Elon Musk ทำอย่างไรถึงเรียนรู้ได้เร็วและดีกว่าคนอื่น
Michael Simmons ไมเคิล ซิมมอนส์ คอลัมน์นิสต์ของนิตยสาร Forbes, Forturn, Time ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ อีลอน มัสก์ ที่น่าสนใจไว้ว่าทำไม อีลอน มัสก์ ถึงสามารถสร้างบริษัทระดับพันล้านได้ถึง 4 แห่ง ทั้งที่อายุแค่ราว 40 ปีเศษ โดยที่ 4 บริษัทที่ว่า ต่างก็มีลักษณะข้อมูลและใช้องค์ความรู้ที่แตกต่างกัน เช่น ซอฟต์แวร์ (PayPal), พลังงาน (SolarCity), การขนส่ง (Tesla) และอวกาศ (SpaceX) หากจะอธิบายความสำเร็จของมัสก์ คนส่วนใหญ่จะมองไปที่ประเด็นสำคัญหลัก ๆ ดังนี้
- การทำงานหนัก (ประมาณ 85 ชั่วโมง/สัปดาห์)
- Vision ในการเห็นอนาคตขั้นเทพ
แต่ซิมมอนส์ ผู้เขียนเรื่องนี้คิดว่าทั้งสองสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ก็ทำ เขาจึงอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้มัสก์ พิเศษกว่าคนอื่น
“Jack of all trades. Master of none.”
ความเชื่อในสังคมแบบเดิม ๆ คือการที่คุณจะทำอะไรได้เทพระดับ world-class คุณต้องโฟกัสที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว เพราะหากคุณศึกษาหลาย ๆ เรื่อง คุณจะได้เรียนรู้แค่ผิวเผิน ไม่สามารถจะเป็น master ในเรื่องใด ๆ ได้ แต่ความสำเร็จของมัสก์ ฉีกกฎเกณฑ์นั้นทิ้งไม่เป็นชิ้นดี ซิมมอนส์ เรียกคนอย่างมัสก์ ว่า Expert-generalists หมายถึงคนที่เชี่ยวชาญในหลาย ๆ ศาสตร์ Expert-generalists จะต่างจาก Specialist ที่เก่งในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง แต่ Expert-generalists จะเรียนรู้ในหลาย ๆ เรื่องให้ลึกไปถึงแก่นของหลาย ๆ เรื่อง เพื่อหาแก่นที่เชื่อมโยงแต่ละเรื่องเข้าด้วยกัน คล้าย ๆ กับที่ Jobs เรียกว่า Connecting the dots สาเหตุหนึ่งที่ Expert-generalists เหนือกว่าคนอื่น ๆ เพราะการศึกษาลึกลงไปในหลาย ๆ เรื่องจะทำให้มีข้อมูลที่มากกว่า และนำมาสู่ความสร้างสรรค์
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของคุณ Demis Hassabis และ James Cameron
ฮัสสาบิส เชี่ยวชาญด้านการเขียน Coding มาตั้งแต่เด็ก ๆ เคยเขียนเกมขายได้หลายล้านเหรียญตั้งแต่อายุ 17 ปี และศึกษาต่อวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่เคมบริดจ์ และยังไปเรียนต่อปริญญาเอก PhD ด้าน neuroscience (ประสาทวิทยา) ที่ MIT กับ Harvard จนจบ จะสังเกตว่าความเชี่ยวชาญของฮัสสาบิส จะมี 2 เรื่องคือเรื่องวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์กับประสาทวิทยา ซึ่งในภายหลังคุณฮัสสาบิส คนนี้เองที่ก่อตั้งบริษัท DeepMind ซึ่งเป็นผู้สร้าง AlphaGo ซึ่งเป็น AI ที่เป็นคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และก็ยังเป็นเป็นเทคนิคเดียวกับที่สมองของมนุษย์ใช้ และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ คือเรื่องราวของ เจมส์ คาเมรอน กล่าวโดยสรุปคือการเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ ๆ อย่างลึกซึ้ง จะทำให้ Expert-generalist พวกนี้ได้เปรียบกว่า Specialist ถ้าฮัสสาบิส หรือคาเมรอน ไม่ได้เรียนรู้ศาสตร์อื่น ๆ นอกจากความถนัดของตัวเองก็คงสร้างได้แค่ บริษัท software หรือภาพยนตร์ระดับกลาง ๆ ไม่ใช่แบบที่ทำได้อย่างทุกวันนี้
Musk’s “learning transfer” superpower
ในช่วงวัยรุ่นมัสก์ อ่านหนังสือวันละ 2 เล่ม ซึ่งตัวเลขนี้น่าจะมากกว่าที่ PhD แต่ละคนอ่านไปหลายเท่าตัว ช่วงแรกมัสก์ จะอ่านนิยายวิทยาศาสตร์, ศาสนา, ปรัชญา, Programming, ประวัติของพวกนักวิทยาศาสตร์และเจ้าของธุรกิจ แต่พอโตขึ้น ความสนใจก็กระจายไปที่ฟิสิกส์, วิศวกรรม, โปรดัคดีไซน์ ธุรกิจ พลังงาน และเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกสอนในโรงเรียนมัธยม มัสก์ ยังเป็นคนที่มีทักษะที่ซิมมอนส์ เรียกว่า learning transfer คือการประยุกต์เรื่องที่อ่านมาใช้ในชีวิตจริง หรือประยุกต์แนวคิดจากธุรกิจหนึ่งไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งเทคนิคที่มัสก์ ใช้ในการ learning transfer มีอยู่ 2 สเตป ดังนี้
- Deconstructs knowledge into fundamental principles
คือการศึกษาเรื่องใด ๆ ลึกลงไปให้ถึงแก่นที่ลึกที่สุดของมันอย่างแท้จริง เทคนิคที่งานวิจัยแนะนำให้เราใช้เรียกว่า “contrasting cases” ตัวอย่างง่าย ๆ เช่นหากเราจะทำความเข้าใจว่าตัวอักษร A มีโครงสร้างยังไง ลองดู 2 approach ในการศึกษาตัวอักษร A ดังภาพนี้
จะเห็นว่าวิธีการที่ดีกว่าที่จะเข้าใจว่าตัวอักษร A แท้จริงมีโครงสร้างยังไงคือวิธีที่ 1 เพราะ วิธีที่ 1 ทำให้เราเข้าใจโครงสร้างที่เหมือนกันของตัว A แต่ละตัว ในขณะเดียวกันเราก็เข้าใจว่าโครงสร้างไหนที่ไม่ได้ทำให้ตัว A เป็นตัว A ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ไม่สำคัญ ในขณะที่วิธีที่ 2 ไม่ทำให้เรารู้ว่าโครงสร้างอะไรสำคัญและไม่สำคัญ (เราอาจจะนึกว่าตัว A ต้องมีเส้นฝั่งขวาทึบกว่าฝั่งซ้าย ทั้งที่ไม่จำเป็น ความทึบของเส้นฝั่งขวาไม่ใช่โครงสร้างสำคัญที่ทำให้ A เป็น A) ด้วยวิธีการศึกษาเคสต่าง ๆ ในแบบเปรียบเทียบ (Contrasting cases) ทำให้เรารู้ว่าอะไรคือแก่น อะไรคือโครงสร้างสำคัญในแต่ละเรื่อง แล้วกับชีวิตประจำวันล่ะ มันจะเป็นอย่างไรม เทคนิคก็คือเวลาเราศึกษาศาสตร์ใหม่ เราไม่ควรจะเริ่มจากวิธีการที่ดีที่สุด (Best practice) แต่เราควรจะศึกษาหลาย ๆ วิธี และ deconstruct แต่ละวิธี เพื่อเปรียบเทียบแต่ละวิธี และเราจะเข้าใจแก่นที่แท้จริงของศาสตร์นั้น ๆ
- reconstructs the fundamental principles in new fields
สเตปที่สองคือการประกอบ fundamental principles นั้นขึ้นมาใหม่ มัสก์ ศึกษาเรื่อง AI, tech, ฟิสิกส์และวิศวกรรมและประกอบเรื่องเหล่านี้เข้ากับอีก 1 ศาสตร์ เพื่อประกอบเป็นองค์ความรู้ใหม่ในแต่ละฟิลด์
เรื่องการเงิน >> PayPal
เรื่องอวกาศ >> SpaceX
เรื่องยานยนต์และพลังงาน >> Tesla และ SolarCity
เรื่องรถไฟ >> Hyperloop
เรื่องอุโมงค์ >> The Boring company
เรื่องสมอง >> Neuralink >> merge สมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์/ AI
มาสรุปกันอีกทีว่าอะไรที่ทำให้มัสก์ เป็น expert-generalist
- อ่านหนังสือมากกว่านักอ่านตัวยงถึง 60 เท่า
- อ่านในหลากหลายเขตข้อมูล (Field)
- Deconstruct ไอเดียไปสู่ระดับองค์ประกอบพื้นฐาน และประกอบมันขึ้นด้วยวิธีใหม่ ๆ
รถยนต์ Tesla ที่ไม่มีเครื่องยนต์อยู่ฝากระโปรงหน้า
มัสก์ไม่ได้เริ่มสร้างรถยนต์ Tesla จากการเปิดฝากระโปรง Toyota หรือ Benz แต่ตั้งคำถามใหม่ว่าจะประกอบ มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอร์รี่และล้อเข้าด้วยกันอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ก็คือการคิดโดยมองข้าม best practice จากรถยนต์ gas car ในปัจจุบัน
การสร้าง SpaceX
มาจากคำถามของมัสก์ว่าจะทำอย่างไรให้มนุษย์ไม่สูญพันธ์จากจักรวาล ไปสู่จะทำยังไงถึงจะสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร ไปสู่คำถามว่าจะทำอย่างไรจึงจะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดาวอังคารในแต่ละครั้งได้ ปสู่การที่ต้องสร้างจรวดที่ขึ้นและลงจอดได้ โดยไม่ต้องทิ้งโครงสร้างจรวดไป และจะทำยังไงจึงจะจะทำทั้งหมดที่ว่ามาได้ จึงนำมาสู่การก่อตั้ง SpaceX จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้วิธีคิดแบบนี้ถูกเรียกว่า first principle ซึ่งหากเราใช้อย่างถูกวิธี เราจะสามารถสร้างแนวคิดหรือวิธีการใหม่ ๆ หรือที่นิยมเรียกกันว่า innovation ขึ้นมาได้
ถ้าเราจะมาพูดในแง่ของการลงทุนเอง เราอาจะสังเกตได้ว่านัก finance นักบัญชี หรือนักคณิตศาสตร์ที่เก่งที่สุดไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่ลงทุนได้ดีที่สุด หากเราศึกษาบริษัทหลากหลายประเภท เราจะพบว่าแก่น หรือ first principle ที่ทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จไม่ใช่โมเดลทางคณิตศาสตร์ แต่เป็นความเข้าใจในตัวธุรกิจของบริษัทอย่างแท้จริงต่างหาก การศึกษาเรื่อง first principle จะทำให้เรารู้ว่าอะไรสำคัญกับธุรกิจจริง ๆ เราอาจสร้าง ratio ใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อวัดคุณภาพของบริษัทแต่ละแห่ง แทนที่จะเป็น finance ratio ที่สอนกันทั่วไปในหนังสือบัญชีก็ได้ จากทั้งหมดมานี้ซิมมอนส์ มองก็ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับมัสก์ ไม่ใช่เวทมนตร์ แต่เป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่ถูกต้องต่างหาก
“Elon Musk is one of a kind, but his abilities aren’t magical.”
บทความโดย นายมานะ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :