Net Zero ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างไร
ปัญหาเรื่องวิกฤตภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ตอนนี้ทั้งรัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยความเร่งด่วนของประเด็นปัญหา จากตัวอย่างของเหตุการณ์ภัยพิบัติหรืออุณหภูมิของโลกที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจวัด ขอความร่วมมือจากธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านมาตรการชื่อ Net Zero ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเหล็กโดยตรง เพราะอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้พลังงานจากถ่านหินสูง
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า Net Zero คืออะไร
Net Zero เป็นพันธกิจที่ตั้งเป้าหมายว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องเป็นศูนย์ โดยตัวชี้วัดคือ การหยุดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปีค.ศ. 2030 และต้องบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ไห้สำเร็จภายในกลางศตวรรษนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศให้ได้
แล้วทำไมต้องเป็นห่วงอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเป็นพิเศษ
เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กมีการใช้พลังงานจากถ่านหินในสัดส่วนที่สูง จึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการถลุงแร่เหล็กและการหลอมเหล็กซึ่งจำเป็นต้องใช้ความร้อนสูง
อย่างถ่านหินเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในกระบวนการดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 75% ของการใช้พลังงานทั้งหมด รองลงมาเป็นการใช้แหล่งเชื้อเพลิงจากไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วน 13% และ 8% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ตามลำดับ
ประเด็นที่สำคัญคือ ปัจจุบันมีความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งรัฐและเอกชนที่จะออกนโยบายย่อย ๆ จากพันธกิจ Net Zero อีกที มาใช้เป็นมาตรฐาน โดยบังคับใช้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กก็เช่นกัน ธุรกิจค้าเหล็กในประเทศไทยจึงถูกบังคับให้ต้องปรับตัวตามสถานการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อมและพันธกิจระหว่างประเทศ
แล้วบริษัทผลิตเหล็กจะปรับตัวอย่างไรได้บ้าง
โดยข้อแนะนำจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ของธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หากประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการลดการผลิตเหล็กในประเทศลง และหันไปพึ่งพาเหล็กนำเข้ามากขึ้น จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งผู้ผลิตเหล็กในประเทศและอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กปริมาณมาก
การรีไซเคิลเหล็กจึงเป็นทางเลือกเสริม
การรีไซเคิลเหล็กที่ส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรที่ใช้แล้วให้กลับมาเกิดประโยชน์ใหม่ได้ รวมถึงการเปลี่ยน หรือปรับปรุงเทคโนโลยีและเทคนิคการผลิต เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเพื่อปรับตัวลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน โดยเตาหลอม EAF จะช่วยลดอุปสรรคจากการหาเศษเหล็กที่มีคุณภาพ ทำให้สามารถรีไซเคิลเศษเหล็กที่มีคุณภาพแตกต่างกันในปริมาณมากขึ้น และยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทย
พูดกันตามตรง การปรับตัวของกลุ่มบริษัทผลิตเหล็กในประเทศไทยไม่ใช่เพียงการปรับตัวเพื่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่บริษัทเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบทางการค้าระหว่างประเทศด้วย เมื่อโลกขับเคลื่อนด้วยมาตรการเหล่านี้ บริษัทต่าง ๆ ก็ต้องสร้างผลงานคุณภาพให้อยู่ในมาตรวัด เพื่อให้ได้โอกาสทางการค้า ไม่ถูกตัดออกจากตัวเลือก อีกทั้งเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
ธุรกิจเหล็กในประเทศไทยจะต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พันธกิจ Net Zero จะกระทบการผลิตและต้นทุนอย่างชัดเจน คำถามคือบริษัทเหล่านี้จะปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น อีกทั้งปรับตัวเพื่อลดปัญหาวิกฤตสภาพอากาศโลก
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
ไทยโพสต์, Net Zero ความท้าทายของอุตสาหกรรมเหล็กไทย, อ้างอิงจาก https://www.thaipost.net/columnist-people/210395/
BureauVeritas, Net Zero คืออะไร และดำเนินการอย่างไร, อ้างอิงจาก https://www.bureauveritas.co.th/magazine/what-is-net-zero-and-how-to-get-there
MGROnline, ความท้าทายของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในยุค Net Zero, อ้างอิงจาก https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000082206
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :