ทัศนคติ

ทำอย่างไรเมื่อหมดไฟในการทำงาน

ทำอย่างไรเมื่อหมดไฟในการทำงาน

ทำอย่างไรเมื่อหมดไฟในการทำงาน

 

ความรู้สึกหมดไฟในการทำงาน คือภาวะทางอารมณ์แบบหนึ่ง ที่ใช้คำว่าภาวะ เพราะความรู้สึกนี้อาจไม่ได้อยู่กับตัวคนคนหนึ่งอยู่ตลอด เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่ความรู้สึกนี้ท่วมท้น ซึ่งอาจหายไปเมื่อมีปัจจัยอื่น ๆ มาหนุนเสริม หรืออาจแย่ลงได้หากภาวะนี้ไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์แบบอื่น ๆ บทความชิ้นนี้ชวนสำรวจว่า ภาวะหมดไฟในการทำงานเป็นอย่างไร และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อป้องกัน หรือรับมือ กับภาวะอารมณ์นี้

 

หากจะให้นิยามคำว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ให้ความหมายดังนี้ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน โดยมีอาการหลัก 3 อาการ ได้แก่

  • มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ
  • มองความสามารถในการทำงานของตนเองในเชิงลบ ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ
  • มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า

 

ถามว่า แล้วที่มาของความรู้สึกเหล่านี้มาจากปัจจัยอะไรได้บ้าง ตัวอย่างมีดังนี้

  • ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ
  • ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
  • ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ได้ทุ่มเทไป
  • รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
  • ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน
  • ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง

 

เมื่อเจอภาวะจากตัวกระตุ้นเหล่านี้แล้ว สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อพยายามเอาตัวเองออกมามีหลายวิธี เช่น ลองปรับใจให้ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่รู้สึกไม่ค่อยพอใจมากนัก ยอมรับในความแตกต่าง ทั้งในเรื่องคน เรื่องทัศนคติ หรือความขัดแย้งทางความคิดเห็นในการทำงาน พยายามไม่ด่วนตัดสินใคร เปิดใจให้กว้างในการทำความรู้จักเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า หากรู้สึกยากและจัดการไม่ได้ การปรึกษาใครสักคนที่ไว้ใจได้ หรือแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญเช่นนักจิตวิทยาก็เป็นอีกหนึ่งทาง นอกจากการจัดการตนเองแล้ว ที่จริงองค์กรก็มีส่วนสำคัญในการจัดการภาวะหมดไฟของคนทำงานเช่นกัน การส่งเสียงหรือทำให้องค์กรทราบว่าควรปรับปรุงอย่างไรก็จะเป็นทางออกที่ค่อนข้างยั่งยืนทั้งกับคนทำงานและองค์กรเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
BangkokHospital, Burnout Syndrome อย่ารอให้หมดไฟในการทำงาน, อ้างอิงจาก https://www.bangkokhospital.com/content/burnout-syndrome
JobsDB, 5 วิธีแก้อาการ Burn Out Syndrome, อ้างอิงจาก https://th.jobsdb.com/th-th/articles/5-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-burnout/
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burn Out Syndrome), อ้างอิงจาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1385

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน