงสุด และเทียบเป็นผลขาดทุน 77.69% เมื่อเทียบกับราคา IPO

 

งบการเงินของ ICHI ปี 2018 ก็ค่อนข้างหนักหน่วงจากหลายปัจจัยกดดัน

 

ไตรมาสที่ 1 กำไร 32.91 ล้านบาท ลดลง 47.31% จากปีก่อนหน้า
ไตรมาสที่ 2 ขาดทุน 30.37 ล้านบาท ลดลงจากกำไร 90.24 ล้านบาทในปีก่อนหน้า
ไตรมาสที่ 3 กำไร 23.71 ล้านบาท ลดลง 65.77% จากปีก่อนหน้า
ไตรมาสที่ 4 กำไร 17.60 ล้านบาท ลดลง 81.11% จากปีก่อนหน้า

 

รวมตลอดปี กำไรปี 2018 เท่ากับ 43.84 ล้านบาท ลดลงจาก 315.09 ล้านบาทในปี 2017 หรือเทียบเท่ากับลดลง 86.09%

 

อะไร คือ ปัจจัยกดดันกำไรของ ICHI ให้ลดลงหนักหน่วงขนาดนี้

 

1 ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในประเทศแข่งขันสูง

 

หลังจากที่อิชิตันเคยประสบความสำเร็จอย่างมากจากกลยุทธ์เปิดฝาลุ้นรางวัล แบรนด์อื่นก็หันมาทำกลยุทธ์แบบเดียวกันบ้าง กลายเป็นว่าตลาดเกิดการแข่งขันอย่างมาก และทำให้เกิดแรงกดดันด้านราคาค่อนข้างมาก อีกประเด็นสำคัญหนึ่ง คือ รสชาติชาเขียวแต่ละยี่ห้อไม่ได้แตกต่างกันอย่างโดดเด่นจนแทนกันไม่ได้ ลูกค้าจำนวนมากตัดสินจากราคา นั่นทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคากดดันกำไร

 

2 ตลาดเครื่องดื่มที่ไปบุกที่ต่างประเทศยังขาดทุนหนัก

 

หลังจากที่อิชิตันเจอศึกการแข่งขันรุนแรงในประเทศแล้ว ผู้บริหารก็ยกทัพอิชิตันไปบุกประเทศใหม่ นั่นทำให้เกิดการลงทุนทำการตลาดอย่างมาก โดยตลาดที่ ICHI ให้ความสำคัญมาก คือ ตลาดประเทศอินโดนีเซีย แต่ในช่วงเริ่มต้น ธุรกิจก็ยังไม่สามารถทำกำไรได้ บริษัทยังต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนอยู่กว่าปีละ 100 ล้านบาท

 

3 ภาษีสรรพสามิตและภาษีความหวานลดอัตราการทำกำไรอย่างมาก

 

ในขณะที่ราคาขายขึ้นยากมาก บริษัทกลับเจอการขึ้นภาษีสรรพสามิตและภาษีความหวานจากภาครัฐ ทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่มขึ้นจากภาษีในทันที แต่ราคาขายกลับขึ้นได้ยากและอ่อนไหวต่อผู้บริโภค ปัจจัยดังกล่าวทำให้กดดันกำไรของบริษัทเป็นอย่างมาก

 

อัตรากำไรสุทธิ หรือ NPM ของ ICHI ลดลงจาก 5.5% เหลือเพียง 0.8% เท่านั้น เรียกได้ว่าเจ็บหนักจากภาษีความหวานของรัฐบาลเหลือเกิน

 

เรียกว่า ความหวานทำพิษ ก็คงจะไม่ผิดหนัก

 

เพราะในวันนี้ ธุรกิจไหนขายเครื่องดื่มหวานมาก ยิ่งเจ็บหนักมากไปตามภาษีความหวานที่ขึ้นไปตามสัดส่วนน้ำตาลในส่วนผสม เรียกว่าหวานจนกดดันกำไรให้พลิกจะแทบจะขาดทุน

 

คงต้องหวังพึ่งตลาดอินโดนีเซียที่ในปีนี้ยังเห็นการเติบโตของตลาดต่างประเทศอยู่บ้าง หากธุรกิจที่อินโดนีเซียพลิกมากำไรได้ ICHI ก็จะกอบกู้กำไรมาได้มากพอสมควร

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน