มุมมองการลงทุนต่างประเทศของนายมานะ
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนเลยว่าบทความนี้ เป็นการนำประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าให้ได้ฟังกัน เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ มีทั้งข้อดี ข้อเสีย และแนวคิดในการไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ทำไมถึงควรไปลงทุนและข้อจำกัด หรือความเสี่ยง ของการไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ จึงไม่ได้เป็นการมาสนับสนุนให้ทุกคน “ต้อง” ไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ เพราะการลงทุนในหุ้นต่างประเทศอาจจะไม่ได้เหมาะกับนักลงทุนทุกคน หัวข้อแรกที่เราจะมาคุยกันคือ ทำไมเราจึง “ไม่ควร” ไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ โดยนำความเสี่ยงมาบอกเล่ากันก่อน รวมไปถึงโอกาสต่าง ๆ
โดยข้อจำกัดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ ไม่คิดจะไปลงทุนต่างประเทศ โดยส่วนตัวมี 2 สาเหตุใหญ่ ๆ ด้วยกัน
- ข้อจำกัดเรื่องการซื้อขาย
อันนี้ถือได้ว่าเป็นข้อจำกัดทางเทคนิค คือไม่แน่ใจว่าจะซื้อขายได้สะดวกหรือไม่ หรือมีข้อจำกัดอะไรที่จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับพอร์ตของเราหรือเปล่าเปล่า เช่นว่า การกลัวว่าไม่มีโบรกเกอร์ในไทยซัพพอร์ต พอร์ตเล็กก็จะกลัวว่าถ้าเทรดไปก็อาจจะไม่คุ้มค่า commission และก็ยังมีเรื่องภาษีและอัตราแลกเปลี่ยน อย่างเรื่องโบรกเกอร์เอง ก็มีบริษัทหลาย ๆ แห่งมีให้บริการเทรดหุ้นต่างประเทศแล้ว เช่น Kimeng/Aira/Asiaplus/Ktzmico/Finansia/Philip/SCB/KBANK/CIMB/ธนชาติ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่มีปริมาณมาก ไม่ได้ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน มูลค่าพอร์ตขั้นต่ำและค่าธรรมเนียมก็ไม่ได้สูงเหมือนแต่ก่อนด้วย จะขอยกตัวอย่างโบรกเกอร์ที่มีประสบการณ์การใช้ก็จะมีขั้นต่ำเปิดพอร์ตต่างประเทศแค่ 2 แสนบาท ถ้าซื้อขายหุ้น USA ค่าเทรดขั้นต่ำครั้งละ $10 (ค่าธรรมเนียมจริงคิดเป็นต่อหุ้น คือหุ้นละ $0.02 สมมติซื้อหุ้น Google เป็นเงิน 10 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้นคือ 295 หุ้น อันนี้ยังเทรดไม่ถึงค่าเทรดขั้นต่ำที่ $10 แปลว่าซื้อหุ้น 10 ล้าน เสียค่าคอมแค่ 320 บาท ถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว ก็ถือได้ว่าค่าคอมไม่มีนัยยะอะไรกับผลตอบแทนเลย)
นอกจากนี้บางคนอาจจะกังวลว่าเราไปถือหุ้นต่างประเทศที่เป็นชื่อของเรา จะเป็นของเราจริง ๆ หรือเปล่า โบรกเกอร์หลาย ๆ แห่งก็มี Custodian (ตัวแทน) ซึ่งมักจะเป็นบริษัทการเงินระดับโลก เป็นคนถือหุ้นแทนเรา เช่นสมมติ ใช้โบรกชื่อ A แล้วโบรกเจ๊งไป หุ้นก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังอยู่กับ Bank B ที่เป็น Custodian แบบนี้เป็นต้น ส่วนข้อสุดท้ายคือเรื่องภาษี (อันนี้มีทริคนิดหนึ่งคือ ถ้าเราขายหุ้นแล้วมีกำไร เมื่อเรานำเงินกลับเข้ามา เราจะต้องเสียภาษีเป็นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา แต่ทีนี้ถ้าเรานำเงินกลับเข้ามาแบบข้ามปีปฏิทิน เช่น ขายหุ้นปีนี้ เอาเงินกลับเข้ามาปีหน้า แบบนี้ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย) ข้อจำกัดเรื่องการซื้อขาย ทุกวันนี้เลยเป็นอุปสรรคน้อยมาก อาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับ trader หรือนักลงทุนที่ซื้อขายบ่อย แต่สำหรับแนว VI แล้วไม่น่าเป็นปัญหาอะไร
- ข้อจำกัดเรื่องความรู้/ข้อมูล
ซึ่งจะแบ่งเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ข้อจำกัดเรื่องภาษา
- ข้อจำกัดเรื่องความเข้าใจในเชิงธุรกิจ เช่น ไม่เข้าใจหรือไม่เคยใช้สินค้า/บริการ
- ข้อจำกัดเรื่องความเข้าในเศรษฐกิจของประเทศที่เราไปลงทุน
- กลัวว่าแข่งกับกองทุนไม่ไหว เพราะกองทุนใกล้ชิดข้อมูลมากกว่าเรา (ไม่มี CV หรือไป AGM ลำบาก)
- ความเสี่ยงอื่นๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง (เราไม่รู้ว่าเราต้องรู้อะไรบ้าง)
ข้อ 2 นี้ จึงเป็นข้อจำกัดจริง ๆ ของนักลงทุนแบบ VI มากกว่า
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เป็นข้อจำกัดของการไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ส่วนในด้านโอกาสนั้น ก็จะมีคำถามที่ว่า ทำไมถึงควรศึกษา/ไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ
- เป็นการกระจายความเสี่ยงเรื่อง Country Risk
GDP ของประเทศไทยเติบโตไม่เหมือนในอดีต และมีโตที่ช้าลงกว่าเดิมมาก ในขณะที่บางประเทศอย่างเวียดนาม จีน หรืออินเดีย มีโอกาสเติบโตที่น่าสนใจกว่า นอกจากนี้เรามักจะเคยได้ยินกันว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นระยะยาวๆ อยู่ที่ 8-10% ต่อปี แต่ตัวเลขนี้เก็บสถิติมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา (เพราะแนวคิดการลงทุนแบบ VI ส่วนใหญ่มาจากในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจให้โตต่อไปได้เรื่อย ๆ ในส่วนนี้ถ้าไปดูตลาดหุ้นอย่างประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่น หรือประเทศที่เพิ่งผ่านวิกฤติหนัก ๆ แบบกรีซ จะเห็นเลยว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่จะสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องไปได้เรื่อย ๆ เหมือนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ไม่แน่ว่าในอนาคตระยะยาว ๆ อาจจะถึงจุดหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยเริ่มไปต่อไม่ได้เหมือนแบบญี่ปุ่นก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นการลงทุนในหุ้นไทย แล้วคาดหวังผลตอบแทน 8-10% ต่อปี ตลอดไปอาจจะเป็นไปไม่ได้
- สินค้าต่างประเทศอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว
เราอาจจะคิดว่าเราเป็นคนไทย เลยรู้จักแต่สินค้าไทย แต่นั่นอาจจะไม่เป็นความจริง ยกตัวอย่างเช่น มีใครใช้มือถือยี่ห้อของคนไทยบ้าง หรือมีใครขับรถที่เป็นยี่ห้อของคนไทยบ้าง สินค้าหลายอย่างรอบ ๆ ตัวเราไม่ใช่สินค้าไทย อย่างการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทางอินเตอร์เน็ตแบบ Facebook, Google, YouTube พวกนี้ก็ไม่ใช่ของไทย แม้แต่แบรนด์น้ำอัดลม สบู่ ยาสีฟัน พวกนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ของไทย และสินค้าในร้าน 7-11 เองก็ยังเป็นสินค้าต่างชาติ 75% เป็นสินค้าไทยแค่ 25% ซึ่งจริง ๆ แล้วเราอาจจะรู้จักสินค้าของบริษัทในต่างประเทศดีอยู่แล้ว เช่นเรารู้ว่าโค้ก เป๊ปซี่ รสชาติถูกปากคนทั่วโลก บางทีเรายังรู้จักสินค้าของหุ้นรับเหมาก่อสร้างหรือหุ้นปิโตรเคมีในประเทศไทย น้อยกว่าที่เรารู้จักสินค้าของหุ้น Apple หรือ Facebook เสียอีก
- การเพิ่ม universe ของหุ้น หุ้น super stock อาจอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก
ในตลาดหุ้นไทยมีหุ้นประมาณ 600 ตัว หุ้นเวียดนามอีก 600-700 ตัว หุ้นสหรัฐอเมริกามีมากกว่า 3 แสนตัว จะเห็นว่าโอกาสในการลงทุนมีอยู่ทั่วโลก เราไม่จำเป็นต้องรู้จักหุ้น 3 แสนตัวทั้งหมด แต่แค่เราใช้ชีวิตปกติในแต่ละวันเราก็รู้จักสินค้าหลักของหุ้นอย่าง Coke/Apple/Microsoft/Heinz/Facebook/Google/Uniliver/Disney/Netflix และอื่น ๆ อีกมากมายแล้ว และอย่างเทคโนโลยีเองก็เป็น driving force ของเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบัน แต่ประเทศไทยก็ไม่ใช่ผู้นำด้านเทคโนโลยี
- นำความรู้จากการศึกษาหุ้นต่างประเทศ มาเปรียบเทียบกับธุรกิจไทย
เช่น แต่ก่อนหุ้นค้าปลีกในไทย PE ถูกมาก แต่ถ้าเราศึกษาค้าปลีกในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะเห็นว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่ผู้ชนะมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็น Super stock ได้
โดยสรุปคือเราไม่ควรจำกัดตัวเองว่าเราเป็น “นักลงทุนไทย” เราควรมองตัวเองเป็น “นักลงทุน” เฉย ๆ แล้วประเมินโอกาส และความเสี่ยงจากการลงทุนในมิติต่าง ๆ ด้วยความรู้ ไม่ใช่อคติ แต่อย่าลืมข้อจำกัดที่ว่า การลงทุนในต่างประเทศ มีความเสี่ยงต่าง ๆ มากมายที่เราอาจจะนึกไม่ถึงก็ได้ โอกาสจึงมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ ต้องพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ด้วยความรู้ แล้วนำมาพิจารณา SWOT ของตัวเราเองว่าเราเหมาะกับการเป็นนักลงทุนแบบไหน
บทความโดย นายมานะ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :