สตีฟ จอบส์ กับการลงทุน
บทความนี้จะมาเล่าถึงหนังสือเรื่อง สตีฟ จอบส์ ที่เขียนโดยวอลเตอร์ ไอแซคซัน หากจะกล่าวถึงแต่ประวัติเพียงอย่างเดียวคงจะน่าเบื่อไปหน่อย แต่ด้วยหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือชีวประวัติล้วน ๆ จึงจะขอนำประเด็นด้านการลงทุนมาสอดแทรกและกล่าวถึงไปด้วย โดยจะชวนตั้งคำถามที่น่าสนใจไว้คำถามหนึ่งคือ Passion เป็นสิ่งที่สำคัญแค่ไหนสำหรับการบริหารธุรกิจและการลงทุน
จะขอกล่าวมาที่ประวัติของจอบส์ ก่อน หลาย ๆ คนที่ยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ อาจจะคิดว่าจอบส์ เป็นยอดนักประดิษฐ์ ที่สร้างอุปกรณ์เปลี่ยนโลกอย่าง iPhone แต่เรื่องราวของจอบส์ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ หนึ่งในประเด็นที่สำคัญคือโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าจอบส์ ไม่ใช่กระทั่ง engineer แต่เป็น Visionary คล้าย ๆ กับ เจฟ เบโซส หรือ แจ็ค หม่า ที่เห็นภาพว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร โดยที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรม แต่ถึงอย่างนั้นการที่ จอบส์ เบโซส และแจ็ค หม่า จะเป็นหรือไม่เป็นวิศวกรก็คงไม่ได้สำคัญสักเท่าไหร่ ถ้าพวกเขาสามารถสร้างทีมวิศวกร และสร้างผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนโลกได้จริง คนส่วนมากเข้าใจว่าจอบส์ มาปฏิวัติอุตสาหกรรมตอนที่สร้าง iPhone หากเป็นสาวกหรือติดตามเรื่องราวของจอบส์ อยู่ก็อาจจะคิดว่าน่าจะเป็น iPod แต่จริง ๆ แล้ว จอบส์ ได้ปฏิวัติมาตั้งแต่อุตสาหกรรม PC
จอบส์ ร่วมก่อตั้ง Apple กับ สตีฟ วอซเนียก เมื่อปี 1976 และสินค้าอย่างแรกของบริษัทก็คือแผงวงจรคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ความพิเศษของแผงวงจรที่ สตีฟ วอซเนียก ประดิษฐ์คือ การที่เรากดแป้นพิมพ์บนคีย์บอร์ดแล้วทำให้ตัวหนังสือไปปรากฏขึ้นบนจอภาพ คือพอมาฟังตอนนี้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจสีกเท่าไหร่ แต่ในสมัยนั้นคอมพิวเตอร์ที่ได้รับความนิยมไม่ได้ใช้คีย์บอร์ด แต่เป็นการใช้สวิตช์ปิด-เปิด แทนการส่งคำสั่ง (หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game น่าจะพอนึกออก)
Altair 8800
Apple 1
ในตอนนั้นจอบส์ ไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรเลยในการประดิษฐ์ ส่วนที่สำคัญของจอบส์ คือการเปลี่ยนสุดยอดผลิตภัณฑ์นี้ให้เป็นเงิน ซึ่งเดิมทีวอซเนียก ไม่ได้คิดจะก่อตั้งบริษัทขาย Hardware หรือกระทั่งคิดจะทำเงินจากมัน สิ่งที่วอซทำเหมือนคนแต่งนิยายลงเว็บแต่ไม่ได้คิดจะพิมพ์ขาย คือแค่อยากจะทำออกมาแจกจ่ายให้คนได้ใช้กันฟรี ๆ
จอบส์ จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในด้านผลิตภัณฑ์ในการสร้าง Apple II ที่มีหน้าตาน่าใช้กว่าเครื่องแรกมาก แต่บทบาทหลักของจอบส์ ก็ไม่ใช่งานด้านวิศวกรรม แต่เป็นงานด้านการออกแบบ ทำให้สินค้าออกมาใช้ง่ายและที่สำคัญคือทำให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่ Geek กล้าที่จะลองใช้มัน
ถ้าหนังสือจบแค่นี้เราก็อาจจะคิดว่าวอซเนียก น่าจะสำคัญมากกว่าจอบส์ เพราะวอซเนียกเป็นวิศวกร ในขณะที่จอบส์ เป็นนักการตลาด แต่หลังจาก Apple II เป็นต้นไป วอซเนียก จะมีบทบาทน้อยลงมาก
พอเห็นหน้าตาคอมพิวเตอร์แบบนี้ เราจะสังเกตได้ว่ามันไม่มีเมาส์ ก่อนหน้านี้ถ้าเรามองไปที่พัฒนาการของคอมพิวเตอร์เราจะเห็นว่าวิธีการส่งคำสั่งกว่าจะพัฒนามาถึงปัจจุบันนั้น มันผ่านมาหลายขั้นตอน แต่สิ่งที่จอบส์ เข้ามาปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ คือการสร้างอุปกรณ์ที่เปลี่ยนวิธีการส่งคำสั่งจากสวิตช์ > คีย์บอร์ด > เมาส์ > ทัชสกรีน (Multi-touch) แต่ถึงอย่างนั้น การเกิดขึ้นของทั้งเมาส์ก็ไม่ใช่ผลงานประดิษฐ์ของจอบส์ อีก (แล้วก็ไม่ใช่ของ Microsoft ด้วย) คนประดิษฐ์เมาส์คือ Xerox ซึ่งจอบส์ ไปก็อปปี้ไอเดียมาดื้อ ๆ ก่อนที่ Microsoft จะลอกเลียนแบบต่อมาอีกที ในขณะที่คนประดิษฐ์ Multi-touch คือบริษัท Startup ชื่อ FingerWorks ซึ่ง Apple ไปซื้อบริษัทนี้มาในระหว่างพัฒนา iPhone จึงอาจกล่าวได้ว่าจอบส์ ไม่ได้เป็นคนประดิษฐ์เทคโนโลยีเหล่านี้ แค่เป็นคนนำมันมาใช้สร้างผลิณภัณฑ์ของ Apple อีกทีหนึ่ง
พอฟังแบบนี้เราก็อาจจะสงสัยขึ้นมาว่า สรุปแล้วจอบส์ สำคัญอย่างไร
Xerox หรือ FingerWrok ก็เหมือนกับวอซ คือทำงานด้านวิศวกรรมได้ดี แต่ไม่สามารถที่จะพัฒนาให้วิธีการส่งคำสั่งเหล่านี้ง่ายในระดับที่คนทั่วไปสามารถจะใช้ได้ จอบส์ เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้าน User-interface และ User-experience และรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร โดยไม่ต้องทำ Market research ด้วยซ้ำ ซึ่งเรามักจะได้ยินประโยคที่ว่า Market research มันหมดยุคไปแล้ว เลิกถามผู้บริโภคได้แล้วว่าพวกเขาต้องการอะไร เพราะจอบส์ เองก็ไม่เคยทำ แต่ถ้าเราคิดไปถึงเหตุผลจริง ๆ ว่าทำไม จอบส์ ถึงไม่ทำ Market research สาเหตุเพราะว่าจอบส์ มี Passion กับผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมากจนแทบจะเรียกได้ว่าหมกมุ่นเลยทีเดียว
งานที่ Apple เป็น priority แรกของชีวิตจอบส์ ก่อนหน้าครอบครัว หรือกระทั่งสุขภาพของตัวเขาเอง จอบส์ มักจะพูดเสมอว่าเงินไม่ได้สำคัญอะไรกับเขามากมาย สิ่งที่สำคัญสำหรับจอบส์ คือ passion ที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบ โดยเนื้อแท้แล้วจอบส์ ก็มีส่วนคล้ายกับวอซ คืออยากจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีมากกว่าจะทำเงิน แต่จอบส์ เป็นคนที่ Perfectionist กว่าวอซมาก ๆ จอบส์ จึงต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ ซึ่งมักจะมีต้นทุนสูง และต้องทำเงินเพื่อให้บริษัทมีกำไรเพื่อที่จะนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อ ๆ ไปได้ ความหลงใหล หรือ passion ตรงนี้เองที่ทำให้จอบส์ ไม่ต้องถามผู้บริโภคว่าพวกเขาต้องการอะไร เพราะความที่จอบส์ หมกมุ่นกับผลิตภัณฑ์ทั้งวันทั้งคืน หรือบางครั้งก็เป็นเดือน ๆ และความนิยมในความสมบูรณ์แบบนี้ ทำให้จอบส์ รู้ว่าผลิตภัณฑ์แบบไหนคือผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ จอบส์ ก็แค่อยากสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตัวเขาเองใช้แล้วมีความสุขกับมัน
iPod ถูกสร้างขึ้นเพราะ 2 สาเหตุ สาเหตุแรกคือตอนนั้น Apple สร้าง iTunes แล้ว แต่เครื่องเล่นเพลงแบบพกพาในตอนนั้น มีความจุเพลงได้ไม่ถึง 20 เพลง แถมยังใช้งานยาก ในขณะที่ iPod จุเพลงได้ถึง 1,000 เพลง ใช้งานง่าย และสวยกว่าอย่างเห็นได้ชัด iPhone เองก็ไม่ต่างกัน จอบส์ เห็นว่ามือถือในท้องตลาดตอนนั้นไม่ได้เรื่องเลย แต่ก็กลัวว่าต่อไปถ้ามันดีขึ้นเรื่อย ๆ วันนึงคนคงเลิกฟังเพลงผ่าน iPod แล้วฟังผ่านมือถือแทน จอบส์ ก็เลยคิดว่าเขาควรจะเป็นคน disrupt iPod เองมากกว่าจะให้คนอื่นมาทำแทน ทั้ง Passion และ Vision ของจอบส์ เป็นอะไรที่พิเศษมาก ๆ และ Passion ที่มีต่อผลิตภัณฑ์นี้เองที่ทำให้จอบส์ รู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานควรเป็นอย่างไร และต้องมีหน้าตาแบบไหนลูกค้าถึงต้องการหยิบมาใช้งานจริง ๆ ส่วน Vision ก็ทำให้จอบส์ เลือก disrupt ตัวเอง ในขณะที่ iPod กำลังขายดีแบบเทน้ำเทท่า (ซึ่งตรงนี้ต่างจาก Kodak ที่ไม่กล้า disrupt ตัวเอง)
เป็นเรื่องที่เราทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่า Passion และ Vision เป็นส่วนที่สำคัญมาก ๆ ในการที่จะประสบความสำเร็จ แต่กับนักลงทุนแล้ว Passion และ Vision เป็น 2 เรื่องที่สำคัญจริง ๆ หรือไม่นั้น ตรงนี้ก็จะขอนำมาพูดถึงเพิ่มเติม นักลงทุนต้องประเมินอนาคตของกิจการโดยปราศจากอคติ ซึ่งตรงนี้ Vision เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักลงทุนอยู่แล้ว
แล้วประเด็นในส่วนของ passion ล่ะ?
หากเราลองแบ่งอคติออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ เราจะพบว่าอคติในการลงทุนมักจะเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ
- อคติจากความไม่รู้ข้อเท็จจริง (Cognitive bias)
อคติประเภทนี้จะเกิดจาก นักลงทุนที่มักจะนิยมหาทางลัด เช่น ลอกเซียน หรืออิงราคาพื้นฐานจากราคา IPO, ราคาเป้าหมาย พูดง่าย ๆ คือ ในเมื่อไม่รู้ข้อเท็จจริง (หุ้นตัวไหนน่าซื้อ, ราคาเป้าหมายควรเป็นเท่าไหร่) เราก็หาทางลัดด้วยการลอกเอาเสียเลย สาเหตุที่เกิดอคติข้อนี้มาจากสมองคนเรามักจะเลือกเส้นทางที่ประหยัดพลังงานที่สุดเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย เราชอบนั่งรถมากกว่าชอบเดินด้วยเท้า และชอบกินเบคอน มากกว่าเนื้อหมูสด ๆ ไม่ว่าจะภายนอกหรือ ภายในร่างกาย สมองมักเลือกเส้นทางที่ประหยัดพลังงานที่สุดเสมอ เมื่อเปลี่ยนเรื่องนี้ไปใช้กับการลงทุน เราจึงมักจะหาเส้นทางที่ง่ายกว่าเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย ตัวอย่างของอคติประเภทนี้คือ Authority Bias, Anchoring Bias, Herding วิธีแก้คือ ขยันศึกษาหาความรู้และมี Growth mindset
- อคติจากอารมณ์ หรืออัตตา (Emotional Bias)
อคติประเภทนี้เกิดจากนักลงทุนมักจะเอาอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปจับกับหุ้น เช่น เผลอไปรักหุ้น มั่นใจในตัวเองเกินไป หรือเมื่อรู้ว่าผิดทางก็ยังหลอกตัวเองไม่ยอม cut loss อคติประเภทนี้ไม่ได้เกิดเพราะนักลงทุนไม่ฉลาด เช่น เซอร์ ไอแซค นิวตัน ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดคนหนึ่ง ก็เคยล้มเหลวในการลงทุนในบริษัท South sea นิวตันกล่าวว่าเขาสามารถเขาสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวได้ แต่ไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของมนุษย์ได้ อีกตัวอย่างเช่น Stanley Druckenmiller คนนี้เป็นนักลงทุนที่เก่งมาก เคยเป็นระดับมือขวาคนนึงของ จอร์ช โซรอส แล้วเคยทำนายว่าตลาดเป็นฟองสบู่ช่วง dotcom คือทำนายไว้ว่าฟองสบู่จะแตกแน่ ๆ แต่สุดท้ายทนเห็นลูกน้องกำไรไม่ไหว เลยกระโจนเข้าไปลงทุนด้วย แล้วก็เจ๊งตอนฟองสบู่แตกพอดี ตรงประเด็นเหล่านี้จะเห็นว่าความผิดพลาดทั้งหลายไม่ได้มาจากความไม่ฉลาดในด้านวิชาการ แต่เป็นความไม่ฉลาดทางด้านอารมณ์มากกว่า ซึ่งสาเหตุของความผิดพลาดจึงเกิดจากอัตตา หรืออารมณ์ที่ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด
มาถึงตรงนี้เราจะเห็นประเด็นที่จั่วหัวไว้ตอนแรก คือ Passion ซึ่งเป็นอารมณ์ ก็เป็นส่วนที่ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ สิ่งที่จะบอกได้คือ Passion นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสร้างผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มศิลปิน อย่างจอบส์ หรือนักร้องอย่าง Taylor swift แต่สำหรับการลงทุนแล้ว Passion สำคัญเฉพาะในช่วงที่เราศึกษาหาความรู้เท่านั้น แต่ใน Process ของการวิเคราะห์แล้ว Passion ซึ่งเป็นอารมณ์ รัก โลภ ของเรานี้เองอาจจะทำให้เราคาดการณ์อนาคตผิดพลาดได้ ตรงนี้ที่จะมาช่วยแก้ในเรื่องของอารมณ์หรืออัตตาได้คือการปฏิบัติสมาธิ
เซียนหุ้นไทยอย่างพี่ชาย มโนภาสหรือคุณประชา ดำรงสุทธิพงศ์ ต่างก็ยืนยันว่าการปฏิบัติสมาธิเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักลงทุนและแม้แต่ Ray Dalio ซึ่งเป็น Hedge fund ระดับโลกก็มักจะให้สัมภาษณ์ว่าการปฏิบัติสมาธิมีส่วนอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของเขา
บทความโดย นายมานะ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :