UBER เมื่อรายได้กว่าครึ่งมาจากธุรกิจ food delivery
ในวิกฤต COVID-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบง่าย ๆ หนึ่งในธุรกิจที่สามารถปรับตัวและยังเติบโตได้ดีก็หนีไม่พ้นธุรกิจเกี่ยวกับการจัดส่งอาหาร (food delivery)
อย่างในประเทศไทยเอง ผู้ให้บริการ food delivery เจ้าดัง ๆ ก็อย่างเช่น GRAB, Lineman, Food Panda, Robinhood ฯลฯ ส่วนในต่างประเทศก็จะมีบางบริษัทที่ใหญ่ถึงขนาดจนสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นได้ หนึ่งในนั้นก็คือ UBER
เราอาจคุ้นเคยกับ UBER ในภาพของบริการเรียกรถแท็กซี่ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามผลักดันธุรกิจ food delivery อย่างต่อเนื่อง ต่อให้จะไม่มีวิกฤต COVID-19 ก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจนี้คือเทรนด์แห่งอนาคต
จนในไตรมาสล่าสุด รายได้จาก food delivery ของ UBER นั้นคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของรายได้รวมเลยทีเดียว
UBER ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 โดย Garrett Camp และ
Travis Kalanick ทีตั้งใจว่าจะให้บริการระบบการเรียกรถสาธารณะ เพราะทั้งสองคนเจอปัญหาในการเรียกรถแท็กซี่ที่บางครั้งก็ไม่ได้มีคุณภาพเท่าไหร่นัก ทั้งเรื่องคุณภาพของรถ และคุณภาพการบริการของผู้ขับ
แนวคิดนี้อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่ใหม่นักในปัจจุบัน แต่เมื่อสิบปีก่อนมันถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ล้ำหน้าไม่น้อย จนทำให้ UBER เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและได้เงินทุนสนับสนุนมากมายจากนักลงทุนที่ชื่นชอบธุรกิจสตาร์ทอัพ จนกระทั่งปี 2019 UBER ก็สามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในที่สุด
แต่เส้นทางธุรกิจของ UBER ก็ไม่ได้ง่ายดายนัก เพราะธุรกิจที่ UBER ทำนั้นเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายของหลาย ๆ ประเทศ อีกทั้งหลายปีที่ผ่านมาบริษัทประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จนนับตั้งแต่วันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นก็ยังไม่ขยับไปไหนเท่าไหร่นัก
งบการเงิน UBER
ปี 2018
รายได้ 11,270 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 9,332 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 1,938 ล้านเหรียญ
ปี 2019
รายได้ 14,147 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 22,653 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ -8,506 ล้านเหรียญ
ปี 2020
รายได้ 11,139 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 17,907 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ -6,768 ล้านเหรียญ
แต่รู้หรือไม่ว่า ในไตรมาสล่าสุดนั้น UBER มีรายได้จากธุรกิจ food delivery คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด
อ้างอิงจากงบการเงินไตรมาสล่าสุด บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,903 ล้านเหรียญ โดยเป็นรายได้จาก food delivery ทั้งสิ้น 1,741 ล้านเหรียญ คิดเป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นถึง 230% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้สถานการณ์ COVID-19 ในสหรัฐ (รวมถึงประเทศอื่น ๆ) จะเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่เทรนด์ของธุรกิจ food delivery ก็ยังคงเติบโตอยู่ และ UBER เองก็มีฐานลูกค้ารวมถึงระบบแอปพลิเคชันที่ค่อนข้างจะพร้อมอยู่แล้ว บริษัทจึงขยายการเติบโตของธุรกิจ food delivery ได้ดีเสียจนมีรายได้มากกว่าธุรกิจเรียกรถแท็กซี่เสียอีก
อย่างไรก็ตาม หากดูในส่วนของตัวเลข EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ในรายงานไตรมาสล่าสุดจะพบว่าธุรกิจ food delivery นี้มีผลขาดทุนอยู่ 200 ล้านเหรียญ เท่ากับว่าถึงแม้บริษัทจะสามารถขยายการเติบโตของธุรกิจนี้ได้สูง แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจนี้ก็สูงด้วยเช่นกัน แต่ถือว่าขาดทุนน้อยลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ตัวเลข EBITDA อยู่ที่ -313 ล้านเหรียญ
ไม่แน่ว่าถึงจุดหนึ่ง UBER อาจมีธุรกิจหลักเป็น food delivery ก็ได้
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
งบการเงิน UBER : https://finance.yahoo.com/quote/UBER/financials?p=UBER
Quarterly Report : https://investor.uber.com/news-events/news/press-release-details/2021/Uber-Announces-Results-for-First-Quarter-2021/default.aspx
ทำความรู้จักกับ Uber: แพลตฟอร์ม ความท้าทาย และอนาคต : https://www.blognone.com/node/55707
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :